เร่งความเพียร หลวงตาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 7 กันยายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เร่งความเพียร
    ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


    ท่านอาจารย์ส่งเสริม และให้กำลังใจแก่ศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมให้เอาความเพียรชนะความเกียจคร้านอ่อนแอ ท่านสอนไว้ว่า


    "...ความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลจงพากันทราบไว้ ความมักง่าย ความโยกคลอนเอนเอียง มีแต่กิเลสตบต่อยให้เอนให้เอียง ให้ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้น ไม่ใช่ธรรมเป็นผู้พาให้เป็นเช่นนั้น


    จงพากันทราบว่าเวลานี้ กิเลสกำลังทำงานในตัวเราอย่างออกหน้าออกตา ซึ่ง ๆ หน้านักปฏิบัติ คือเราแต่ละราย ๆ จงทราบไว้เสียแต่บัดนี้ อย่าเข้าใจว่ากิเลสไม่ได้ทำงานบนหัวใจเรา ในขณะที่กำลังประกอบความเพียรจะฆ่ามัน ในขณะเดียวกันนั้นกิเลสก็ฆ่าธรรม และฆ่าตัวเราไปด้วยในตัวโดยไม่รู้สึก


    อุบายของธรรมที่จะให้ทราบกลอุบายของกิเลส จึงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ในขั้นเริ่มแรกสำคัญมาก เพราะงานยังไม่เคยเห็นผลพอจะเพิ่มกำลังใจให้เข้มแข็งในความเพียร อย่าหวง อย่าห่วง อย่าเสียดาย กิเลสไม่ได้ให้สารคุณอันใดแก่เรา


    ความขี้เกียจความอ่อนแอไม่ให้สารประโยชน์อันใด เราเคยขี้เกียจเคยอ่อนแอมามากและนานเพียงไรแล้ว จงเอามาบวกลบคูณหารกันเพื่อทดสอบผลได้ผลเสียของตัวกับกิเลส นักปฏิบัติไม่คิดไม่เทียบเคียงเหตุผลต้นปลายให้รู้ดีรู้ชั่ว รู้หนักรู้เบา ในสิ่งเหล่านี้แล้วจะดำเนินธรรมเพื่อความสงบเย็นใจไปไม่ได้


    จึงควรคิดแต่บัดนี้ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาตายเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์ ผ้าเหลืองอยู่ที่ไหนก็มี ตลาดร้านค้า ยิ่งไม่อด นั้นเป็นเครื่องหมายของเพศนักบวช ไม่ใช่เป็นผู้ฆ่ากิเลส นอกจากความเพียรของเราเอง จงเป็นผู้หนักแน่นในความพากเพียร เพื่อหักกงกรรมของวัฏจักร ให้ขาดสะบั้นลงจากใจจะหายห่วง


    เราได้ดำเนินมาเต็มสติกำลังความสามารถแล้ว จึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีงานใดที่จะลำบากยากเย็นเข็ญใจถึงเป็นถึงตาย ยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลสเพื่อชัยชนะ งานนี้เป็นงานที่หนักมากสำหรับเราผู้เป็นคนหยาบ


    แต่ใครจะหยาบก็ตาม ละเอียดก็ตามพึงทราบว่า ความขี้เกียจความมักง่ายอ่อนแอไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ทางแก้กิเลส อย่าหวงเอาไว้ มันเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ เพื่อพอกพูนทุกข์ไม่สงสัย


    ใครจะหยาบละเอียดแค่ไหน นิสัยวาสนามีมากมีน้อยเพียงไร จงยกตนให้เหนือกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยความเพียร จะจัดว่าเป็นผู้มีวาสนาบารมีเต็มหัวใจด้วยกัน


    หากไม่มีความเพียรเป็นเครื่องแก้ อย่างไรก็นอนกอดวาสนาที่เต็มไปด้วย กิเลสตัวหยิ่ง ๆ อยู่นั่นแล บางก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียด หนาก็ฟาดมันลงไปให้แหลกเหมือนกันหมด จะสมนามว่าเป็นนักรบนักปฏบัติเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกออกจากใจโดยแท้..."
    (เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๒๒๖-๒๒๗)


