จิตพร้อม? รับภัยพิบัติ

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย ภูภู, 6 เมษายน 2012.

  1. pattranit uk

    pattranit uk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 เมษายน 2012
    โพสต์:
    174
    ค่าพลัง:
    +1,446
    เข้ามาทักทายพี่ต้อยและทุกท่านสบายกันดีไหมคะ(kiss)
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    ขําขันวันหยุดค่ะ;39;aa44
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
    โดย ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ

    คราวเมื่อทรงปลงพระชนม์มายุสังขาร

    พระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ ประทับภายใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรัสกับพระอานนท์ว่า

    "อานนท์ ! ผู้อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแคล่วคล่องแล้วอย่างเรานี้ ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึง ๑ กัปป์ คือ ๑๒๐ ปี ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้" พระโลกนาถตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉย มิได้ทูลอะไรเลย ความวิตกกังวลและความเศร้าของท่านมีมากเกินไป จนปิดบังดวงปัญญาเสียหมดสิ้น ความจงรักภักดีอย่างเหลือล้นที่ท่านมีต่อพระศาสดานั้น บางทีก็ทำให้ท่านลืมเฉลียวถึงความประสงค์ของผู้ที่ท่านจงรักภักดีนั้น ปล่อยโอกาสทองให้ล่วงไปอย่างน่าเสียดาย

    เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "อานนท์ ! เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง

    ณ บัดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงรำพึงถึงอดีตกาลนานไกล ซึ่งล่วงมาแล้วถึง ๔๕ ปี สมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ท้อพระทัยในการที่จะประกาศสัจธรรมเพราะเกรงว่าจะทรงเหนื่อยเปล่า แต่อาศัยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงพระทัยย่ำธรรมเภรี และครานั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง ยังไม่สามารถย่ำยีปรุปวาท คือคำกล่าวจ้วงจาบล่วงเกินจากพาหิรลัทธิที่จะพึงมีต่อพระพุทธธรรม คำสอนของพระองค์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอตราบใด พระองค์ก็จะยังไม่นิพพานตราบนั้น

    ก็แลบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพรหมจรรย์ศาสโนวาทของพระองค์แล้ว เป็นกาลสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน

    ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงทรงปลงพระชนม์มายุสังขารคือตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จักปรินิพพานในวันวิสาขะปุรณมีคือวันเพ็ญเดือน ๖

    อันว่าบุคคลผู้มีกำลังกลิ้งศิลามหึมาแท่งทึบจากหน้าผา ลงสู่สระย่อมก่อความกระเพื่อมสั่นสะเทือนแก่น้ำในสระนั้นฉันใด การปลงพระชนม์มายุสังขารอธิษฐานพระทัยว่า จะปรินิพพานของพระอนาวณญาณก็ฉันนั้น ก่อความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนเหมือนหนังสัตว์ที่เขาขึงไว้แล้วตีด้วยไม้ท่อน ใหญ่ก็ปานกัน รุกขสาขาหวั่นไหวไกวแกว่งด้วยแรงวายุโบกสะบัดใบอยู่พอสมควร แล้วนิ่งสงบมืออาการประหนึ่งว่าเศร้าโศกสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เหมือนกุมารีนางน้อยคร่ำครวญปริเทวนาถึงมารดาผู้จะจากไปจนสลบแน่นิ่ง ณ เบื้องบนท้องฟ้าสีครามกลายเป็นแดงเข้มดุจเสื่อลำแพน ซึ่งไล้ด้วยเลือดสด ปักษาชาติร้องระงมสนั่นไพรเหมือนจะประกาศว่าพระผู้ทรงมหากรุณากำลังจะจากไป ในไม่ช้านี้

    พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระจอมมุนีทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! โลกธาตุนี้วิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมี ไม่เคยเป็นได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ ?"

    พระทศพลเจ้าตรัสว่า "อานนท์เอย ! อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และนิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น"

    พระอานนท์ทราบว่า บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและว้าเหว่ประดังขึ้นมาจนอัสสุชลธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีในพระเชฏฐภาดาท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้ว ทูลว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย" กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก เพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย

    "อานนท์เอย !" พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตร และพระพักตร์ "เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีก ๓ เดือนข้างหน้านี้ อานนท์ ! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่า ๑๖ ครั้งแล้วว่าคนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์คือ ๑๒๐ ปี ก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อนๆ นี้ ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไปเราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่ ๓ จะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เราไม่อาจกลับใจได้อีก" พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสต่อไปว่า

    "อานนท์ ! เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะยอดเหมือนนกแร้ง อันได้นามว่า "คิชฌกูฏ" ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามชื่อ สุกรขาตา ณ ถ้ำนี้เองสาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือสารีบุตรได้ถอนตัณหานุ สัยโดยสิ้นเชิง เพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลานชายของเธอผู้มีนามว่าฑีฆนขะ เพราะไว้เล็บยาว

    "เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้วฑีฆนขะปริพพาชกเที่ยวตามหาลุงของตน มาพบลุงของเขาคือสารีบุตรถวายงานพัดเราอยู่ จึงพูดเปรยๆ เป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า "พระโคดม ! ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด" ซึ่งรวมความว่า เขาไม่พอใจเราด้วยเพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่า 'ทุกสิ่งทุกอย่าง' เราได้ตอบเขาไปว่า "ถ้าอย่างนั้น เธอควรจะไม่พอใจความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย"

    "อานนท์ ! เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป จนจิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง

    "อานนท์เอย ! ณ ภูเขาคิชฌกูฏดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเราถ้าจะอยู่ต่อไปอีก ๑ กัปป์ หรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่

    "อานนท์ ! ต่อมาที่โคตมนิโครธที่เหวสำหรับทิ้งโจรที่ถ้ำสัตตบรรณใกล้เวภารบรรพตที่กาฬ ศิลาใกล้เขาอิสิคิลิ ซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลย จึงกล่าวขานกันว่าอิสิคิลิบรรพต ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณทิกาใกล้ป่าสีตวันที่ตโปทาราม ที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ ที่มัททกุจฉิมิคาทายวัน ทั้ง ๑๐ แห่งนี้อยู่ ณ เขตแขวงราชคฤห์

    "ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง แล้วจาริกสู่เวสาลีนครอันรุ่งเรืองยิ่ง เราก็ได้นัยแกเธออีกถึง ๖ แห่ง คือที่อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย คือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่ ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก

    "อานนท์เอย ! บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคต อานนท์ ! เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว บัดนี้เป็นกาลสมควรที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกถึง ๓ เดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่ว คอยแต่เวลาจะจมลงสู่ท้องธารเท่านั้น

    "อานนท์ ! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่าบุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจ เป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอย ! ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้น เป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ"

    แลแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณทุคาม และโภคนครตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไป เพื่อโลกุตตราริยกรรม กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุต และวิมุตญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหา ชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์มหาสิงขร และสัตว์ตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน

    "ศีลนี่เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐานย่อมเป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรืยนที่มีฝาผนัง มีประตู หน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลมแดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย เมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือโลกธรรม แผดเผากระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสวะ ต่างๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาตราอันคมกริบ แล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน

    "ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นดุจประทีปแห่งดวงใจ

    "อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติแต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญาย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง"

    "ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ย่อมพบกับปีติปราโมชอันใหญ่หลวง รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ เอิบอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั่นแล เป็นผู้รู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่างๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด ย่อมรู้ด้วยตนเองว่า บัดนี้แขนของตนขาดแล้ว"

    "โอวาทานุศาสนี ของพระผู้มีพระภาคส่วนใหญ่เป็นไปเยี่ยงนี้

    ข่าวการปลงพระชนมายุสังขาร ของพระศาสดาแผ่กระจายไปทั่วสังฆมณฑล ประดุจบุรุษผู้มีกำลังกระพือผ้าขาวคลุมบริเวณเนื้อที่อันน้อย บัดนี้สาวกของพระองค์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตรู้สึกว้าเหว่ หวิวหวั่นและเลื่อนลอย สาวกที่เป็นปุถุชนไม่อาจกลั้นอัสสุธาราไว้ได้ มีใบหน้าอาบด้วยน้ำตา ประชุมกันเป็นกลุ่มๆ รำพึงรำพันอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานเสียแล้ว พวกเราจะทำอย่างไรหนอ ส่วนสาวกผู้เป็นขีณาสพสิ้นอาสวะแล้วก็ได้แต่ปลงธรรมสังเวช คือความสลดใจตามแบบพระอริยะ

    ภิกษุรูปหนึ่งได้นามว่า ธัมมาราม คิดว่า อีก ๓ เดือนข้างหน้าพระตถาคตเจ้าจะปรินิพพาน เราบวชในสำนักของพระองค์ แต่ยังมีอาสวะกิเลสอยู่ กระไรหนอเราจะพึงเพียรพยายาม เพื่อบรรลุอรหัตตผลในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ คิดดังนี้แล้ว ท่านมิได้จับกลุ่มกับภิกษุอื่นๆ มิได้เศร้าโศก ปลีกตนออกไปอยู่แต่ผู้เดียว พยายามทำสมณะและวิปัสสนา

    ภิกษุทั้งหลายอื่นเห็นพฤติการณ์ดังนี้ เข้าใจว่าภิกษุธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระผู้มีพระภาคมิได้ จึงนำข้อความนั้นกราบทูลพระพุทธองค์

    "พระเจ้าข้า" ภิกษุทูล "ภิกษุชื่อธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระองค์มิได้เลย เมื่อทราบว่าพระองค์จะปรินิพพานก็หาได้แสดงอาการเศร้าโศกอย่างใดไม่ ปลีกตนไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่เกี่ยวข้องไต่ถามเรื่องราวของพระองค์เลย"

    พระศาสดารับสั่งให้พระธัมมารามเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า "ธัมมาราม !" ได้ยินว่าเธอทำอย่างที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวนี้หรือ ?"

