เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 27 กรกฎาคม 2024 at 19:41.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช เราทั้งหลายที่มาบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติในรุ่นนี้ ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติและรักษากำลังใจด้วยตนเองก็จะได้ประโยชน์น้อยมาก

    เนื่องเพราะว่าเมื่อเช้ากระผม/อาตมภาพก็ติดงานอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา พรุ่งนี้ช่วงเช้าก็ยังมีพิธีถวายพระพร ในโอกาสที่โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ณ ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ ตอน ๑๐ โมงก็ยังมีการเจริญพระพุทธมนต์ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง และของเราก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาวชิโรปมกถา ช่วงค่ำก็ยังมีการเจริญพระพุทธมนต์หลังทำวัตรค่ำตามมติมหาเถรสมาคม จะเหลือเวลาปฏิบัติธรรมจริง ๆ ของเราไม่มากเลย

    ทุกท่านต้องเข้าใจว่าเราเดินทางมาไกลก็เพื่อหวังประโยชน์ แต่พอมาถึงแล้วเห็นว่าทางวัดมีกิจกรรม แทนที่เราจะรักษากำลังใจของตนเองไว้ ก็ปล่อยให้ลอยตามกิจกรรมนั้นไป ดีไม่ดีก็จะพาให้ขาดทุนไปด้วย บางท่านบางคนพอผิดที่ผิดทาง กลางคืนนอนไม่หลับ แทนที่จะเร่งการภาวนาให้มาก กลับไปนั่งเขี่ยโทรศัพท์ กระผม/อาตมภาพถึงได้กล่าวว่า พวกเราปฏิบัติธรรมเหมือนกับ "แก้บน" คือสักแต่ให้พ้น ๆ ไป แล้วก็อยากถามว่า "ถ้าเป็นอย่างนั้นจะมาทำอะไรกัน ?"

    การปฏิบัติธรรมของเรานั้นจุดหนึ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุด ก็คือมีสติ รู้ตัวอยู่ทั้งตื่นและหลับ เนื่องเพราะว่าบุคคลปกติทั่ว ๆ ไป แม้ว่าเวลาตื่นอยู่จะระมัดระวังรักษากำลังใจแค่ไหนก็ตาม เมื่อตอนที่เราหลับก็มักจะขาดสติ ปล่อยให้ รัก โลภ โกรธ หลง กินใจของเราในตอนนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติธรรมได้ในช่วงที่ตื่นอยู่จึงพังไม่เหลือเลย..!

    อย่างที่เคยยกตัวอย่างว่า เวลากลางวัน แม้แต่มดตัวเดียวเราก็ระมัดระวังไม่ให้เหยียบ แต่พอนอนหลับ ฝันว่าฆ่าเขาเป็นกองทัพเลย..! เวลากลางวันแม้แต่เพศตรงข้ามก็ยังไม่กล้ามองตรง ๆ กลางคืนปล้ำลูกชาวบ้านเขาไปแล้ว..! นั่นคือความที่เราขาดสติ เมื่อถึงเวลาสภาพจิตก็แสดงออกตาม รัก โลภ โกรธ หลง ที่เรามีอยู่

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องเร่งปฏิบัติภาวนาให้มากเข้าไว้ แต่ว่าหลายท่านพอทำไปถึงระดับนั้น จิตมีสภาพตื่นกลับไปเครียดแทน เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้นอน ความจริงร่างกายของเรานอนอยู่ ได้รับการพักผ่อนที่พอเพียงแล้ว แต่สภาพจิตที่ตื่นเพื่อระมัดระวังไม่ให้กิเลสกินใจของเรา ทางด้านพระจึงต้องออกธุดงค์ เพื่ออาศัยสถานที่และอันตรายต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำให้สภาพจิตมีความตื่นอยู่เนื่องเพราะความกลัวภัย จะได้รู้เท่าทันกิเลสในยามที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา แต่พอท่านตื่นอยู่จากการปฏิบัติกลับอยากจะหลับ..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    ถ้าหากว่าเราดูในพระสูตรหนึ่งที่มีอยู่ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นอัปปสุปติสูตร อยู่ในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้ากล่าวถึงบุคคลผู้นอนไม่หลับ มีอยู่ ๕ ประเภทด้วยกัน

    ประเภทที่ ๑ ก็คือ หญิงผู้ครุ่นคิดถึงชาย

    ประเภทที่ ๒ ก็คือ ชายผู้ครุ่นคิดถึงหญิง เรื่องนี้เป็นที่รู้กัน โดยเฉพาะใครที่เป็นวัยรุ่น บางทีคิดได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่รู้จักหลับจักนอน

    ประเภทที่ ๓ ก็คือ โจรร้ายผู้ประสงค์ต่อทรัพย์ แหกขี้ตาตื่นอยู่ก็เพื่อหวังที่จะชิงทรัพย์คนอื่นเขา..!