    ภาวนาตลอดรุ่ง


    "...ในพรรษานั้นผมไม่นอนกลางวันนะ กลางวันผมไม่จำวัดเลย นอกจากคืนไหนผมนั่งตลอดรุ่ง ผมก็พักนอนกลางวัน ถ้าธรรมดาแล้วเป็นไม่พักให้เลย ปีนั้นหรือพรรษานั้นความเพียรหักโหมที่สุดในชีวิตของเราที่เป็นนักบวช ก็เป็นพรรษาที่สิบ นั่นหักโหมมากทีเดียวเกี่ยวกับร่างกายหักโหม จิตหักโหมมากพอ ๆ กัน..."
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๗๕-๒๗๖)


    "...ตอนต่อสู้กับเวทนานั้นบังคับมันทุกด้าน หักโหมร่างกาย นั่งฉันกังหันตอนเช้าได้นั่งพับเพียบ ขออภัย ก้นเหมือนกับพองไปหมด นั่งขัดสมาธิไม่ได้ คือตอนนั้นตอนเราไม่ฝืนไม่บังคับ ปล่อยธรรมดาจึงนั่งไม่ได้


    ตอนนั้นเราไม่ตั้งใจจะทนกับมันจะสู้กับมัน เราจะสู้กับรสอาหารต่างหาก เราจะขึ้นสู้รสอาหารต่างหาก เราไม่ทนกับมัน จึงต้องนั่งพับเพียบฉันจังหัน นี่หมายถึงวันที่หักโหมกันเต็มที่จิตลงไม่ได้ง่าย มันแพ้ทางร่างกายมาก แต่ถ้าวันไหนที่พิจารณาติดปั๊บ ๆ เกาะติดปั๊บ ๆ อย่างงั้นมันก็ธรรมดา


    นั่งตลอดรุ่งเวลาเท่ากันก็ตาม ไม่มีอะไรชอกช้ำภายในร่างกายเลย พอลุกขึ้นก็ไปเลยธรรมดา ๆ เหมือนเรานั่งสามสี่ชั่วโมงเป็นประจำตามความเคยชิน


    เพราะตามธรรมดาผมนั่งภาวนา ๓ - ๔ ชั่วโมงถือเป็นธรรมดานะ นั่งตามอัธยาศัยต้อง ๓ - ๔ ชั่วโมง ถ้ามีเวลาน้อยเช่นกลางวันก็นั่งราว ๑ - ๒ ชั่วโมง เช่นหน้าหนาวกลางวันมีน้อย กลางคืนมีมาก และลงเดินจงกรมไม่ได้ กลางคืนหน้าหนาวตัวมันแข็งไปหมดจะเดินได้ยังไง


    นี่แหละเราต้องสงวนเวลาไว้สำหรับเดินให้มาก นั่งภาวนากลางวันเพียงชั่วโมงเดียว จากนั้นก็เดินจงกรมจงกระทั่งถึงเวลาปัดกวาด พอปัดกวาดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปอาบน้ำในคลองในอะไรก็แล้วแต่


    เพราะเราไปอยู่ในที่ต่าง ๆ บางทีตามซอกหินซอกผาอะไรก็แล้วแต่ ในห้วยในคลองที่ไหนพออาบก็อาบ ที่นี่เดินจงกรมอีกแล้ว จนกระทั่งเย็น หนาวเข้า ๆ ก็เข้าที่พัก ออกเดินไม่ได้เพราะหนาวมาก ที่นี่นั่งนานนะ มันจึงเหนื่อย


    กลางวันพอฉันจังหันเสร็จแล้ว ล้างบาตรล้างอะไร เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้วไม่เข้าถลกแหละ เอาไปวางไว้ปุ๊บ แล้วเข้าทางจงกรมเลย ฟัดมันจนโน้น ๑๑ โมงเป็นอย่างน้อย หรือเที่ยงวันออกจากทางจงกรมก็พัก ออกจากพักก็นั่งภาวนาราวชั่วโมงก็ลงเดินจงกรมอีกแล้ว อย่างนั้นเป็นประจำ