    "พระพุทธเจ้าข้า" พระธัมมารามทูลรับ

    "ทำไมเธอจึงทำอย่างนั้น เธอไม่อาลัยใยดีในตถาคตหรือ ?" พระศาสดาตรัสถาม

    "หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์คิดว่า ข้าพระองค์บวชแล้วในสำนักของพระองค์ผู้สรรเสริญความเพียรพยายาม บัดนี้พระองค์จะนิพพานแล้ว ทำไฉนหนอ ข้าพระองค์จะพึงทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันสูงสุด เพื่อบูชาพระองค์ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว"

    พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานออก ๓ ครั้งว่า "ดีแล้ว ภิกษุ !" แล้วผินพระพักตร์มาตรัสกับภิกษุทั้งหลายอื่นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดมีความเสน่หาอาลัยในเรา พึงทำตนอย่างธัมมารามภิกษุนี้ การทำอย่างนี้ ชื่อว่าบูชาเคารพ นับถือเราด้วยอาการอันยอดยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ยินดีในธรรม ตรึกตรองธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่เสื่อมจากพระนิพพาน"

    แม้กระนั้นภิกษุทั้งหลายก็ไม่วายที่จะแวดล้อมพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง พระศาสดาทรงเห็นดังนี้ จึงเตือนภิกษุเหล่านั้นให้พยายามแสวงหาวิเวก เพื่อบรรลุคุณธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลส ด้วยพระพุทธพจน์ว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่ คือ อริยสัจ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะคือ การปราศจากความกำหนัดยินดี ประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์ ๒ เท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุ ประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์ ๘ นี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์หาใช่ทางอื่นไม่

    เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมีองค์ ๘ นี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามไม่ได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สูญสิ้นไป ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตนดังนั้น พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร"

    พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "มาเถิดอานนท์ ! เราจักไปกุสินารานครด้วยกัน" พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบพร้อมกัน แล้วดุ่มเดินจากสถานที่นั้นมุ่งสู่กุสินารานคร ในระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงแวะเข้าร่มพฤกษ์ใบหนาต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ทำเป็นสี่ชั้น

    "อานนท์ ! เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน อาพาธก็มีอาการรุนแรงขึ้น เร็วเข้าเถิด รีบปูสังฆาฏิลงเราจะนอนพักผ่อน และขอให้เธอไปนำน้ำมาดื่มพอแก้กระหาย"

    "พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นลำน้ำไปสักครู่นี่เอง น้ำยังขุ่นอยู่ไม่ควรที่พระองค์จะดื่ม ขอเสด็จไปดื่ม ณ แม่น้ำกกุธานทีเถิด มีน้ำใสจืดสนิท เย็นดี"

    "อย่าเลย อานนท์ !" พระตถาคตตรัสเป็นเชิงวิงวอน "อย่าเลยจนถึงแม่น้ำกกุธานทีเลย เรากระหายเหลือเกิน ร่างกายเร่าร้อน คอแห้งผาก เธอจงรีบไปนำน้ำมาเถิด"

    พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว ถือบาตรของพระตถาคตเจ้าไป ท่านมีอาการเศร้าซึมและวิตกกังวล เมื่อมาถึงริมแม่น้ำยังมองเห็นน้ำขุ่นอยู่ ท่านมีอาการเหมือนว่าจะเดินกลับ แต่ด้วยความเชื่อและห่วงใยในพระศาสดาจึงเดินลงไปอีก พอท่านทำท่าจะตักขึ้นมาเท่านั้น น้ำซึ่งมีสีขุ่นขาวเพราะรอยเกวียนและโค ก็ปรากฏเป็นน้ำใสสะอาด เหมือนกระจกเงาซึ่งหญิงสาวผู้รักสวยรักงามขัดไว้ดีแล้ว ท่านจึงตักน้ำนั้นมา แล้วรีบเดินกลับ น้อมบาตรน้ำเข้าไปถวายพระศาสดา

    พระพุทธองค์ทรงดื่มด้วยความกระหาย พระอานนท์มองดูด้วยความชื่นชมในพุทธบารมี แล้วทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า อัศจรรย์จริง! สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยปรากฏได้มีและปรากฏแล้ว เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมแท้" แล้วท่านก็เล่าเรื่องน้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดโดยฉับพลัน ให้พระผู้มีพระภาคสดับ พระจอมมุนีคงประทับสงบนิ่งด้วยอาการแห่งผู้เจนจบและเข้าใจในความเป็นไปทั้งปวง

    ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย เมื่อพระองค์ผ่านมาทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรนายช่างทอง นางจุนทะทูลอาราธนารับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต รุ่งขึ้นได้เวลาแล้ว อาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวย พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสูกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแก่พระองค์แต่ผู้เดียว มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย

    ดูเถิด ! พระมหากรุณาแห่งพระองค์มีถึงปานนี้ สำหรับพระองค์นั้นมิได้ห่วงใยในชีวิตแล้ว เพราะถึงอย่างไรๆ ก็จะต้องนิพพานในคืนวันนี้แน่นอน ทรงเป็นห่วงภิกษุสาวกว่าจะลำบาก ถ้าฉันอาหารที่ย่อยยากชนิดนั้น ประหนึ่งมารดาหรือบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมในบุตรของตน ทราบว่าอะไรจะทำให้บุตรธิดาลำบาก ย่อมพร้อมที่จะรับความลำบากอันนั้นเสียเอง

    สู กรมัทวะให้ผลในทันที อาการประชวรของพระองค์ทรุดหนักลงอย่างน่าวิตก มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังเสด็จด้วยพระบาทเปล่าจากปาวาสู่กุสินารานครดังกล่าวแล้ว

    พระองค์ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ หลายครั้งก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์แห่งหนึ่ง ขณะที่พระองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่า ปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสิการาเพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งามซึ่งมีสีเหลืองทองสิงคเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ผืนหนึ่งแก่พระองค์ผืนหนึ่ง

    พระอานนท์ให้เห็นว่าผ้านั้นไม่ควรแก่ตน จึงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงที่ปราศจากควันและเปลว พระฉวีของพระพุทธองค์เล่าก็ช่างผุดผ่อง งดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใด เปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ ! บัดนี้พระองค์มีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่า เวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก มีอาการแห่งผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุไฉนผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก ?"

    "อานนท์ ! พระศาสดาตรัสตอบ "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ คือคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงาม ประดุจรัศมีแห่งสุริยา เมื่อแรกรุ่งอรุณและจวนจะอัศดง ดูก่อนพระอานนท์ ! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนา มีดอกเป็นช่อชั้น" ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงสรงเสวยสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรปูลาดสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นแล้ว บรรทมด้วยสีหไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียรซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า

    (กรุณาอ่านต่อข้างล่างค่ะ)
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • Nippan1.jpg
      Nippan1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      92.4 KB
      เปิดดู:
      815
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 สิงหาคม 2015
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    (อ่านต่อค่ะ)
    ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! เมื่อเรานิพพานแล้วอาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้น จุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสาร เดือดร้อนใจไปเองว่า เพราะเสวยสูกรมัทวะ อันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน ดูก่อนอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรช่างทองแล้ว เราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอจึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ และถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้ อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (ผู้ติดตาม) และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร

    ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นอันมาก จากทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

    "อานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"

    พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด ?"

    "อานนท์ ! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือสถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกคือ อิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสสิ้นไปคือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้คือ ป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอย ! สถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยบาทแห่งเรา"

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร ?"

    "อานนท์ ! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"

    "ถ้าจำเป็นต้องดูแล้วเห็นเล่า พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก

    "ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ

    "ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"

    "ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย ก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์ และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"

    "แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่ ?"

    "ไม่เป็นซิ อานนท์ ? เธอระลึกได้อยู่หรือเราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"

    พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองทบทวนพระพุทธวจนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้

    จริงทีเดียว การไม่ยอมดูไม่ยอมแลสตรีเสียเลยนั้นเป็นการดีมาก แต่ใครเล่าจะทำได้อย่างนั้น ผู้ใดมีใจไม่หวั่นไหวด้วยเบ่งบานของดอกไม้งาม ดนตรีและอาการเยื้องกรายแห่งสตรีสาว ผู้นั้นถ้ามิใช่นักพรตก็เป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ดูเหมือนผู้เป็นนักพรตทั้งกายและใจนั้นมีน้อยเหลือเกิน เมื่อมีเรื่องที่จำเป็นต้องดูต้องแล เรื่องติดต่อเกี่ยวข้องก็เกิดขึ้น การติดต่อเกี่ยวข้องและคลุกคลีด้วยสตรีเพศนั้น ใครเล่าจะหักห้ามใจมิให้หวั่นไหวไปตามความอ่อนช้อย นิ่มนวลและอ่อนหวานของเธอ มีคำกล่าวไว้มิใช่หรือว่า "ความงามนั้นเป็นอำนาจที่คุกคามจิตใจของปุถุชนให้แพ้ราบ และการยิ้มนั้นคือคมดาบของเธอ เมื่อใดพบความงาม ถ้าความงามนั้นยังไม่ยิ้มก็ยังมีทางจะรอดพ้นไปได้ แต่เมื่อความงามนั้นยิ้มออกมา ย่อมหมายถึงเธอส่งคมดาบออกมาแล้ว" และยังมีคำกล่าวอีกว่า "เมื่อสตรีงามยิ้ม ย่อมหมายถึงถุงเงินของผู้ชายร้องไห้" ทำไมนะสัตว์โลกจึงหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส เสียจริงๆ สตรีที่พราวเสน่ห์แต่ไร้มโนธรรม จิตใจสกปรกจึงเป็นเพชฌฆาต มือนุ่มซึ่งมียิ้มและกิริยาที่ยียวนเป็นคมดาบ มีน้ำตาเป็นหลุมพรางสำหรับให้ชายตกลงไปในหลุมน้ำตานั้น

