เรื่องเด่น เทศน์วันเข้าพรรษา วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 28 กรกฎาคม 2024 at 19:44.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    เทศน์วันเข้าพรรษา
    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

    เทศน์เริ่มนาทีที่ ๔๒.๐๐

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมีติฯ

    ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในวัสสกถา กล่าวถึงการที่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ได้ร่วมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา ณ อารามวัดท่าขนุนแห่งนี้

    ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ตามความเข้าใจของท่านทั้งหลายนี้ คือ 'วันเข้าพรรษา' เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จักต้องอยู่ประจำในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้นั้นก็ไม่ได้มีวัดวาอารามมากมายเหมือนดังสมัยนี้ ดังนั้น..พระภิกษุสงฆ์จึงอาจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาในป่าช้าบ้าง อยู่โคนไม้บ้าง อยู่ในบ้านร้างเรือนว่างบ้าง อยู่ในถ้ำบ้าง เป็นต้น

    ก่อนหน้านี้องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้บัญญัติว่า พระภิกษุสงฆ์ของเราจะต้องอยู่จำพรรษา ในเมื่อไม่มีข้อห้าม พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็จาริกไปแม้จะเป็นฤดูฝน คราวนี้มีผู้กล่าวเอาไว้ว่า พระภิกษุสงฆ์ของเราไปทำความเสียหาย คือ เหยียบย่ำข้าวกล้าของประชาชน จนเขาลำบากเดือดร้อน ซึ่งตรงนี้กระผม/อาตมภาพยืนยันว่า เป็นข้อกล่าวหาที่หาข้อมูลไม่ได้ เพราะว่า พระเราไม่ใช่ช้าง ม้า วัว ควาย จะได้เดินลุยลงไปในนาของคนอื่นเขาแบบขาดสติ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 20240722.jpg
      20240722.jpg
      ขนาดไฟล์:
      149.7 KB
      เปิดดู:
      8
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    หากแต่ว่าบุคคลในสมัยนั้น เมื่อมีความเคารพในพระภิกษุของเรา ถึงเวลา..แม้จะติดงานการในฤดูฝน ต้องรีบดำนา รีบหว่านกล้า อะไรก็ตาม ก็ต้องละมือจากงานประจำ เพื่อที่จะมาถวายการต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา หาน้ำใช้น้ำฉัน หาข้าวปลาอาหารมาถวาย นอกจากทำให้เขาสิ้นเปลืองแล้ว ยังเสียเวลาในการทำมาหากินด้วยอีกประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง..สมัยนั้นการแข่งขันทางศาสนานั้นมีมาก ต่อให้สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทำอะไรผิด เขาก็กล่าวหาว่าผิดจนได้ ดังนั้น..เขาจึงไปโพนทะนากันว่า ในฤดูฝนนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานอย่างนก ก็ยังอาศัยอยู่ในรัง หรือว่าในโพรงไม้ ไม่ได้เที่ยวไปที่ไหน ๆ เหมือนกับสาวกของพระสมณโคดม..!

    เมื่อเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไปถึงหูของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงได้ส่งตัวแทนเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ในเมื่อเป็นข้อตำหนิติเตียนเช่นนั้น พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาควรที่จะทำอย่างไร ? องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา อยู่ประจำในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    แต่ว่ามีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ให้สามารถจำพรรษาในกองเกวียนได้ เนื่องเพราะว่าในสมัยนั้น บรรดาพ่อค้ามหาเศรษฐี ถึงเวลาก็นำเอากองเกวียนไปค้าขายต่างบ้านต่างเมือง บางทีก็เดินทางกัน ๖ เดือน บางทีก็เดินทางกัน ๑ ปี

    ถ้าอย่างที่กระผม/อาตมภาพไปทางด้านมณฑลเสฉวนตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งใน
    สมัยโบราณจะมีกองคาราวานที่เดินทางค้าขาย ออกจากเมืองเฉิงตูของประเทศจีน เดินทางไปค้าขายที่เมืองลาซาของทิเบต การเดินทางนั้นใช้เวลาประมาณ ๑ ปี แล้วเมื่อถึงเวลาค้าขายสินค้าหมดแล้ว ก็ซื้อหาสินค้าทางด้านทิเบต เดินทางกลับมาขายยังเฉิงตูของประเทศจีน เป็นเวลาอีก ๑ ปี ก็แปลว่า คาราวานเดินทางนั้นใช้เวลาครั้งละ ๒ ปี..!