    ถ้าวันไหนร่างกายมันบอบช้ำมากจิตลงได้ยาก วันนั้นแหละได้นั่งพับเพียบ นั่งพับเพียบฉันจังหัน มันเหมือนไฟเผาอยู่ก้น บางทีได้เอามือคลำดู ก้นพองหรือ คลำดูก็ไม่พอง นี่หมายถึงเริ่มแรกนั่งตลอดรุ่ง พอนั่งหลายคืนไป ก้นก็พองและแตกเลอะไปหมด กระดูกทุกส่วนเหมือนจะแตก กลางวันก็ตามมันเจ็บปวดรวดร้าวไปหมด ไม่ใช่เฉพาะเวลาเรานั่งภาวนาจึงปวดกระดูกตามร่างกายส่วนต่าง ๆ เหมือนมันจะแตกจะหัก เพราะมันบอบช้ำมาตั้งแต่กลางคืน ฉะนั้น จึงต้องเดินให้มากทีเดียวในเวลากลางวันหรือกลางคืนที่ไม่ได้นั่งตลอดรุ่ง..."
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๗๖ - ๒๗๗)


    สำหรับผู้ที่ยังตั้งหลักไม่ได้



    ท่านอาจารย์ยังมีเมตตาสอนผู้ที่ยังตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นไม่ได้ไว้ดังนี้


    "...ถ้าจับจุดของความรู้ไม่ได้ ก็อย่าลืมคำบริกรรมภาวนา ไปที่ไหนอยู่ในท่าอิริยาบถใดคำบริกรรมให้ติดแนบกับจิต ให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นเสมอ เช่น พุทฺโธ ก็ตาม อฏฺฐิ ก็ตาม เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ


    บทใดก็ตาม ให้จิตติดอยู่กับบทนั้น ไม่ให้จิตไปทำงานอื่น ถ้าปล่อยนี้เสียจิตก็เถลไถลไปทำงานอื่นซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่เป็นความมุ่งหมายของเรา บทธรรมที่เราตั้งขึ้นมานั้น เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ


    ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมที่เราเป็นผู้กำหนดเอง อาศัยธรรมบทต่าง ๆ เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของจิต ขณะทำลงไปก็เป็นธรรม จิตใจก็สงบ นี่แลหลักการปฏิบัติที่จะทำให้จิตสงบเยือกเย็นได้ โดยลำดับของนักภาวนาทั้งหลาย


    การที่จะตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นนี้ลำบากมากเหมือนกัน แม้ลำบากแค่ไหนก็อย่าถือเป็นอารมณ์ จะเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผลที่ตนต้องการจงถือความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์นี้เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มพูนให้มาก


    สติ ซึ่งเป็นธรรมสำคัญจะต้องเพิ่มพูนให้มาก เพื่อความเหนียวแน่นมั่งคง เพื่อความสืบต่อแห่งความระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ


    ปัญญา ในโอกาสที่ควรพิจารณาก็ควรพิจารณาแยกแยะทั้งภายนอกทั้งภายในเทียบเคียงกัน มรรคนั้นเป็นได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน ปัญญาเป็นได้ทั้งภายนอกภายในถ้าทำให้เป็นปัญญาที่เรียกว่า มรรค


    เราจะพิจารณาเรื่องใด เรื่อง อนิจฺจํ เอาภายนอกมาพิจารณาเทียบกับภายในก็ได้ จะพิจารณาภายในเทียบกับภายนอกมันก็เป็นอันเดียวกันนั้นแหละ ไม่ได้ผิดแปลกอะไร เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา


    อสุภะอสุภังของปฏิกูลโสโครก มันมีเต็มไปหมดทั้งภายนอกภายใน รูปสัตว์ รูปบุคคล หญิงชาย