    บางทีเธอจะมีความสุขร่าเริงเหมือนนกน้อย ในขณะที่หัวใจของชายที่เธอเคยปอง ร้าวสลายลงด้วยความผิดหวัง บางทีเธอจะทำเป็นโกรธชายที่เธอแสนจะหลงรักเพียงเพื่อพรางสายตาของคนอื่น บางทีเธอจะยิ้มอย่างอ่อนหวานในขณะที่ในความรู้สึกของเธอแสนจะเคียดแค้นและ ชิงชังเขา และบางทีเธอจะร้องไห้น้ำตาอาบแก้มในขณะที่ใจของเธออิ่มเอิบไปด้วยปีติปราโมช อา ! จะเอาอะไรเล่ามาวัดความลึกแห่งหัวใจของสตรี พระศาสดาตรัสไว้มิใช่หรือว่า อาการของสตรีนั้นรู้ยากเข้าใจยาก เหมือนการไปของปลาในน้ำ

    ปราชญ์ผู้ทรงวิทยาคุณกว้างขวางลึกซึ้งสามารถหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร เหมือนมองเศษกระดาษบนฝ่ามือ แต่ปราชญ์เช่นนั้น จะกล้าอวดอ้างได้ละหรือว่าตนสามารถหยั่งรู้ความรู้สึกล้ำในหัวของสตรี

    อย่ามัวกล่าวอะไรให้มากเลย ธรรมชาติของเธอเป็นอย่างนั้นเอง มหาสมุทรเต็มไปด้วยภัยอันตราย แต่มหาสมุทรก็มีคุณแก่โลกอยู่มิใช่น้อย การค้นหาความจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องต่างหากเล่า เป็นทางดำเนินของผู้มีปัญญา
    ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพระอานนท์ก็ทูลว่า

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จะปฏิบัติเกี่ยวพระพุทธสรีระอย่างไร"

    "อย่าเลยอานนท์" พระศาสดาทรงห้าม "เธออย่างกังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมาก ที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"

    "พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกอย่างไร"

    "อานนท์ ! ชนทั้งหลายเมื่อจะปฏิบัติต่อพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"

    "ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"

    "อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่ หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธารด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทาง ๔ แพร่งในสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"

    แลแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐธาตุไว้ในพระสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมหาชนไว้ ๔ จำพวก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ

    ตรัสแล้วบรรทมนิ่งอยู่ พระอานนท์ถอยออกจากที่เฝ้า เพราะความเศร้าสลดสุดที่จะอดกลั้นได้ ท่านไปยืนอยู่ที่ประตูวิหารมือจับลิ่มสลักนิ่งอยู่ น้ำตาไหลพรากจนอาบแก้ม แล้วเสียงสะอื้นเบาๆ ก็ตามมา บัดนี้ท่านมีอายุอยู่ในวัยชรานับได้ ๘๐ แล้ว เท่ากับพระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทมานานถึง ๔๔ พรรษา ได้ยินได้ฟังพระธรรมและอบรมจิตใจอยู่เสมอ ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้นเป็นโสดาบันบุคคล ผู้มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ถ้าไม่มีเรื่องกระเทือนใจอย่างแรงคงจะไม่เศร้าโศกปริเทวนาการถึงขนาดนี้

    ท่านสะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งองค์ บางคราวจะมองเห็นผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายสั่นน้อยๆ ตามแรงสั่นแห่งรูปกาย แน่นอนท่านรู้สึกสะเทือนใจและว้าเหว่อย่างยิ่ง เป็นเวลานานเหลือเกินที่ท่านและพระศาสดาได้ทำประโยชน์และเอื้อเฟื้อต่อกัน การจากไปของพระผู้มีพระภาคจึงเป็นเสมือนกระชากดวงใจของท่านให้หลุดลอย

    "โอ ! พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลกและของข้าพระองค์" เสียงครวญเคล้าออกมากับเสียงสะอื้น "ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพมาด่วนจากข้าพระองค์ ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ เหมือนพี่เลี้ยงสอนให้เด็กเดิน เมื่อเด็กน้อยพอจะหัดก้าวเท่านั้นพี่เลี้ยงก็มีอันพลัดพรากจากไป ข้าพระองค์เหมือนเด็กน้อยผู้นั้น" พระอานนท์คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

    เมื่อพระอานนท์หายไปนานผิดปกติ พระศาสดาจึงตรัสถามว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์หายไปไหน ?"

    "ไปยืนร้องไห้อยู่ ที่ประตูพระวิหารพระเจ้าข้า" ภิกษุทั้งหลายทูล

    "ไปตามอานนท์มานี่เถิด" พระศาสดาตรัส

    พระอานนท์เข้าสู่ที่เฝ้าด้วยใบหน้าที่ยังชุ่มด้วยน้ำตา พระศาสดาตรัสปลอบใจว่า "อานนท์ ! อย่าคร่ำครวญนักเลย เราเคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา ในโลกนี้และในโลกไหนๆ ก็ตามไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรเลย สิ่งที่มีการเกิดย่อมมีการดับในที่สุด ไม่มีอะไรยับยั้งต้านทาน"

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นประดุจดวงตะวัน" พระอานนท์ทูลด้วยเสียงสะอื้นน้อยๆ "ข้าพระองค์มารำพึงว่า ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ข้าพระองค์เที่ยวติดตามประดุจฉายา ต่อไปนี้ข้าพระองค์จะพึงติดตามผู้ใดเล่า จะพึงตั้งน้ำใช้น้ำเสวยเพื่อผู้ใด จะพึงปัดกวาดเสนาสนะที่หลับที่นอนเพื่อผู้ใด อนึ่ง เวลานี้ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ พระองค์มาด่วนปรินิพพาน ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น ข้าพระองค์คงอยู่อย่างว้าเหว่และเดียวดาย เมื่อคำนึงอย่างนี้แล้วก็สุดจะหักห้ามความโศกกำสรดได้"

    "อานนท์ ! เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วมาก เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วมาก อย่าเสียใจเลย กิจอันใดที่ควรทำแก่ตถาคต เธอได้ทำกิจนั้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาอย่างยอดเยี่ยม จงประกอบความเพียรเถิด เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอจะต้องสำเร็จอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า" ตรัสดังนี้แล้ว จึงเรียกภิกษุทั้งหลายเข้ามาสู่ที่ใกล้ แล้วตรัส ทรงสรรเสริญพระอานนท์โดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์เป็นบัณฑิต เป็นผู้รอบรู้และอุปฐากเราอย่างยอดเยี่ยม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีตและอนาคตซึ่งมีภิกษุผู้อุปฐากนั้นๆ ก็ไม่ดีเกินไปกว่าอานนท์ อานนท์เป็นผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญารู้กาลที่ควรไม่ควร รู้กาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มาเฝ้าเรา ว่ากาลนี้สำหรับกษัตริย์ กาลนี้สำหรับราชามหาอำมาตย์ กาลนี้สำหรับคนทั่วไป ควรได้รับการยกย่องนานาประการมีคุณธรรมน่าอัศจรรย์ ผู้ที่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยสนทนาก็อยากเห็นอยากสนทนาด้วย อยากฟังธรรมของอานนท์ เมื่อฟังก็มีจิตใจเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่อานนท์แสดงไม่อิ่มไม่เบื่อ ด้วยธรรมวารีรส...ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์ เป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง

    พระอานนท์ผู้มีความห่วงใยในพระศาสดาไม่มีที่สิ้นสุด กราบทูลด้วยน้ำเสียที่ยังเศร้าอยู่ว่า

    "พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์เป็นดุจพระเจ้าจักรพรรดิในทางธรรม ทรงสถาปนาอาณาจักรแห่งธรรมขึ้น ทรงเป็นธรรมราชา สูงยิ่งกว่าราชาใดๆ ในพื้นพิภพนี้ ข้าพระองค์เห็นว่าไม่สมควรแก่พระองค์เลยที่จะปรินิพพานในเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ขอพระองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี จำปา สาเกต โกสัมพี พาราณสี เป็นต้น เถิด พระเจ้าข้า ในมหานครเหล่านั้น กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คหบดี และทวยนครทุกชั้นที่เลื่อมใสพระองค์ก็มีอยู่มาก จักได้ทำมหาสักการะแด่สรีระแห่งพระองค์เป็นมโหฬาร ควรแก่ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอุดมบุรุษรัตน์ในโลก"

    "อานนท์ ! เธออย่ากลัวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย ! ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน
    "อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองเล็ก แต่ในโบราณกาลกุสินารา เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ นามว่ามหาสุทัสสนะ นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์ มั่งคั่ง มีคนมาก มีมนุษย์นิกรเกลื่อนกล่น พรั่งพร้อมด้วยธัญญาหารมีรมณียสถานที่บันเทิงจิต ประดุจดังราชธานีแห่งทิพยนคร กุสาวดีราชธานีนั้น กึกก้องนฤนาททั้งกลางวันและกลางคืนด้วยเสียง ๑๐ ประการ คือเสียงคชสาร เสียภาชี เสียเภรและรภ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงสังข์ รวมทั้งสำเนียงประชาชนเรียกกันบริโภคอาหารด้วยความสำราญเบิกบานจิต

    "พระเจ้ามหาสุทัสสนะองค์จักรพรรดิเล่า ก็ทรงเป็นอิสราธิบดีในปฐพีมณฑล ทรงชำระปัจฉามิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และศัสตรา ชนบทสงบราบคาบปราศจากโจรผู้ร้าย มารดายังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอกด้วยความเพลิดเพลิน ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ร่มเย็นสมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชอย่างแท้ จริง

    "อีกอย่างหนึ่ง อานนท์เอย ! เมื่อมองมาทางธรรมเพื่อให้เกิดสังเวชสลดจิต ก็พอคิดได้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มุ่งไปสู่จุดสลายตัว อานนท์จงดูเถิดพระเจ้าจักรพรรดิมหาสุททัสสนะก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เมืองกุสาวดีก็เปลี่ยนมาเป็นกุสินาราแล้ว ประชาชนชาวกุสาวดีก็ตายกันไปหมดแล้ว นี่แลไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน ตถาคตเองก็จะนิพพานในไม่ช้านี้"