    ประเภทที่ ๔ คือพระราชาผู้ขยันเสด็จออกประกอบพระราชภารกิจ ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาในพระราชประวัติในหลวงรัชกาล ๙ จะเห็นว่า แม้ตี ๑ ตี ๒ พระองค์ท่านก็ยังคงไม่ได้บรรทม สั่งการสั่งงานต่าง ๆ อยู่เสมอ จนกระทั่งหลายท่านที่ได้รับคำสั่งทางวิทยุ ก็ยังสงสัยว่าใช่ในหลวงจริงหรือเปล่า ?

    ประเภทสุดท้าย ก็คือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร รีบเร่งลุกขึ้นมาปฏิบัติภาวนาเพื่อความหลุดพ้น ของเราน่าจะไม่มีสักประเภทเดียว..!

    ดังนั้น..บุคคลที่นอนไม่หลับพึงทราบว่าท่านโชคดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาไปหายามากิน ตั้งใจไปเลยว่า "นอนไม่หลับได้แหละดี เราจะภาวนาให้มากเลย" รับประกันหายใจเข้า "พุท" ไม่ทันหายใจออก "โธ" ก็ตัดหลับไปแล้ว เพราะว่ากิเลสมักจะกลัวเราดี อะไรที่ทำแล้วเราดีแปลว่าจะสร้างความลำบากให้กับกิเลส เขาก็หาทางตัดแข้งตัดขาเราอยู่ตลอดเวลา เดินไม่ถึงจุดหมายเสียที..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    ก็แปลว่าสิ่งที่เราทำมานั้นยังไม่เพียงพอต่อการที่จะเข้าถึงมรรคถึงผล เนื่องเพราะว่าสภาพจิตยังตื่นรู้ไม่เพียงพอ แล้วจะไปใช้ปัญญาในการพิจารณาตัดกิเลสอย่างไร ? เพราะว่าถึงเวลา ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอน ก็มากดทับสภาพจิตของเราจนมืดบอดไปหมด แม้แต่กิเลสหน้าตาเหมือนเรายังไม่รู้เลย..! ก็คือมักจะมองไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราแล้วไม่ดีไม่งามนั้น เป็นความผิดของคนอื่นเสมอ..!

    ทำอย่างไรที่เราจะพิจารณาหาความผิดของตนเองให้ได้ เหมือนอย่างกับในพระบาลีที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง ก็คือ ต้องกล่าวโทษโจทก์ตนเองอยู่เสมอ อย่าให้ไปตกอยู่ในภาษิตโบราณที่ว่า "ผิดคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา ผิดของเรามองเห็นเท่าเส้นขน ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเหลือจะทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"

    ถ้าเรายังมัวแต่ให้อภัยตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องให้อภัยแบบคนมีปัญญา ก็คือไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด เพียงแต่ว่าบุคคลผู้มีปัญญานั้นคือผิดแล้วต้องแก้ไข เหมือนกับนักกีฬา เมื่อถึงเวลาเราแพ้คู่แข่ง ก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ดูว่า เราแพ้เพราะอะไร ? แล้วพยายามแก้ไขปิดจุดอ่อนของตน สร้างจุดแข็งให้เหนือกว่าคู่แข่งขึ้นมา ไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมของเรา ต่อให้ปีแล้วปีเล่า กระผม/อาตมภาพต่อให้ชาติแล้วชาติเล่าด้วย..! ถ้าหากว่าพิจารณาหาข้อบกพร่องของตัวเองไม่ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้

    กระผม/อาตมภาพเองนั้น บางขณะบางเวลา โดนครูบาอาจารย์ท่านดุด่าว่ากล่าว พิจารณาตั้งแต่ต้นยันปลายแล้วว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แล้วทำไมถึงโดนด่า ? ท้ายที่สุดก็สรุปลงได้ว่า
    "เอ็งผิดตั้งแต่เกิดแล้ว ถ้าไม่เกิดมาก็ไม่ต้องโดนด่าแบบนี้..!"