    จะพิจารณาแยกแยะอย่างไร ให้เป็นอุบายวิธีของเราในการพิจารณา


    แต่ในเวลาต้องการความสงบ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำความสงบ ด้วยคำบริกรรมบทใดหรืออานาปานสติ ได้ตามแต่จริตนิสัยชอบ แต่ให้มีสติสืบเนื่องอยู่เสมอ ความรู้จะได้สืบต่อกันกับงาน


    เมื่อความรู้สืบต่อกัน จิตใจไม่มีเวลาส่ายแส่ไปภายนอกแล้ว จิตก็รวมตัวเข้ามา ๆ กระแสจิตทั้งหมดรวมเข้ามาเป็นตัวของตัวกลายเป็นจุดแห่งความสงบ


    เมื่อจุดปรากฏเด่นขึ้นมาที่ใจเรียกว่า ใจเริ่มสงบ ความคิดปรุงก็เบาบางลงไป ๆ กระทั่งความคิดปรุงในคำบริกรรมก็ค่อยเบาลงไป ๆ กลายเป็นความรู้ที่เด่นขึ้นมา จะบริกรรมหรือไม่บริกรรม


    ความรู้ก็เป็นความรู้อยู่อย่างนั้น ที่เรียกว่าจิตรวมตัวเข้าเป็นตัวของตัวแล้ว ก็อยู่กับตรงนั้นเสีย คำบริกรรมก็ปล่อยวางกันในขณะนั้น นี่คือจิตสงบ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำให้เกิดผลตามที่กล่าวมา..."
    (เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า๑๒๒ - ๑๒๓)


    "...ให้ขยันเดินจงกรม กี่ชั่วโมงก็เอ้าเดินไป ให้มันเห็นความลำบากในการเดิน ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยในการเดินจงกรมเช่นเดียวกับเขาทำงานทางโลก เราทำงานทางธรรมก็ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการประกอบความพากเพียรของเรา


    เช่น นั่งนานเป็นยังไง ต้องเจ็บปวดแสบร้อน ดีไม่ดีก็ล้มทั้งหงายเป็นไรไป เพราะสิ่งเหล่านี้ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ก่อนที่จะมาเทศนาว่าการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนตามสติกำลังนี้ได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งนั้น


    นั่งสมาธิก็เหมือนกัน ฟาดมันลงไป สมาธิเวลานั่งมาก ๆ นี้สำคัญมักจะมีเวทนาให้เป็นเครื่องพิจารณา งานอื่น ๆ ต้องได้ปล่อยทิ้งหมด รวมตัวเข้าสู่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายจุดต่าง ๆ จุดไหนที่เด่นกว่าเพื่อน ถือจุดนั้นเป็นสนามรบ สติปัญญาหยั่งลงไปที่นั่น


    ออกมาบวชแล้วมีเราเท่านั้น เป็นกับตายก็เรา สุขกับทุกข์ก็เรา จะฉุดลากตนได้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นกำลังวังชา สติปัญญาของเรานี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะมาช่วยปลดช่วยเปลื้องเราให้หลุดพ้นไปได้ เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือใคร คือเรา พึ่งเรานี้แล ให้ประกอบความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าได้ลดละถอยหลัง..."
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๙๔ - ๒๙๕)


    มีสมาธิใช้ปัญญา


    ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า หลังจากที่ท่านอาจารย์โหมความเพียรในพรรษาที่๑๐ จนจิตได้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ สมาธิของท่านมีความแน่นหนามั่งคง แต่ท่านก็ติดสมาธินี้อยู่ถึง ๕ ปีเต็ม ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ปัญญา จนกระทั่งหลวงปู่มั่นได้ไล่ให้ออกจากสมาธิ ท่านจึงมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากเทศน์ของท่านที่ได้รวบรวมมา


    ในเทศน์ของท่านอาจารย์ที่อ่านในหนังสือต่าง ๆ จึงพบว่า ท่านสอนและเตือนบรรดาศิษย์อยู่เสมอให้ระวังว่าจะติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย
    ติดสมาธิ