    (กรุณาอ่านต่อข้างล่างค่ะ)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 สิงหาคม 2015
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    (อ่านต่อค่ะ)
    แล้วพระศาสดาก็รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ว่า พระตถาคตเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรี เมื่อมัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราสดับข่าวนี้ ต่างก็ทรงกำสรดโศกาดูรทุกข์โทมนัสทับทวี สยายพระเกศา ยกพระพาหาทั้งสองขึ้นแล้วคร่ำครวญล้มกลิ้งลิ้งเกลือกประหนึ่งบุคคลที่เท้า ขาด ร่ำไรรำพันถึงพระโลกนาถว่า "พระโลกนาถด่วนปรินิพพานนัก ดวงตาของโลกดับลงแล้ว ประดุจสุริยาซึ่งให้แสงสว่างดับวูบลง"

    ด้วยอาการโศกาดูรดังนี้ มัลลกษัตริย์ตามพระอานนท์ไปเฝ้าพระศาสดา ณ สาลวโนทยาน พระอานนท์จัดให้เข้าเฝ้าเป็นตระกูลๆ ไป แล้วกลับสู่สัณฐาคาร คืนนั้น มัลลกษัตริย์ประชุมกันอยู่จนสว่างมิได้บรรทมเลย


    ย่าง เข้ายามที่สองแห่งราตรี ลมเย็นพัดผ่านมาเป็นครั้งคราว รอบๆ อุทยานสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยอัสสุชลธาราแห่งมหาชนผู้เศร้าสลดสุดประมาณ เขาหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความรักและรันทดใจ พระจันทร์วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะโผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออกแล้ว โตเต็มดวงสาดแสงสีนวลใยลงสู่อุทยานสาลวันพรมไปทั่วบริเวณมณฑล ต้องใบสาละ ซึ่งไหวน้อยๆ ดูงามตา แต่บรรยากาศในยามนี้สลดเกินไปที่ใครๆ จะสนใจกับความงามแห่งแสงโสมที่สาดส่องเหมือนจงใจจะบูชาพระสรีระแห่งจอมศาสดา นั้น

    เงียบสงบ วังเวง จะได้ยินอยู่บ้างก็คือ เสียงสะอึกสะอื้น และทอดถอนใจของคนบางคนที่เพิ่งมาถึง

    ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าวนี้ นักบวชเพศปริพพาชกหนุ่มคนหนึ่ง ขออนุญาตผ่านฝูงชนเข้ามา เพื่อเข้ามาใกล้เขาบอกว่าขอเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้สดับเสียงนั้นจึงออกมารับ และขอร้องวิงวอนว่าอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

    "ข้าแต่ท่านอานนท์ !" ปริพพาชกผู้นั้นกล่าว "ข้าพเจ้าขออนุญาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ ขอท่านได้โปรดอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าสุภัททะปริพพาชก"

    "อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนัก จะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน"

    "ท่านอานนท์ !" สุภัททะเว้าวอนต่อไป "โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเฝ้าพระศาสดาเถิด"

    พระอานนท์คงทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ย่อมย่อท้อ จนกระทั่งได้ยินถึงพระศาสดา

    เรื่องก็เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา พระศาสดามีพระมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด รับสั่งกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด"

    เพียงเท่านี้สุภัททะปริพพาชก ก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์ เข้ากราบลงใกล้เตียงบรรทมแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี ! ข้าพระองค์นามว่า สุภัททะ ถือเพศเป็นปริพพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอวาทซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามว่าข้อข้องใจบางประการ เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

    "ถามเถิดสุภัททะ" พระศาสดาตรัส

    "พระองค์ผู้เจริญ ! คณาจารย์ทั้ง ๖ คือปูรณะ กัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะ กัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด"

    "เรื่องนี้หรือ สุภัททะ ที่เธอดิ้นรนขวนขวายพยายามมาหาเราด้วยความพยายามที่อย่างยิ่งยวด" พระศาสดาตรัส ยังหลับพระเนตรอยู่

    "เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า" สุภัททะทูลรับ

    พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า

    "อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเรา และของเธอยังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด"

    "ข้าแต่ท่านสมณะ ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ๓ ข้อ คือรอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่มี สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่ ?"

    "สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เทียงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ ?"

    "มีเท่านี้พระเจ้าข้า" สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่

    พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า "สุ ภัททะ ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูก่อนสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐสามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็ม ที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุหรือใครๆ ก็ตามพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกนี้จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

    สุภัททะ ฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติตถิยปริวาส คือบำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลา ๔ เดือนก่อน แล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ นี้เป็นประเพณีที่พระองค์ทรงตั้งไว้เป็นเวลานานมาแล้ว สุภัททะทูลว่า เขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสัก ๔ ปี

    พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะดังนั้น จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว นำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดา พระผู้ทรงมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

    สุภัททะภิกษุใหม่ ตั้งใจอย่างแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้ ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพาน จึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาลวันนั้น

    จงกรมนั้นคือเดินกลับไปกลับมา พร้อมด้วยพิจารณาข้อธรรมนำมาทำลายกิเลสให้หลุดร่วง บัดนี้ร่างกายของสุภัททะภิกษุห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนี้ดูผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตกแล้ว สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรี เพื่อจะบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานในปลายปัจฉิมยาม ดังนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ

    แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนัก เมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโสมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม
    ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบด้วยดวงจันทร์

    "อา !" ท่านอุทานเบาๆ "จิตนี้เป็นธรรมชาติ ที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง"

    แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปกรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศัสตรา คือวิปัสสนาปัญญา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสาสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนั่งอยู่

    เมื่อสาลวโนทยานขาวด้วยมหาวิโยค

    ภาย ใต้แสงจันทร์สีนวลยองใยนั้น พระผู้มีพระภาคบรรทมเหยียดพระกายในท่าไสยาสน์ แวดล้อมด้วยพุทธบริษัทมากหลาย แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปๆ ประดุจดวงจันทร์ที่ถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆก็ปานกัน

    พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่า บัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง อานนท์เอย ! พึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ธรรม วินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่ง อย่าได้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย"

    "อานนท์ ! อีกเรื่องหนึ่งที่เราจะสั่งเธอไว้ คือบัดนี้ภิกษุทั้งหลายเรียกกันว่า "อาวุโสๆ" ทั้งผู้แก่และผู้อ่อน ต่อไปนี้ขอให้ภิกษุผู้แก่พรรษากว่าพึงเรียกผู้อ่อนกว่าว่า "อาวุโส" (คุณ) ส่วนภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าพึงเรียกผู้แก่กว่าว่า "ภันเต" หรือ อายัสมา (ท่าน) ผ่อนผันตามควรแก่คารวโวหาร

    "อานนท์ ! อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องฉันนะ เธอเป็นพระที่ดื้อดึงมีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังใคร ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใคร เพราะถือดีว่าเคยเป็นข้าเก่าของเรา เคยใกล้ชิดเรามาก่อนใครๆ หมด เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอปรารถนาจะทำ จะพูดสิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไรก็ให้เธอทำ พูด และอยู่ ตามอัธยาศัย สงฆ์ไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนอะไรเธอ นี่เป็นวิธีลงพรหมทัณฑ์ คือการลงทัณฑ์ที่หนักที่สุดแบบอริยะ

    "อานนท์ ! อีกอย่างหนึ่ง คือสิกขาบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลายจะได้อยู่ด้วยกัน อย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลกับสมัยเสียบ้างก็ได้ กาลเวลาล่วงไปสมัยเปลี่ยนไป จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติสิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ เมื่อพระอานนท์มิได้ถูกถามอะไร พระธรรมราชาจึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ใดมีความสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือปฏิปทาใดๆ ก็จงถามเสียบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้ว มิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน"

    ภิกษุทุกรูปเงียบกริบ บริเวณปรินิพพานมณฑลสงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ทุกคนปรารถนาจะฟังแต่พระพุทธดำรัส เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเป็นครั้งสุดท้าย

    บัดนี้ พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในดินที่แตกระแหงย่อมพลันเหือดแห้งหายไป มิได้ปรากฏแก่สายตา ถึงกระนั้น พระบรมโลกนาถก็ยังประทานปัจฉิมโอวาทเป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวง มีความเสื่อมและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

    ย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระจันทร์โคจรไปทางขอบฟ้าทิศตะวันตกแล้ว แสงโสมสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมา ท้องฟ้าเกลี้ยงเกลาปราศจากเมฆหมอก รัศมีแจ่มจรัสดูเหมือนจะจงใจส่องแสงเปล่งปลั่งเป็นพิเศษครั้งสุดท้ายแล้ว สลัวลงเล็กน้อย เหมือนจงใจอาลัยในพระศาสดาผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์

    พระผู้มีพระภาคมีพระกายสงบ หลับพระเนตรสนิท พระอนุรุทธเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น และได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าสู่อรูปสมาบัติ คืออากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ตามลำดับแล้วถอยกลับมาจาก สัญญาเวทยิตนิโรธ จนถึงปฐมฌาน และเข้าปฐมฌานไปจนถึงจตุตถฌานอีก เมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้ทันได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็ปรินิพพานในระหว่างนั้น

    ในที่สุดแม้พระพุทธองค์เองก็ต้องประสบอวสาน เหมือนคนทั้งหลาย พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนม์ชีพว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็น ที่สุดนี้ เป็นสัจธรรม ที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง

    ตลอดเวลา ๔๕พรรษา ที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น ทรงลำบากตรากตรำอย่างยิ่งยวด ทรงเสวยเพียงวันละมื้อเพียงเพื่อให้มีพระชนม์อยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก พระอัครสาวกทั้งสองได้ปรินิพพานไปก่อนแล้ว นิครนถ์ นาฏบุตร หรือ ศาสดามหาวีระ คู่แข่งผู้ยิ่งใหญ่ในการประกาศศาสนาก็ได้สิ้นชีพไปแล้ว อุบาสกผู้สละอย่างยิ่ง เช่น อนาถปิณฑกคฤหบดี ก็ละทิ้งสังขารของตนจากไปก่อนแล้ว ทั้งผู้ที่เป็นมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูกับพระพุทธองค์ ต่างก็ทยอยกันเข้าไปสู่ปากแห่งมรณะกันตามลำดับๆ แม้พระองค์จะต้องนิพพานไปแล้ว แต่ศาสนายังอยู่ พระธรรมคำสอนของพระองค์ยังคงอยู่เป็นประทีปส่องโลกต่อไป จำนวนผู้เคารพเลื่อมใสในศาสนธรรมของพระองค์ได้เพิ่มพูนเอ่อสูงเหมือนน้ำที่ บ่าสูงขึ้นโดยไม่มีเวลาลด รากแก้วแห่งพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงแล้วอย่างแท้จริงในจิตใจของมนุษยชาติ