    ดังนั้น..องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่า พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับนิมนต์จากพุทธศาสนิกชนที่เป็นพ่อค้ากองเกวียน ต้องเดินทางรอนแรมข้ามบ้านข้ามเมือง เป็นเวลาหลาย ๆ เดือน สามารถที่จะอธิษฐานจำพรรษาในกองเกวียนได้

    แล้วการจำพรรษานั้น มีการกำหนดเขตติจีวรวิปปวาส คือ เขตที่ภิกษุสามารถอยู่ได้โดยปราศจากผ้าไตรจีวร ก็คือ ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ครบชุด เหมือนที่กระผม/อาตมภาพใส่ขึ้นธรรมาสน์อยู่ในขณะนี้ อาจจะมีแค่ ๒ ชิ้นก็พอ เขตที่อยู่โดยปราศจากผ้าไตรจีวรนั้น ถ้าหากว่าเป็นการอยู่ในถ้ำ ก็กำหนดเขตภายในถ้ำ แค่บริเวณปากถ้ำ ถ้าหากว่าเป็นใต้ต้นไม้ ก็กำหนดเขตแค่รอบบริเวณเงาไม้ตกลงในเวลาเที่ยง เหล่านี้เป็นต้น แต่การจำพรรษาในกองเกวียนนั้น การกำหนดเขตติจีวรวิปปวาสก็คือ จากหัวขบวนถึงท้ายขบวน ซึ่งเป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร..! ต้องถือว่าเป็นเขตติจีวรวิปปวาสที่ต่างไปจากเขตอื่น ๆ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    อย่างวัดท่าขนุนของเรานั้น ถ้าหากว่าเป็นด้านตะวันออก ก็คือหน้าวัด เราก็กำหนดเขตไว้แค่ริมถนนหลวงหน้าวัด ถ้าหากว่าเป็นเขตด้านทิศเหนือ ก็กำหนดไว้แค่ริมถนนเข้าหมู่บ้าน ถ้าหากว่าเป็นทิศใต้ กำหนดเขตไว้บริเวณลำรางสาธารณะ ถ้าเป็นด้านทิศตะวันตก ก็คือ ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย ในบริเวณนี้เราสามารถที่จะอยู่โดยปราศจากผ้าไตรจีวรได้ แต่ว่าพระภิกษุสงฆ์สามเณรนั้น ควรที่จะมีสมณสารูปที่เรียบร้อย ดังนั้น..ต่อให้ไม่ได้ห่มดองพาดสังฆาฏิ ถ้าหากว่าอยู่ในชุดที่เรียบร้อยสักหน่อย เช่น การห่มผ้าเป็นปริมณฑล ก็จะเป็นที่น่าดูน่าชมมากกว่า

    เมื่อพระภิกษุสงฆ์อธิษฐานพรรษาในที่ใดที่หนึ่งแล้ว เกิดคุณงามความดีขึ้นมาหลายประการ ประการแรกก็คือ พุทธศาสนิกชนในสถานที่นั้น มีโอกาสที่จะได้ทำบุญอยู่เนือง ๆ เนื่องเพราะว่าสมัยก่อน ถึงเวลาพระจาริกรอนแรมไป บริเวณนั้นก็หาพระไม่ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ญาติโยมที่ปรารถนาในกองบุญการกุศล ก็จะมีพระให้ทำบุญตลอดทั้งพรรษา

    ประการต่อไปก็คือ พระภิกษุสงฆ์ที่ยังเป็นผู้ใหม่ ก็จะได้อยู่ใกล้ชิดพระเถระ หรือว่าครูบาอาจารย์ ได้รับฟังคำสั่งสอน ให้ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง ให้ประพฤติปฏิบัติในเรื่องของสมาธิภาวนา เพื่อประโยชน์ของตนอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น แล้วเมื่อใกล้ครูบาอาจารย์ ก็ยังได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาการต่าง ๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านบางทีก็สอนให้เรายังไม่ทันจะหมด