    "...เพราะสมาธินี้เป็นความสุขที่พอจะให้ติดได้ถึงติดได้คนเรา ความสุขในสมาธิก็พออยู่แล้ว จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ พอจิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น ไม่อยากออกยุ่งกับอะไรเลย ตาไม่อยากดู หูไม่อยากฟัง มันเป็นการยุ่งกวน รบกวนจิตใจของเราให้กระเพื่อมเปล่า ๆ


    เมื่อจิตได้แน่วแน่อยู่ในสมาธินั้น อยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ นี่ละมันติดได้อย่างนี้เอง สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่น ๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน อันนี้จะเป็นนิพพาน จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพาน ๆ


    สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นละจนกระทั่งวันตาย ก็จะต้องเป็นสมาธิและติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาฉุดมาลาก ผมเองก็คือหลวงปู่มั่นมาฉุดมาลาก เถียงกันหน้าดำตาแดง


    จนกระทั่ง พระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุน นี่เพราะฟังการโต้กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่โต้ด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดนะ โต้ด้วยความที่เราก็เข้าใจว่าจริงอันหนึ่งของเรา ท่านก็จริงอันหนึ่งของท่าน สุดท้ายก็หัวเราแตกเพราะท่านรู้นี่


    เราพูดทั้ง ๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน แล้วสุดท้ายท่านก็ไล่ออกมา..."
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๓๔๑)


    สุขในสมาธิเหมือนเนื้อติดฟัน


    "...ทีแรกไปหาท่านเมื่อไร ท่านถามว่า 'สบายดีเหรอ สงบดีเหรอ' 'สงบดีอยู่' เราก็ว่าอย่างนี้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอนานเข้า ๆ ก็อย่างว่านั่นแหละ 'เป็นยังไง ท่านมหาสบายดีเหรอใจ' สบายดีอยู่ สงบดีอยู่' 'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ'


    ฟังซิ ทีนี้ขึ้นละนะพลิกเปลี่ยนไปหมดสีหน้าสีตาอะไร แสดงท่าทางออกหมดแล้วนะนี่ จะเอาเต็มที่ละจะเขกเต็มที่ละ 'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ' ท่านว่า 'ท่านรู้ไหมสุขในสมาธิเหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ มันสุขขนาดไหน เนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ๆ' นี้เราไม่ลืมนะ จากนั้นมา 'ท่านรู้ไหมว่า สมาธิทั้งแท่งนั้นละคือตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ' นั่น


    ตรงนี้มันก็ต่อยกับท่านอีก ดูซิ 'ถ้าหากสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน' นั่นเอาซิโต้ท่าน 'มันก็ไม่ใช่สมาธิตายนอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้าสมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่' นั่นเห็นไหมท่านใส่เข้าไป 'สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้า ๆ พูดออกมาซิ' มันก็ยอมละซิ


    พอออกจากท่านไปแล้ว โห นี่เราไปเก่งมาจากทวีปไหนนี่ เรามอบกายถวายตัวต่อท่านเพื่อศึกษาอรรถศึกษาธรรมหาความจริง ทำไมวันนี้จึงมาโต้กันกับท่าน ยิ่งกว่ามวยแชมเปี้ยนเขานี่ มันเป็นยังไง


    เรานี้มันไม่เกินครูเกินอาจารย์ไปแล้วเหรอ และท่านพูดนั้นท่านพูดด้วยความหลงหรือใครเป็นหลงล่ะ เอาละที่นี่ย้อนเข้ามาหาตัวเอง ถ้าไม่ตั้งประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้ มาหาท่านทำไม ถ้าว่าเราวิเศษวิโสแล้วทำไมเราจึงต้องมาหาครูอาจารย์ที่ตนว่าไม่วิเศษล่ะ แต่เราก็ไม่เคยดูถูกท่านแหละ นี่หมายความว่าตีเจ้าของ ย้อนขึ้นมาเข่นเจ้าของ..."
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า๓๔๒-๓๔๓)


    หลงสังขาร


    "...พอปัญญาก้าวแล้วก็ยังกลับไปสู้กับท่านอีกนะ คือเวลามันออกทางด้านปัญญานี้เอาอีกแล้ว กลางคืนไม่ได้นอน บางคืน ๒ คืน ๓ คืน มันไม่ยอมนอน กลางวันยังไม่ยอมนอนอีก เอ้ากูนี่จะตายละนะ ว่าเจ้าของกูนี่มันจะตายละนะ มันยังไงนี่