    นึกย้อนหลังไป เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนปรินิพพาน พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไปแล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้น พร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน ต้องเสด็จจากโพธิมณฑลไปพาราณสีด้วยพระบาทเปล่าถึง ๑๐ วัน เพียงเพื่อหาเพื่อนผู้จะรับคำแนะนำของพระองค์สัก ๕ คน แต่มาบัดนี้ พระองค์มีภิกษุสาวกเป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ เพราะคนทั้งหลายรู้สึกว่า การได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นความสุขอย่างยิ่งของเขา

    เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่งที่นายโสตถิยะนำมาถวาย และทรงทำเป็นที่รองประทับ มาบัดนี้ มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงาม ซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์ เช่น เชตวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวัน ปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจองเพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา แน่นอนทีเดียว หากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ คงจะไม่ได้รับความนิยมเลื่อมใสถึงขนาดนี้และไม่ยืนนานถึงปานนี้

    เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ภายใต้โพธิพฤกษ์อันร่มเย็นริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งกิเลสนิพพาน กำจัดกิเลสและความมืดให้หมดไป และบัดนี้ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ และความเย็นเยือกแห่งปัจฉิมยาม พระองค์ก็ดับแล้วด้วยขันธ์นิพพาน

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระรูปอันวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระธรรมกายอันสำเร็จแล้วด้วยนานาคุณรัตนะ มีศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวงเป็นต้น ถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยฤทธิ์ ด้วยกำลัง และด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นยังต้องดับแล้วด้วยการตกลงแห่งฝน คือมรณะ เหมือนกองอัคคีใหญ่ต้องดับมอดลง เพราะฝนห่าใหญ่ตกลงมาฉะนั้น

    พระองค์เคยตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพาล หรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด" นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร !

    อันว่าความตายนี้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครสามารถต้านทานต่อสู้ด้วยวิธีใดๆ ได้เลย ก้าวเข้าไปสู่ปราสาทแห่งกษัตริยาธิราช และแม้ในวงชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสง่าผ่าเผย ปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ เช่นเดียวกับก้าวเข้าไปสู่กระท่อมน้อยของขอทาน พญามัจจุราชนี้เป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมยิ่งนัก ไม่เคยลำเอียงหรือกินสินบนของใครเลย ย่อมพิจารณาคดีตามบทตายอัยการ ไม่ฟังเสียงคัดค้านและขอร้องของใคร ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญอันระคนด้วยกลิ่นธูปควันเทียนนั้น ท่านได้ยื่นพระหัตถ์ออกกระชากให้ความหวังของทุกคนหลุดลอย และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระบัญชาของพระองค์ เมื่อมาถึงจุดนี้ ความยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นเพียงนิยายที่ไว้เล่าสู่กันฟังเท่านั้น

    มงกุฎประดับเพชรก็มีค่ากับหมวกฟาง พระคทาอันมีลวดลายวิจิตรก็เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า เมื่อความตายมาถึงเข้า พระราชาก็ต้องถอดมงกุฎเพชรลงวาง ทิ้งพระคทาไว้ แล้วเดินเคียงคู่ไปกับชาวนาหรือขอทาน ผู้ซึ่งได้ทิ้งจอบ เสียม หมวกฟาง และคันไถ หรือภาชนะขอทานไว้ให้ทายาทของตน

    ใครเล่าจะต่อกรกับพระยามัจจุราชผู้เป็นใหญ่ในสิ่งที่ต้องตาย แต่ถ้าไม่มีความตายแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็จะมัวเมาประมาท และมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานมากกว่านี้ พระยามัจจุราชก็มีบุญคุณกับมนุษย์มากอยู่ เพราะเพียงแต่นึกถึงท่านบ่อยๆ เท่านั้น ก็ทำให้ความโลภโกรธและหลงสงบลง และเพียงแต่เอาชื่อของท่านไปขู่เท่านั้น ทำให้บุคคลบางคนวางมือจากความชั่วทุจริตที่เคยทำมา แต่ก็พระยามัจจุราชนี่เองที่กระชากเอาชีวิตของคนดีมีประโยชน์บางคนไปอย่าง หน้าตาเฉย แม้ในโอกาสอันยังไม่ควร

    แม้ความงามอันเฉิดฉายของหญิงงามสะคราญตาร่านใจอันถูกยกย่องแล้วว่าเป็นหนึ่ง ในจักรวาล เป็นที่ต้องการปรารถนายิ่งนักของบุรุษทุกวัยในพื้นพิภพ เธอผู้งามพร้อมเช่นนี้ ในที่สุดก็ต้องเป็นเหยื่อของความตาย ผู้ไม่เคยยกเว้นและปรานีใครเลย เมื่อดาบแห่งมัจจุราชฟาดฟังลง ใช้บ่วงอันมีมหิทธานุภาพยิ่งนัก คล้องเอาดวงวิญญาณไปแล้ว ร่างอันงดงามเร้ากามคุณให้กำเริบนั้นก็พลันนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ มันไร้ค่ายิ่งกว่าท่อนไม้เสียอีก เพราะไม่อาจนำไปทำประโยชน์ใดๆ ได้เลย จะทำสัมภาระหรือเป็นเครื่องมือหุงข้างต้มแกงก็มิได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนเข้าชอนไช ให้ปรุพรุนเน่าเหม็นเป็นที่สะอิดสะเอียน แม้แก่บุคคลที่เคยรักเหมือนจะขาดใจ อะไรเล่าจะเป็นสาระในชีวิตมนุษย์นี้ นอกเสียจากความดีที่เคยบำเพ็ญและทิ้งไว้ให้โลกระลึกถึง และยกย่องบูชา

    ด้วยประการฉะนี้ เจ้าของแห่งเรือนร่างที่งดงามพริ้งเพรา ถ้ามัวแต่เมาในร่างอันไร้สาระของตน มิได้ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว คุณค่าของเขาจะสู้ก้อนอิฐปูนถนนได้อย่างไร

    พระผู้พระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดีและเกียรติคุณของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใดไม่ อาจจะกำหนดได้ ความดีนี่เองที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต

    ขณะเดียวกับที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ละทิ้งวิบากขันธ์อันทรมานเข้าสู่ศิวโมกข์ มหาปรินิพพานนั้น เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไปทั่วท้องธรณี และสากลจักรวาลโลกธาตุ มหาปฐพีดลซึ่งสามารถรองรับนานาสังขารลักษณะเช่นภูเขาสิเนรุราชเป็นต้น ก็ไม่อาจทนอยู่ได้ แสดงกัมปนาการหวั่นไหว อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบ ตีฟองคะนองครืนครั่นนฤนาทสนั่นทั่วทั้งสาคร หมู่มัจฉาปารกชาติมังกรผุดดำ กระทำศัพท์ให้นฤโฆษประดุจเสียงปริเทวนาการแซ่ซ้อง โศกาดูรกำสรด ท้องฟ้านภากาศก็มืดมัวสลัวลง พร้อมทั้งมีเสียงครืนครั่นสนั่นทั่วเวหาสน์ เหมือนแสดงอาการคร่ำครวญถึงองค์พระโลกนาถผู้จากไป

    มองลงมายังพื้นปฐพี ณ สาลวโนทยานมณฑล ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยศาสนิกชนพุทธบริษัท อร่ามไปด้วยกาสาวพัสตร์อำไพพรรณ และทวยนาครผู้มีความอาลัยในพระศาสดา พอเสียงก้องกังวานระคนเศร้าของพระอานนท์พุทธอนุชาประกาศออกมาว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วเท่านั้น เสียงร่ำไห้ก็ระงมขึ้นพร้อมกันประดุจเสียงจักจั่นและเรไร กรีดร้องยามย่ำสนธยา ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่ยังเป็นปุถุชนไม่อาจจะอดกลั้นอัสสุชลธาราไว้ได้ ร่ำร้องโหยไห้ประดุจบิดาแห่งตนได้สิ้นชีพลงพร้อมๆ กัน ณ บริเวณสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา เหมือนพระพิรุณโปรยลงมาเป็นครั้งคราว เสียงร่ำไห้ติดต่อเป็นเสียงเดียวกันทั่วกุสินารานคร

    ฝ่ายภิกษุผู้เป็นขีณาสพ สิ้นอาสวะแล้วก็ปลงธรรมสังเวชพร้อมด้วยปลอบผู้ที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญด้วย ธรรมกถา ให้เห็นความเป็นไปตามธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน ทนไม่ได้ต้องแตกไป ดับไป สลายไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วแต่ต้นปัจฉิมยามแห่งราตรี เวลายังเหลืออยู่อีกนาน กว่าจะรุ่งอรุณ พระอนุรุทธะ และพระอานนท์ ได้สับเปลี่ยนกันแสดงธรรมปลอบพุทธบริษัทให้คลายโศก ด้วยธรรมเทศนาอันปฏิสังยุตด้วยไตรลักษณาการ คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

    ข่าวการดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จากแคว้นสู่แคว้นจากราชธานีสู่ราชธานี จากนิคมสู่นิคม และจากชนบทสู่ชนบทตลอดทั่วชมพูทวีป ภารตวรรษทั้งหมดสั่นสะเทือนวิปโยค ประดุจบุรุษผู้มีกำลังดึงย่านเถาวัลย์อันเกี่ยวพันรุกขสาขา ยังความสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นทั่วมณฑลแห่งรุกขชาติก็ปานกัน ไอแห่งความเศร้าสลดแผ่กระเซ็นสาดกระจายไปทั่วขัณฑสีมาอาณาเขต ประหนึ่งละอองฝนกระจายไปทั่วพื้นเมทมี ชมพูทวีปทั้งหมดครึ้มไปด้วยเมฆคือความโศก และชุ่มโชกความละอองฝน คือปริเทวนาการ ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้