    ดังนั้น..สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าไม่มีการจำพรรษา บางทีก็ไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีการจำพรรษาแล้ว ความดีความงามที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ก็ทำให้ญาติโยมทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธา เมื่อนาน ๆ ไปเห็นว่ามีพระอยู่ใกล้แล้วสะดวกกว่า ก็ช่วยกันสร้างเสนาสนะ เป็นกุฏิบ้าง เป็นศาลาบ้าง เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำ จนกระทั่งกลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นมาจำนวนมาก อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    คราวนี้..การที่พระสงฆ์ของเราอยู่จำพรรษานั้น ถ้ามีเรื่องเร่งด่วน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่า ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ ให้สามารถที่จะลาไปเพื่อกิจต่าง ๆ ได้ โดยไม่ขาดพรรษา เรียกว่า "สัตตาหะกรณียะ" คือ มีกิจจำเป็นสามารถไปได้ไม่เกิน ๗ คืน โดยที่บอกกล่าวต่อสงฆ์ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ไปได้

    เรื่องสำคัญที่ระบุเอาไว้ก็มีว่า..
    พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย สามารถที่จะลาไปเพื่อดูแลรักษาได้ แต่ต้องไม่เกิน ๗ วัน

    วัดพัง..ต้องไปหาทัพพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัดสร้างวัด สามารถไปได้ไม่เกิน ๗ วัน
    เนื่องเพราะว่าสมัยก่อนถ้าเกิดพายุฝนขึ้นมา บางทีกุฏิก็โดนพังไปเสียทั้งหลัง จำเป็นต้องไปหาไม้ หาแฝก หาเถาวัลย์มา เพื่อซ่อมเพื่อสร้างกุฏิ แต่ว่าสมัยนี้ข้อนี้ไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะว่าเราต้องการวัสดุก่อสร้างอะไร ยกหูโทรศัพท์โทรกริ๊งเดียว เขาก็มาส่งให้ถึงวัด

    ข้อต่อไปก็คือ ได้รับกิจนิมนต์ สามารถไปเพื่อเจริญศรัทธาได้
    ถ้าหากว่ามีทายกนิมนต์ เราก็สามารถที่จะไปได้ แต่ว่าสมัยก่อนนั้นการไปไม่ใช่ใกล้ ๆ แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นการเดินเท้า ไม่สามารถที่จะกลับได้ภายในวันเดียว จึงต้องลาไปโดยสัตตาหะกรณียะ กลับมาก่อนที่คืนที่ ๗ จะผ่านพ้นไป

    อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ต่างวัดจะสึก ไปเพื่อห้ามปรามได้
    แต่ว่าข้อนี้..หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านวินิจฉัยเอาไว้ว่า ในพระไตรปิฎกนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่า พระภิกษุรูปนั้นถ้าอยู่ต่อจะสามารถบรรลุอรหัตผล องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงให้พระภิกษุไปเพื่อห้ามปรามเอาไว้ แต่ว่า..สมัยนี้โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลเป็นของยาก ถ้าเพื่อนพระที่อยู่ต่างวัดจะสึก เราใช้โทรศัพท์ไปห้ามปรามก็ได้ ถ้าไม่ฟังขึ้นมาจริง ๆ ก็ปล่อยท่านสึกไปเถิด
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    ในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏอยู่ในกรณีเหล่านี้ อย่างเช่นว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก แล้วต้องเข้าโรงพยาบาลเกิน ๑ วัน ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น สามารถที่จะใช้สัตตาหะกรณียะได้ โดยอ้างอิงจากข้อพิจารณาพระธรรมวินัย ที่เรียกว่า "มหาปเทส ๔ ประการ"ที่องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้ เพื่อทรงวินิจฉัยว่า พระวินัยของพระองค์ท่านนั้น สามารถที่จะอนุโลมได้อย่างไรบ้าง ก็คือ เรื่องที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร เรื่องนั้นย่อมสมควร นี่เป็นข้อหนึ่ง

    การที่พระองค์ไม่ได้อนุญาตไว้ แปลว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่า ถ้าปล่อยให้พระป่วยหนัก อยู่กับวัดกับวาเอง สมัยก่อนก็ไม่ได้มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) วิ่งมาดูแลให้ถึงวัด ก็ควรที่จะไปอยู่โรงพยาบาล แล้วถ้าหากว่าอาการหนักเกินกว่าที่ อสม. ประจำหมู่บ้านจะจัดการไหว ก็ต้องไปอยู่โรงพยาบาลอยู่ดี ถ้าลักษณะนั้น ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะขอไปโดยสัตตาหะกรณียะได้