    ปรากฏว่า
    ทันทีที่คิดตก หลวงพ่อท่านก็ให้ครูบาอาจารย์โทรมาแจ้งว่า "ท่านย่าสั่งให้ด่า" ท่านย่าบอกว่า "เจ้านี่มันรู้ตัวเร็ว ถ้าด่าไปแล้วมันจะระมัดระวัง คนอื่นก็จะเล่นงานมันไม่ได้" เพราะฉะนั้น..ถ้าหาความผิดตัวเองไม่เจอ อนุญาตให้นำไปใช้ ก็คือ "มึงผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว" ดีไม่ดีก็ผิดตั้งแต่ก่อนเกิดมาหลายชาติแล้วด้วย..!

    ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วก็ทำตัวเองให้เจริญขึ้น ให้ก้าวหน้าขึ้น แล้วก็อาจจะโดนรุ่นน้องมองเหยียดว่า "พี่ปฏิบัติธรรมภาษาอะไร ? หลายสิบปีแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย..!" แม้กระทั่งตัวเองก็ยังอาจจะสงสัยตัวเองว่า "นี่เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ? ทำไมปีแล้วปีเล่าเราไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย ?"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    สาเหตุส่วนใหญ่ก็คือ นอกจากเราจะหาข้อผิดพลาดของตนเองเพื่อแก้ไขไม่ได้แล้ว การปฏิบัติธรรมของเรา เรายังปฏิบัติแค่ตอนอยู่ในบัลลังก์เท่านั้น ไม่ว่าจะนั่ง หรือยืน หรือเดิน พอถึงเวลาพระวิปัสสนาจารย์นำอุทิศส่วนกุศลเสร็จสรรพ ปัดตูดลุกขึ้นได้กูก็ทิ้งกองไว้ตรงนั้นหมด..! ไม่มีการรักษากำลังใจของตนเองให้อยู่กับเราเลย

    เหมือนอย่างกับว่าการปฏิบัติธรรมเป็นการว่ายทวนน้ำ พอถึงเวลาเลิก เราก็ทิ้งปล่อยลอยตามน้ำไปเป็นปลาหมอคางดำ พอถึงเวลาปฏิบัติธรรมใหม่ก็ว่ายกลับมาใหม่ ขยันเป็นบ้า..! ทำงานทุกวันแต่หาผลงานไม่ได้เลย เพราะว่าถึงเวลาก็ลอยไปไกล วันไหนเหนื่อย ว่ายกลับมาได้ไม่เท่าเดิมก็ขาดทุนอีกต่างหาก

    นักปฏิบัติธรรมที่ดีจึงต้องปฏิบัติธรรมอยู่ทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกนาที ตอนนั่งนิ่ง ๆ อยู่ทำได้ดีเท่าไร เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่อื่นต้องรักษาอารมณ์ใจนั้นให้ได้ด้วย ใหม่ ๆ นาที ๒ นาทีก็พังหมดแล้ว..! ก็เหลืออยู่แค่ว่าเราจะมีความเพียรพยามยามประคับประคองสักเท่าไร ถ้าความเพียรสูงก็เพิ่มระยะเวลามากขึ้นได้ กลายเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง ๑ ชั่วโมง ฯลฯ

    สภาพจิตที่ทรงอารมณ์ภาวนาได้นั้นจะปราศจากกิเลสชั่วคราว เราจะมีแต่ความเบาความสบาย สติก็แหลมคม ปัญญาก็ว่องไว
    ก็จะต้องรีบเร่งพยายามหาทางประคับประคองเอาไว้ให้ได้ เพราะว่าอารมณ์ใจนี้มีแต่ส่วนดีเท่านั้น จนกระทั่งได้นานเป็นเดือนเป็นปี ปัญญาท่านก็จะยิ่งแก่กล้า เห็นกระทั่งความไม่เที่ยงในการปฏิบัติธรรม กำลังใจของเราก็จะเกิดเบื่อหน่าย ถอนจากการยึดการเกาะออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ยึดเกาะอะไร ก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุ สามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...