    กำหนดเก็บพระพุทธสรีระไว้เป็นเวลา ๖ ราตรี ในวันที่ ๗ ก็จะทำพิธีถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ในระหว่าง ๖ ทิวาตรีนั้น มหาชนจากทิศานุทิศเดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระ บริเวณอุทยานสาลวัน ปานประหนึ่งคลุมด้วยผ้าขาว ทั้งนี้เพราะชาวชมพูทวีปไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวล้วน พระพุทธอนุชาอานนท์ต้องรับภาระหนักเป็นพิเศษ แม้จะพยายามหักห้ามใจสักปานใด แต่ก็มีบางครั้งเมื่อท่านเห็นคนทั้งหลายเศร้าโศก ก็อดที่จะกำสรดตามมิได้ เพราะความอาลัยในพระศาสดามีอยู่ใจจิตใจของท่านสุดประมาณ

    เมื่อถึงวันที่ ๗ พระพุทธสรีระก็ถูกนำไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านบูรพากุสินารานครเตรียมถวายพระเพลิง พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป ซึ่งเป็นเถระผู้ใหญ่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องมากกำลังเดินทางจากเมือง ปาวา จวนจะถึงอยู่แล้ว คณะมัลลกษัตริย์และพระอานนท์จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสปมาถึง พิธีจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสปเป็นประธาน

    ผ้า ๔๙๘ ชั้นที่ห่อพระพุทธสรีระนั้นถูกไฟไหม้หมดเหลืออยู่เพียง ๒ ชั้นไฟไม่ไหม้ เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้อย่างสมบูรณ์ มิให้กระจัดกระจาย ผ้าสองชั้นในที่สุดที่ใช้ห่อพระพุทธสรีระนั้น เป็นผ้าพิเศษเรียกว่า "อัคคิโวทานทุสสะ" ตามตัวอักษรแปลว่าซักด้วยไฟ ผ้าชนิดนี้ทำด้วยใยหิน ไฟไม่ไหม้ เมื่อใช้ไปนานๆ ต้องการจะซักต้องโยนเข้ากองไฟ ผ้าจะสะอาดดังเดิม

    อีกครั้งหนึ่งที่เสียงปริเทวนาการ ดังระงมไปทั่วปริมณฑลแห่งมกุฏพันธนาเจดีย์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ อัสสุชลธาราหลั่งไหลชุ่มโชกทุกใบหน้า เขาเหล่านั้นเป็นประดุจฝูงวิหคนกกาที่เคยจับโพธิพฤกษ์หรือมหานิโครธ อันสมบูรณ์ด้วยลำต้นและกิ่งก้านสาขามีเงาครึ้ม สะพรั่งด้วยผลาผลอันเอมโอช เมื่อโพธิ์หรือไทรนั้นล้มลง ยังความเศร้าสลดแก่ฝูงวิหคสุดประมาณ ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อต้นไม้นั้นถูกเผาให้ไหม้มอด ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไป นกเหล่านั้นจะเศร้าโศกสักปานใดใครเล่าจะรู้ซึ้งไปกว่าผู้ประสบเอง

    "โอ ! พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ" นี่คือเสียงคร่ำครวญ "พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณากว้างใหญ่ดุจห้วงมหรรณพ มีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ ทรงมีพระทัยหนักแน่นดุจมหิดล รับได้ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ขวนขวายเพื่อความสงบร่มเย็นของปวงชน พระองค์เป็นผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกภายในคือดวงจิต ประดุจพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกภายนอกคือท้องฟ้าปฐพี บัดนี้พระองค์ปรินิพพานเสียแล้ว มองไม่เห็นแม้แต่เพียง พระสรีระซึ่งเคยรับใช้พระองค์โปรยปรายธรรมรัตน์ ประหนึ่งม้าแก้วแห่งพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพาหนะนำเจ้าของตรวจความสงบสุขแห่ง ประชากร

    "โอ ! พระมหามุนี ผู้เป็นจอมชน บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นประดุจนกในเวหา ไร้โพธิ์หรือไทรที่จะจับเกาะ ประดุจเด็กน้อยผู้ขาดมารดา เหมือนเรือที่ลอยคว้างอยู่ในมหาสมุทร อ้างว้างว้าเหว่สุดประมาณ จะหาใครเล่าผู้เสมอเหมือนพระองค์"

    แม้พระอานนท์ พุทธอนุชาเอง ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ เป็นเวลา ๒๕ ปี จำเดิมแต่รับหน้าที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนเงาตามองค์ บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจากไปเสียแล้ว ท่านรู้สึกว้าเหว่และเงียบเหงา ไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไปเวลา ๒๕ ปี นานพอที่จะก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อมีการพลัดพราก

    แต่แล้ว เรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า

    - สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

    - สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดมีเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไป

    - สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

    บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์ และกิเลสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น
    ฯ.
    (*)(*)(*)(*)(*)เอวัง(*)(*)(*)(*)(*)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 สิงหาคม 2015
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    คนโง่ที่น่ารักคนฉลาดที่น่าเป็นห่วง

    อ.สมภพ โชติปัญโญ

    https://www.youtube.com/watch?v=kZ0fzVClguQ


    Published on Aug 18, 2013
    ธรรมบรรยาย เรื่อง คนโง่ที่น่ารักคนฉลาดที่น่าเป็นห่วง
    โดย พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
    วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  7. pattranit uk

    pattranit uk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 เมษายน 2012
    โพสต์:
    174
    ค่าพลัง:
    +1,446
    ของขวัญจากลูก

    สัจจาภรณ์ ไวจรรยา poohkan(ผู้แต่ง กลอนวันแม่)

    มะลิหอมน้อมวางข้างข้างตัก
    กรุ่นกลิ่น "รัก" บริสุทธิ์ผุดผ่องใส
    แทนทุกคำทุกถ้อยร้อยจากใจ
    เป็นมาลัย "กราบแม่" พร้อมน้อมบูชา

    กี่พระคุณจากใครอื่นนับหมื่นแสน
    อาจทนแทนเปรยเปรียบเทียบคุณค่า
    แต่พระคุณ"หนึ่งหยดน้ำนมมารดา"ทั้งสามภพจบหล้า...หาเทียมทัน

    ลูกไม่อาจเอ่ยแสดงแถลงถ้อย
    หรือเรียงร้อยพจนามาเสกสรรค์
    เพื่อบรรยายพระคุณนี้ที่ "อนันต์"
    จึงตั้งมั่น "กตัญญุตา" ตลอดไป