    บทเวลานอนอยู่ในสมาธิมันก็อยู่อย่างนั้น ทีนี้เวลาออกก็ออกอย่างนี้ทำไงนี่ แล้วก็ขึ้นไปหาท่านอีก นี่พ่อแม่ครูอาจารย์ว่าให้ออกทางด้านปัญญา เวลานี้มันออกแล้วนะ ถึงขนาดที่ว่าไม่ได้นอน ๒ - ๓ คืนแล้วนี่นะ กลางวันมันยังไม่นอนอีก


    'นั่นละ มันหลงสังขาร' 'ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้นี่น่า' 'นั่นละบ้าสังขาร บ้าหลงสังขาร แล้วก็เอาใหญ่เลย' พอคราวนี้หมอบเลยนะ งูเห่าค่อยหมอบลง ทีนี้ มันอาจจะถูกอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ เรานึกในใจนะ ทีนี้ก็นิ่ง


    พอออกไปก็ ถึงอย่างนั้นก็ตามเถอะ มันก็หมุนติ้ว ๆ ของมันเหมือนกัน แต่บทเวลามันจะตายจริง ๆ ก็เข้าสมาธิด้วยการบังคับนะ ถ้าธรรมดาแล้วมันจะไม่ยอมเข้าเพราะเห็นว่าไม่ได้งานมันไม่พอดีนะ เห็นว่าสมาธินี่นอนตายอยู่เฉย ๆ มันไม่เห็นได้ผลได้ประโยชน์อะไร นอนตายอยู่เฉย ๆ สมาธิ ปัญญาต่างหากได้ผล ว่างั้น


    ทีนี้ก็จะเอาปัญญาแบบไม่หยุดอีกแหละ ว่าการทำงานได้งาน การพักไม่ได้งานก็ไม่พัก... จะทำแต่งาน ก็จะตายอีกเหมือนกัน ทีนี้เวลามันเต็มที่เต็มฐานแล้วจะไปไม่รอดเพราะมันอ่อนไปหมดสกนธ์กาย การทำงานด้วยปัญญา การคิดด้วยปัญญาเป็นอัตโนมัติก็ตาม


    แต่ก็เป็นงานของจิตควรที่จะได้พัก เห็นว่ามันหนักเกินไปแล้วก็บังคับ ถึงขนาดที่ได้บริกรรมนะ พุทโธ ๆ ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก คือออกจะทำงานไม่ใช่ออกฟุ้งซ่านรำคาญไปที่ไหนนะ ออกจะออกไปหางานที่ทำยังไม่เสร็จ บังคับไว้ ๆ จนกระทั่งถึงสุดท้ายจิตก็ลงแน่ว เงียบเลย และปรากฏว่ากำลังวังชานี้ โอ้โหเพิ่มขึ้นมา ทีนี้เลยพูดไม่ถูกนะ


    เมื่อใจมีกำลังในการพักสมาธิแล้ว พอถอนเท่านั้นละโดดผึงใส่งานไปเลยทีนี้เหมือนกับว่าเราได้พักผ่อนนอนหลับแล้ว นี่พูดถึงการงานนะ หรือได้รับประทานอาหารมีกำลังวังชาแล้วทำงานทำการ งานชิ้นนั้นแหละแต่มันเสร็จได้อย่างรวดเร็ว


    นี้ก็เหมือนกันไม้ท่อนนั้นแหละ ปัญญาอันนี้แหละ ฟันลงไปมันขาดสะบั้นลงไปเลย เพราะปัญญาได้พักตัว แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ มันไม่อยากจะพักนะ ต้องฝืนเอาเฉย ๆ แม้ระลึกถึงคำของท่านพูด มันหลงสังขารนั้นอยู่เสมอแต่อำนาจแห่งการเพลินในการพิจารณานี้ มีกำลังมากกว่ามันถึงไม่ยอมพักง่าย ๆ..."
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๓๔๓ - ๓๔๔)