    เพียงแต่ว่า..ถ้าเกิน ๗ วันอีกรอบหนึ่งจะจัดการอย่างไร ? ก็ให้ทางเจ้าอาวาสมอบหมายพระภิกษุสัก ๔ รูป เป็นตัวแทนคณะสงฆ์ ไปรับการขอสัตตาหะฯ ซ้ำ ที่โรงพยาบาล ให้ท่านรักษาตัวต่อไปจนกว่าจะหาย โดยที่ทำการขอเป็นระยะ ๆ ไปครั้งละ ๗ วัน

    อีกประการหนึ่งก็คือ..การที่พระภิกษุสามเณรบางรูป ต้องไปศึกษาในที่ไกลจากวัดวาของตน อย่างเช่นว่าไปเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น สิ่งนี้เราไปศึกษาเล่าเรียน ก็เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา นำเอาความรู้ความสามารถมาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ก็ต้องพิจารณาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตไว้ ก็เป็นการไม่สมควร แต่เมื่อท่านทั้งหลายไปเพื่อพระพุทธศาสนาลักษณะแบบนี้ พิจารณาแล้ว ก็ถือว่า..เป็นเรื่องที่สมควร อนุญาตให้ไปได้ เป็นต้น
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    เรื่องการตีความพระธรรมวินัยนั้น เราต้องไม่เข้าข้างตนเอง เพราะว่า การเข้าข้างตนเอง หรือว่าถือเลศนัยบางอย่าง เพื่อที่ต้องการความสะดวกสบายเฉพาะตน อาจจะทำให้เราเสียผลในการปฏิบัติธรรมไปได้ อย่างเช่นว่า ส่งไลน์หรือโทรศัพท์ไปหาโยมว่า ให้นิมนต์หน่อยจะได้ลาออกจากวัดได้ในช่วงเข้าพรรษา ถ้าลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของญาติโยม แต่ว่าร่วมกันหาเลศเพื่อที่จะออกจากวัด ถ้าลักษณะอย่างนั้นก็ถือว่าไม่สมควร ปรับให้ขาดพรรษาไปเลยก็ได้

    คราวนี้..การขาดพรรษาของพระภิกษุนั้น ท่านเองไม่ได้พรรษา ก็ต้องไปนั่งต่อท้ายพระที่บวชพรรษาเดียวกัน หรือว่าปีเดียวกัน จะมีสิทธิ์อยู่เหนือก็เฉพาะพระใหม่ที่บวชมาหลังจากนั้นเท่านั้น ก็แปลว่า ท่านบวชได้แต่ระยะเวลา แต่ไม่นับอายุพรรษา ต้องไปกราบเพื่อนฝูงของตนเองพรรษาเดียวกันที่บวชทีหลังด้วย เพราะว่าอายุพรรษาของเขามีมากกว่า

    เรื่องพวกนี้..เป็นเรื่องที่พระภิกษุสงฆ์ของเราต้องศึกษา ญาติโยมทั้งหลายของเราก็ดูแค่ว่า ในช่วงของการเข้าพรรษานั้น เราจะสร้างบุญสร้างกุศลอะไรให้เต็มที่เต็มทางได้บ้าง หลายท่านก็ตั้งใจว่าจะงดเหล้าตลอดพรรษา หลายท่านก็ตั้งใจจะรักษาศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ ให้ตลอดพรรษา หลายท่านก็ตั้งใจว่า จะฟังเทศน์ฟังธรรมให้ได้ทุกวันพระตลอดพรรษา

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราก็นำเอาโอกาส คือ การเข้าพรรษา..นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามทำให้ได้ตามที่เราตั้งใจเอาไว้ เท่ากับว่าเราใช้ระยะเวลา หรือเทศกาลสำคัญของพระภิกษุสามเณร มาบังคับตัวเราให้สร้างคุณงามความดีด้วย ถือว่าเป็นความฉลาดในการที่จะบังคับตนเอง ให้ทำในสิ่งที่วันปกติเราไม่สามารถที่จะกระทำได้ ในลักษณะอย่างนี้..ถ้าท่านทำได้ตลอดพรรษาแล้ว ก็ควรที่จะรักษาสืบ ๆ ไป โดยที่ไม่กลับไปล่วงละเมิดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนเดิม ก็จะเป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดเท่าที่จะทำได้
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,389
    ค่าพลัง:
    +26,204
    รับหน้าที่วิสัชนามาในวัสสกถาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นที่สุด

    ขอได้โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูลผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดจนถึงปฏิภาณและธนสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง

    รับหน้าที่วิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์วันเข้าพรรษา ณ วัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)

     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...