    หนึ่งคำ "รัก" ลูกรักแม่ แม้ค่าน้อย
    ต่างเพชรพลอย ตีราคาค่ามิได้
    แต่แม่จ๋า... "รักที่หนึ่ง" ของหัวใจ
    มิใช่ใคร "ลูก รัก แม่" แน่นิรันดร์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • image.jpg
      image.jpg
      ขนาดไฟล์:
      103.7 KB
      เปิดดู:
      100
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    ถ้าจะเอาสมาธิชนิดที่ใช้เจริญปัญญาต้องคอยรู้ทันจิต เพราะฉะนั้นบทเรียนที่จะได้สมาธิที่รู้ทันจิต ได้สมาธิที่ถูกต้อง ต้องรู้ทันจิต พระพุทธเจ้าถึงได้เรียกว่า “จิตตสิกขา” ศีลสิกขา จิตตสิกขา ได้สมาธิที่ถูกต้อง ให้คอยรู้ทันจิตนะ พุทโธๆ หนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งความนิ่งๆว่างๆอยู่ รู้ทัน ถ้าใช้ลมหายใจก็หายใจไป รู้สึกตัวไป หายใจไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน ก็กลับมารู้สึกตัวอีก หายใจไปจิตไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจเพราะว่ากลัวจะหลง ก็เลยไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ ก็รู้ทันอีกว่าจิตไหลไปเพ่งที่ลมหายใจแล้ว เนี่ยทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตนะ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตรู้สึกตัวขึ้นมา ก็รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจหรือไปเพ่งมือเพ่งเท้าเพ่งท้องอะไร ก็รู้ ฝึกให้มากต่อไปจิตเคลื่อนไปปุ๊บเนี่ย สติจะเกิดเอง เพราะสติจะเกิดได้ไม่ใช่เพราะมีใครสั่งสติให้เกิดได้ สติจะเกิดเมื่อมีเหตุของสติ เหตุใกล้ให้เกิดสติเรียกว่า “ถิรสัญญา” ถอถุงสระอิรอเรือ ถิระ.. สัญญา ถิรสัญญาคือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจะจำสภาวะได้แม่นถ้าจิตเคยเห็นสภาวะบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพาจิตให้ดูสภาวะบ่อยๆ พุทโธไป หายใจไป จิตหนีไปแล้วรู้เนี่ย ต่อไปจิตหนีไปนะ จิตจำสภาวะที่จิตหนีไปได้แม่น อ้อ..อย่างนี้หลงไปแล้วนะ อย่างนี้ไหลไปเพ่ง อย่างนี้ไหลไปคิด พอจิตจดจำได้แม่นนะ พอไหลไปเพ่งปุ๊บ มันก็รู้สึกตัวขึ้นมาเลย สติระลึกได้ หรือไหลไปคิด จิตจดจำสภาวะที่ไหลไปคิดได้แล้ว พอไหลไปคิดสติระลึกปั๊บ เออนี่ไหลไปคิดแล้ว มีคำว่าแล้วด้วย คือมันเป็นไปก่อน ตอนที่หลงอยู่นะมันมีสติไม่ได้ เพราะตอนที่หลงจิตมีความฟุ้งซ่าน มีโมหะ ตอนที่สติเกิดน่ะมันไม่หลงแล้ว ก็เลยต้องมีคำว่าแล้ว เมื่อกี้นี้เผลอ ตอนนี้รู้สึก เพราะฉะนั้นการดูจิตดูใจนะ เราจะดูตามหลังไปเรื่อยๆ ตามไปติดๆ
    หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    แนวทางของการบรรลุธรรมไว้ ๓ แนวทางตามแนวที่ปรากฏในคัมภีร์ คือ
    ๑.บรรลุธรรมเพราะได้ฟัง
    ๒.บรรลุธรรมเพราะได้คิด
    ๓.บรรลุธรรมเพราะได้ปฏิบัติ
    ตัดข้อ ๒ และข้อ ๓ ออกก่อน คงกล่าวเฉพาะประเด็นแรกก่อน เพื่อไม่ให้เนื้อความยาวเกินไป คราวก่อนได้ยกตัวอย่างพระอัครสาวกทั้ง ๒ ว่า ได้บรรลุธรรมขั้นโสดาบันเพราะการฟัง เป็นที่น่าสังเกตว่า เฉพาะการฟังอย่างเดียวสามารถส่งผลให้ผู้ฟังได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตผลนั้น มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เอาที่เราคุ้นเคยมากที่สุดก็เห็นจะเป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้บรรลุอรหัตต์เพราะฟังธรรมเทศนาชื่ออนัตตลักขณสูตรจากพระ พุทธเจ้า
    การบรรลุธรรมที่เกิดขึ้นจากการฟังนี้ หากจะพิจารณากรณีตัวอย่างโดยละเอียดจะเห็นว่า จะบรรลุธรรมขั้นใดขึ้นอยู่กับพื้นเพอุปนิสัยเดิมของผู้นั้นเป็นสำคัญ บางท่านฟังแล้วบรรลุขั้นโสดาบัน บางท่านได้สกทาคามี อนาคามี หรือบางท่านก็ก้าวกระโดดบรรลุขั้นพระอรหันต์เลยก็มี
    การได้ฟังธรรม แล้วได้บรรลุธรรมในระดับต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
    ในอรรถกถามังคลัตถทีปนีจึงกล่าวไว้ว่า “การฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์”
    ที่น่าอัศจรรย์คือ แม้แต่เสียงเพลง เสียงขับร้อง ถ้าผู้ฟังรู้จักพิจารณา ไตร่ตรองโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้ฟังได้บรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน
    ตัวอย่างในพระคัมภีร์มีให้เห็นมากมาย เช่น อุตตรมาณพ เดินทางไปประกวดร้องเพลงชิงรางวัล ระหว่างทางก็พบพระพุทธเจ้า ๆ จึงเรียกไปสอบถาม ทราบความแล้วก็ทรงถามว่า เพลงที่จะร้องเนื้อหาเป็นอย่างไร อุตตรมาณพจึงร้องเพลงให้พระพุทธเจ้าฟัง แต่พอฟังจบ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เพลงขับแบบนี้ ไม่ถูก ร้องไปไม่มีทางชนะแน่นอน
    คัมภีร์ธรรมบทได้พรรณนาไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้แต่งเพลงขับให้อุตตรมาณพใหม่ พร้อมกับให้ท่องจำให้แม่น เนื้อหาเพลงที่เป็นโจกย์ให้ผู้ท้าชิงร้องแก้ท่านผูกเป็นปัฏฐยาวัตรฉันท์ แปลเป็นภาษาไทยได้ความหมายอย่างนี้
    “เป็นใหญ่อย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นพระราชา
    เป็นพระราชาแบบไหน จึงได้ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร
    แบบไหน ? จึงได้ชื่อว่าปราศจากธุลี
    แบบไหน ? จึงได้ชื่อว่าเป็นคนพาล”
    เพลงตอบโจทย์ที่พระพุทธเจ้าแต่งให้อุตตรมาณพว่าดังนี้
    “ผู้เป็นใหญ่ในทวารทั้ง ๖ ชื่อว่าเป็นพระราชา
    พระราชาผู้กำหนัด ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร
    ผู้ไม่กำหนัด ชื่อว่าปราศจากธุลี ผู้กำหนัดอยู่เรียกว่าเป็นคนพาล”
    บทเพลง ๔ บรรทัดแค่นี้ ส่งผลให้อุตตรมาณพบรรลุโสดาบันทันที ว่ากันว่า หลังจากเรียนเพลงขับจากพระพุทธเจ้าจนคล่องปากแล้ว อุตตรมาณพก็ออกเดินทางไปท้าประลอง และในที่สุดก็ประสบชัยชนะ
    คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้เล่าเรื่องพระติสสะเถระ ผู้ปรารภวิปัสสนา ท่านเดินทางผ่านสระปทุม เวลานั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเก็บดอกบัวอยู่ นางคงจะมีอารมณ์สุนทรีย์ ขณะที่เก็บดอกบัวก็ร้องเพลงไปด้วย เนื้อเพลงผูกเป็นฉันทลักษณ์เช่นกัน แปลเป็นภาษาไทยได้ความหมายว่า
    “ดอกปทุมชื่อโกกนท บานแล้วแต่เช้าตรู่ ถูกแสงพระอาทิตย์แผดเผาให้เหี่ยวแห้งไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเหี่ยวแห้งไปด้วยกำลังแห่งชราฉันนั้น” บทเพลงความยาวเพียงแค่ ๔ บรรทัดเท่านี้ ทำให้พระติสสะเถระถึงกับรรลุพระอรหันต์ทันที
    ถัดจากเรื่องนี้ไปนิดหน่อย ในคัมภีร์เดียวกันนี้ ได้เล่าถึงชายผู้หนึ่ง พร้อมด้วยบุตรชาย ๗ คนกลับจากป่า ระหว่างที่เดินทางกลับบ้าน ได้ยินเสียงสตรีนางหนึ่งกำลังร้องเพลงขณะตำข้าว เสียงเพลงไพเราะจับใจ โดยเฉพาะเนื้อเพลงฟังแล้วชวนให้พิจารณา “สรีระนี้อาศัยหนังมีผิวเหี่ยวแห้ง ถูกชราย่ำยีแล้ว สรีระนี้ถึงความเป็นอามิส คือเหยื่อแห่งมฤตยู ย่อมตกไปเพราะมรณะ สรีระนี้เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ สรีระนี้เป็นภาชนะของไม่สะอาด สรีระนี้เสมอด้วยท่อนไม้” สิ้นสุดเสียงเพลง ชายชราพร้อมลูกชายทั้ง ๗ คน บรรลุปัจเจกโพธิญาณทันที ที่สุดของเรื่องนี้ ท่านสรุปเป็นประเด็นทิ้งไว้อย่างนี้ว่า “แม้เทวาดาและมนุษย์เหล่าอื่น บรรลุอริยภูมิด้วยอุบายเช่นนี้” ทำให้เราได้ข้อสรุปเบื้องต้นอย่างหนึ่งว่า เสียงเพลง หรือเสียงเพลงขับ หากประกอบด้วยเนื้อหาที่สะท้อนสัจธรรมความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมทำให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญาญาณถึงขั้นบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน หากจะมีคำถามว่า แล้วเนื้อเพลงแบบไหนเข้าข่ายดังกล่าวข้างต้น ในคัมภีร์ท่านไม่ได้พรรณนารายละเอียด ท่านเพียงแต่ให้แนวกว้าง ๆ ไว้สำหรับพิจารณาดังนี้ “เพลงขับที่ประกอบด้วยธรรมควร” “เมื่อบุคคลฟังเสียงแม้มีอักขระอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตรใด ราคะเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น เสียงเห็นปานนั้นบุคคลไม่ควรฟัง แต่เมื่อบุคคลฟังเสียงที่อาศัยธรรม แม้เพลงขับของนางกุมภทาสี ความเลื่อมใสย่อมเกิดขึ้นได้ หรือความเบื่อหน่ายย่อมปรากฏ เสียงเห็นปานนั้นควร” จากตัวอย่างเบื้องต้นนี้ ทำให้มองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมนั้น แฝงตัวอยู่ในธรรมชาติรอบกายเรา ขอเพียงรู้จักไตร่ตรอง พินิจ และพิจารณาเราก็จะสามารถมองเห็นได้ แม้จะไม่มีใครแสดงให้เราฟังก็ตาม ตรงกันข้าม หากเราไม่รู้จักไตร่ตรองพิจารณา ต่อให้พระพุทธเจ้ามายืนต่อหน้าเรา ก็ทรงช่วยอะไรเราไม่ได้ เพราะทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า “เราตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น”

    Sompong Tungmepol
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    รู้ตัวอยู่เสมอ

    พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง”
    ในมุฏฐัสสติสูตร กล่าวถึงประโยชน์ของสติไว้ว่า ทำให้คนหลับอย่างเป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ไม่ฝันลามก เทวดารักษา น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

    อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุผู้มีสติคุ้มครองตนแล้วย่อมอยู่เย็นเป็นสุข”
    พูดง่ายๆ ว่า มีสติเพียงอย่างเดียว สบายไปแปดอย่างว่างั้นเถอะ

    พระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไปต่างเจริญสติกันทั้งนั้น อย่างหลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านก็เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่ง ที่ฝึกตนด้วยสติและสอนให้ผู้อื่นใช้สติ

    ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา หลวงปู่ดูลย์บอกให้เอาสติกำกับ ให้เป็นอยู่ด้วยสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ให้รู้ตัวอยู่เสมอ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ การฝึกครั้งแรกค่อนข้างยากหน่อย ท่านบอกว่าเมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมาก ขอให้รู้ตัวเอาไว้

    ภายหลังจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ แล้ว เมื่อรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตน ในระหว่างที่จิตเที่ยวไปกับในระหว่างที่จิตมีความรู้ตัว ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

    รู้ไว้ทำไม ?