    กรรมฐาน ๔๐ เป็นได้ทั้งอารมณ์แห่งสมถะและวิปัสสนา



    "...ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ดี หรือนับตั้งแต่พระสาวกทั้งหลายลงมาก็ดี ท่านหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมฐาน ๔๐ นี้ทั้งนั้นแหละ กรรมฐาน ๔๐ นี้แลเป็นธรรมที่สร้างจิตท่านให้มีความสงบร่มเย็น ต่อจากนั้นไปก็สร้างทางด้านปัญญาให้รู้แจ้งแทงทะลุไป


    ไม่พ้นจากกรรมฐานที่กล่าวมาเหล่านี้เลย เพราะกรรมฐาน ๔๐ นี้ไม่ใช่จะเป็นอารมณ์แห่งสมถะอย่างเดียว ยังเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วย เมื่อจิตควรแก่วิปัสสนาแล้วจะเป็นวิปัสสนาได้โดยไม่ต้องสงสัย


    ในขณะที่จิตยังไม่เป็นปัญญา จิตยังไม่เป็นวิปัสสนา ก็เอาธรรมเหล่านี้แลมาอบรมจิตใจด้วยความเป็นสมถะ คือเพื่อความเป็นสมถะ ได้แก่ความสงบของใจ พอจิตก้าวเข้าสู่ปัญญาแล้ว ธรรมที่เคยเป็นอารมณ์แห่งสมถะนี้แล จะแปรสภาพเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้..."
    (ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๕๑)


    หลักของใจ รวบรวมจากเทศน์ของท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lt_bua/lt-bua_16.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 กันยายน 2010
  2. รู้รู้ไป

    รู้รู้ไป เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    951
    ค่าพลัง:
    +3,165
    ด้วยน้อมเคารพต่อพระรัตนตรัยนั้นแล้ว
    อนุโมทนาในการเผยแพร่ธรรมนั้น

    ธรรมใดเกิดแต่ความเพียร เกิดแต่ปัญญา
    ธรรมนั้นย่อมเป็นที่สรรเสริญในผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย สาธุครับ
     
  3. โมก

    โมก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    435
    ค่าพลัง:
    +1,737
    กราบนมัสการพระธรรมขององค์หลวงตามหาบัว อันเป็นการสั่งสอนธรรมตามองค์ครูบาอาจารย์ใหญ่องค์หลวงปู่มั่น เป็นธรรมล้วนๆที่ทุกคนปฏิบัติได้ เป็นทางปฏิบัติให้มนุษย์ละตัวตนละกิเลสได้อย่างจริงจังจนถึงความพ้นทุกข์ตามรอยพระศาสดาจอมมุนี
    อุบายธรรมสำคัญในสายพระป่าคือ อุบายการทรมานตน ให้จิตเกิดปัญญาพิจารณาธรรมพ้นจากความกลัว กลัวเจ็บกลัวตาย เมื่อพ้นมาได้นั่นล่ะประเสริฐนักแล คู่ทรมานมีหลายอย่างแล้วแต่ความกลัวคนคนนั้น
    คนกลัวผีก็ต้องนั่งให้หายกลัว
    คนกลัวตายเมื่อลมละเอียดเหมือนไม่มีลม บังเกิดความกลัว กลัวตาย ก็ต้องนั่งให้รู้ว่ามันไม่ตาย
    คนกลัวเจ็บ รักหวงในสังขาร นั่งแล้วมันเจ็บมันทุกข์ทรมาน ก็ต้องนั่งให้มันเจ็บ เจ็บแล้วก็หาย ไม่ไปใส่ใจมันมาก มันก็เจ็บน้อยลง ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
    ตัวกิเลสเนี่ยมันรู้ดีนัก ถ้าจิตมนุษย์ไม่อ่อนแอ ไม่กลัวมัน ใช้สัมมาปัญญาพิจารณาแล้ว ทางพ้นทุกข์อันแท้จริงย่อมประจักษ์
     

แชร์หน้านี้

Loading...