    ก็เพื่อเป็นอุบายสอนใจตนให้รู้จักจดจำ

    ขณะที่จิตเที่ยวไปจุ้นจ้านอยู่ที่นั่นที่นี่ จิตจะไร้พลังประสบกับความกระวนกระวาย เหน็ดเหนื่อย เป็นทุกข์พอสมควร ขณะนั้นเราไม่รู้ตัว แต่ขณะที่จิตหยุดอยู่ เพราะมีสติวิ่งมานั้น จิตจะสงบ รู้ตัว เยือกเย็น สุขสบาย
    ลองเปรียบเทียบขณะจิตทั้งสองเวลานั้น ก็จะรู้โทษของการแส่ไปตามอารมณ์กับคุณของการรู้ตัว แล้วจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะอยู่กับจิตชนิดไหน
    แน่นอนที่สุด ใครๆ ก็อยากจะอยู่กับจิตที่มีสติ

    ทุกครั้งที่จิตวิ่งไปข้างนอก ให้พยายามรู้ตัว แล้วค่อยๆ ดึงกลับมา ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป เผลอออกไปดึงกลับมา อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ก็จะกลับรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างเดิมอีก

    หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

    เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ไม่นานนักก็จะสามารถคุมจิตได้ และบรรลุธรรมในที่สุด โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร
    ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆไป

    ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตว่า คำที่นึกนั้นชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานของจิต
    หลวงปู่ดูลย์ได้ให้ทางแก้ไว้ด้วยโดยใช้ “พุทโธ” จะเป็นคำอื่นก็ได้ แต่คำ “พุทโธ” ดีที่สุด
    ฐานแห่งจิตจะอยู่ไม่คงที่ เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย แต่ว่าอยู่ในกายแน่นอน ไม่ต้องไปหานอกกาย

    ท่านบอกว่าฐานแห่งจิตที่นึก “พุทโธ” ปรากฏชัดที่สุด ย่อมไม่มีอยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่

    แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว
    เมื่อกำหนดถูก และ “พุทโธ” ปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง
    เมื่อคุมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ให้ใช้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมนั่นแหละ
    ต่อไปก็ดูว่า มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรเกิดขึ้นก็ช่าง ให้ละทิ้งให้หมด โดยละทิ้งทีละอย่าง อะไรเกิดก่อน ให้ละก่อน อะไรเกิดหลัง ให้ละทีหลัง แล้วเอาสติมาดูจิตต่อไป
    กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น และละอารมณ์นั้นๆ ให้หมด
    กำหนดรู้และละไปเท่านั้น
    นี่เป็นวิถีแห่งสมาธิของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • LP Dul Atulo.jpg
      LP Dul Atulo.jpg
      ขนาดไฟล์:
      91.6 KB
      เปิดดู:
      1,200
    • Sati LpMahaBua.jpg
      Sati LpMahaBua.jpg
      ขนาดไฟล์:
      165.3 KB
      เปิดดู:
      157
    • Sadhu.jpg
      Sadhu.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6.7 KB
      เปิดดู:
      57
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    "ดับความโกรธ"

    " .. ที่ตัวโกรธนี้ "อย่าไปดูคนที่เราโกรธ อย่าไปดูสิ่งที่เราโกรธ" ถ้าไปดูคนที่เราโกรธ
    จะเหมือนกับไฟเพิ่มเชื้อจะลุกลามขึ้นไปเป็นลำดับ หาที่ยุติไม่ได้ สุดท้ายก็จะเผาไหม้เป็นเถ้าถ่านไปหมด

    เมื่อย้อนเข้ามาดูตัวของเราที่โกรธอยู่นี่น่ะ เป็นอย่างไรบ้าง เวลานี้เราจะได้ขึ้นสวรรค์วิมานไปถึงพรหมโลก
    นิพพานด้วยความโกรธนี้ไหม เราถึงได้พอใจโกรธเอานักหนา เวลานี้เราสุขหรือเราทุกข์ ผลที่เกิดขึ้นกับ
    เราเวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง

    ให้เราดู "ความโกรธของเรา" ที่กำลังเป็นฟืนเป็นไฟอยู่นี้ เมื่อเราดูตัวโกรธของเราที่เป็นฟืนเป็นไฟ
    อยู่ประจักษ์ใจนี้ ด้วยความมีสติ ด้วยความพินิจพิจารณา ด้วยความเห็นตัวของตัว ด้วยความเป็นผู้มีธรรม
    เพ่งดูความโกรธของตัวอยู่แล้ว

    เราจะเห็นโทษของมัน แล้วความโกรธนี้ จะค่อยระงับดับลงไปเป็นลำดับลำดา .. "

    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


    หลวงตาด็อตคอม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    ขณะนี้ที่มีเรื่องร้ายๆในเมืองไทยขอให้ท่านเปิดฟังกันทุกครัวเรือนก็จะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เจริญธรรมทุกๆท่านค่ะ
    บทสวดอุปปาตสันติ

    https://www.youtube.com/watch?v=GMfT4eDgvhA
    อุปปาตะสันติ มหาสันติงหลวง สวด

    https://www.youtube.com/watch?v=VS2RwnTNoS4
    Uploaded on Dec 19, 2010
    "อุป ปาตะสันติ" ทางเมืองเหนือเรียกว่า "มหาสันติงหลวง" แปลว่า บทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน

    บทสวดอุปปาตะสันติ ประวัติและเสียงสวดแปลไทย
    เสียงอ่านคุณโจโฉ

    https://www.youtube.com/watch?v=t59LXrM6tnQ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • Buddhabuddha.jpg
      Buddhabuddha.jpg
      ขนาดไฟล์:
      10.1 KB
      เปิดดู:
      64
    • pratanporn.jpg
      pratanporn.jpg
      ขนาดไฟล์:
      157.7 KB
      เปิดดู:
      1,309
  14. pattranit uk

    pattranit uk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 เมษายน 2012
    โพสต์:
    174
    ค่าพลัง:
    +1,446
    ความพลัดพลากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ขันธ์ทั้ง5เป็นตัวทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีสติตามทัน คือรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราครอบครองได้ชั่วคราว ทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ทางโลกนี้เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรแน่นอนและเที่ยงแท้ แม้แต่จิตที่ปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิดก็ไม่มีตัวตนเห็นมีแต่เกิดดับถ้าเราเข้าใจกฏไตรลักษณ์แล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงทุกข์กับเรื่องที่ไม่มีสาระเลยนะเรื่องแต่ละเรื่องที่เราเจอมาทุกข์มาก็ไม่มีอยู่จริงเห็นมีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปถ้าเราฝึกสติให้เป็นสัมปชัญญะเหมือนตะขอเหนี่ยวรั้งจิตไว้ตามจิตทันจิตของตนก็จะไม่ส่งออกนอกมากเห็นอะไรอยู่ในเหตุการอะไรเราก็จะวิปัสนาได้ดีมาก

    สาธุค่ะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • image.jpg
      image.jpg
      ขนาดไฟล์:
      93.9 KB
      เปิดดู:
      72
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • ghostToon.jpg
      ghostToon.jpg
      ขนาดไฟล์:
      41.8 KB
      เปิดดู:
      946
    • Snack.jpg
      Snack.jpg
      ขนาดไฟล์:
      99.8 KB
      เปิดดู:
      69
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    ขอให้เจริญในธรรมทุกๆท่านค่ะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    เจริญธรรมทุกๆท่านค่ะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    นานาปัญหา
    โดย คณะสหายธรรม


    ๓๙. สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้คืออะไร

    ถาม สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้คืออะไร และมนุษย์ทุกวันนี้ เขาแสวงหาอะไร

    ตอบ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้ก็คือสิ่งที่ตนพอใจ ใครพอใจสิ่งใดก็ควรจะได้สิ่งนั้น แต่ในความเห็นของคณะเห็นว่า ความสงบสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้ ความสงบสุขในที่นี้ หมายถึงความสงบสุขอันเกิดจากความสงบกิเลสอันเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจเป็นอย่างต่ำ เพราะเป็นความสงบเพียงชั่วคราว ไม่ถาวรเหมือนความสงบสุขอันเกิดจากการละกิเลสได้โดยสิ้นเชิงด้วยอรหัตตมัค อรหัตตผลอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นความสงบสุขอย่างสูง เพราะสงบจากกิเลสโดยแท้จริง ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นมารบกวนจิตให้เร่าร้อนอีก ความปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงจัดเป็นความสงบสุขอย่างสูงสุด เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้

    ส่วนที่ถามว่ามนุษย์ทุกวันนี้เขาแสวงหาอะไร
    ขอเรียนว่า ส่วนมากเขาแสวงหากาม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตลอดไปจนถึงความมักใหญ่ใฝ่สูงที่แสวงหามาโดยไม่ชอบธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะถือว่ามนุษย์ทุกวันนี้แสวงหาอกุศลกันเป็นส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ผิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นและได้ยินแต่สิ่งที่ไม่เจริญตาเจริญหูกันอยู่ทุกวัน
    พระพุทธเจ้าตรัสการแสวงหาไว้สองอย่างคือ อนริยปริเยสนา คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง และอริยปริเยสนา คือการแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง
    ก็การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐนั้น หมายถึงการแสวงหาสิ่งที่มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะและความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทั้งนี้เพราะตัวของเราเองก็มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะและความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ยังแสวงหาสิ่งที่มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะและความเศร้าหมองเป็นธรรมดานั้นอีก ก็คนส่วนมากที่แสวงหากามกันในปัจจุบันนี้ ก็หนีไม่พ้นจากการแสดงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐนี้เช่นกัน
    ส่วนอริยปริเยสนา คือการแสวงที่ประเสริฐนั้น ได้แก่การแสดงหานิพพาน อันไม่มีสภาพเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นต้นนั้น คนที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา จึงควรแสวงหาสิ่งที่พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นต้นเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ในคำตอบของคณะที่ตอบไว้ในตอนต้นว่า ความสงบสุขที่เกิดจากความปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ว่ากันว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จึงจัดอยู่ในการแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐนี้

    ________________________________________

    ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

    ปาสราสิสูตร ว่าด้วยอุปมากองบ่วงดักสัตว์
    http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=12&A=5384&Z=5762#313
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 สิงหาคม 2015
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037
    [​IMG]
    เจริญธรรมทุกๆท่านค่ะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    43,500
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,037

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...