เทศน์วันอาสาฬหบูชา วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 กรกฎาคม 2024 at 11:20.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    เทศน์วันอาสาฬหบูชา
    วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

    เทศน์เริ่มนาทีที่ ๕๕.๐๐


    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย ติฯ

    ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในปุญญกถา ว่าด้วยการสั่งสมบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบารมี เสริมสร้างกุศลบุญราศี แก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

    ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันอาสาฬหบูชานั้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี จะว่าไปแล้วก็เป็นวันคล้ายกับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสีแห่งชมพูทวีปในยุคนั้น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    องค์สมเด็จพระภควันได้แสดงปฐมเทศนา หลังจากที่ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ๒ เดือนผ่านไป จนกระทั่งโปรดให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีอัญญาโกณฑัญญะเถระ เป็นต้น ได้รับฟังธรรมที่พระองค์ท่านบรรลุมรรคผล แล้วนำสรุปลงมาว่า สิ่งที่เป็นส่วนสุดสองอย่าง ที่บรรพชิตทั้งหลายไม่ควรที่จะซ่องเสพเสวนาด้วยก็คือ การคลุกคลีกับกามมากจนเกินไปประการหนึ่ง การทรมานตนจนเกินไปประการหนึ่ง

    สิ่งที่ควรจะกระทำนั้นเรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" คือ หนทางสายกลาง ซึ่งประกอบไปด้วย
    "สัมมาทิฏฐิ" คือ ความเห็นชอบ คือเห็นว่า..ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา

    "สัมมาสังกัปปะ" ความดำริชอบ คือ ความคิดว่า..เราต้องการพ้นทุกข์ เราต้องการออกจากกาม เป็นต้น

    "สัมมาวาจา" การพูดดีพูดชอบ ก็คือ เว้นจากการโกหก เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียดให้คนแตกร้าวกัน เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์

    "สัมมากัมมันตะ" มีการกระทำที่ถูกต้อง ก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

    "สัมมาอาชีวะ" ก็คือ เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ประกอบอาชีพที่ไม่ผิดทั้งกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรม

    "สัมมาวายามะ" มีความเพียรพยายามที่ถูกต้อง ก็คือ เพียรละชั่ว เพียรทำดี เพียรที่จะไม่ให้ความชั่วเข้ามาสู่ใจ และเพียรรักษาความดีเอาไว้

    "สัมมาสติ" คือ ตั้งสติไว้ในทางที่ชอบ คือ..มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า เราจักต้องตาย ถ้าหากว่าตายแล้วเราจะไปไหน ก็ย่อมเลือกว่าเราจะไปในภพภูมิที่ดี ในเมื่อมีสติเช่นนี้ก็จะทำให้เราเสริมสร้างแต่สิ่งที่ดี ๆ เท่านั้น เพื่อที่เราจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ขณะเดียวกันก็ลด ละ เลิก ในสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งปวง เพื่อท้ายที่สุดจักได้หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

    และท้ายที่สุด "สัมมาสมาธิ" การดำเนินสมาธิไปในทางที่ชอบ ก็คือ สร้างเสริมสมาธิให้เกิดขึ้น แล้วนำเอากำลังสมาธินั้นไปใช้ในการตัดละกิเลส รัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ ให้จืดจางเบาบางลง จนในที่สุดก็หมดใจจากใจของตนเอง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    โดยที่สรุปลงมาเป็นหลัก "ไตรสิกขา" คือ "ศีล สมาธิ และปัญญา" อย่างเช่นว่า
    "สัมมากัมมันตะ" การกระทำที่ถูกต้อง
    "สัมมาอาชีวะ" การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง
    "สัมมาวาจา" การพูดที่ถูกต้อง
    สามข้อนี้จัดเป็น "ศีล"

    "สัมมาวายามะ" ความเพียรที่ถูกต้อง
    "สัมมาสติ" การตั้งสติไว้ถูกต้อง
    และ "สัมมาสมาธิ" การดำเนินสมาธิให้ถูกต้อง
    จัดอยู่ในหมวดของ "สมาธิ"

    ส่วน "สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นที่ถูกต้อง
    และ "สัมมาสัมกัปปะ" การดำริที่ถูกต้อง
    นั้นจัดอยู่ในส่วนของ "ปัญญา"

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าจะเรียงตาม "มรรคมีองค์ ๘" แล้วก็สรุปเป็น "ปัญญา ศีล สมาธิ" แต่เรามักจะใช้คำว่า "ศีล สมาธิ และปัญญา" เป็นไปตามลำดับความยากง่ายในการปฏิบัติ

    ก็คือ..เราท่านสามารถรักษา "ศีล" ได้ง่ายที่สุด หลังจากนั้นแล้วก็เพียรพยายามสร้าง "สมาธิ" ให้เกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก ต่อไปก็นำเอากำลังสมาธินั้นไปพิจารณาตัดละสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเรา-เขา และความยึดมั่นถือมั่นในโลกนี้ เรียกว่า "ปัญญา" เป็นส่วนที่ลำบากยากขึ้นไปอีก

    เราจึงมักจะเรียกกันตามความยากง่ายว่า "ศีล สมาธิ และปัญญา" ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ไตรสิกขา" คือ สิ่งที่พุทธบริษัททั้งหลายจำต้องศึกษาทั้ง ๓ อย่างด้วยกัน

     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    อัญญาโกณฑัญญเถระในสมัยเป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕..เมื่อได้ฟังธรรมในส่วนนี้แล้วก็ได้เห็นชัดเจนว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดถ้ามีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ก็คือ..เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมสลายตายพังไปในที่สุด จึงกลายเป็นบุคคลที่มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ประทานการบวชให้ กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า มีพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์ในวันอาสาฬหบูชานี่เอง

    แล้วเราท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็ได้นำเอาความสำคัญ ก็คือ วันเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา แล้วพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้รู้ทั่วถึงธรรม กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกของโลก มีพระรัตนตรัยที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา จึงได้พากันปฏิบัติในส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศลของแต่ละคน

    อย่างเช่นว่า ท่านทั้งหลายเมื่อมาถึงวัดแล้ว ก็ได้ใส่บาตรก่อนเป็นอันดับแรก การใส่บาตรนั้นเป็นการให้ทาน ตัดความตระหนี่ถี่เหนียวในใจของตนลงไป เรายิ่งให้ทานมากเท่าไร เราก็สามารถที่จะตัดความโลภในใจเราลงได้มากเท่านั้น คำว่า "ให้ทานมาก" ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้สิ่งของมาก ให้เงินทองมาก หากแต่หมายความว่า ท่านได้ทำบ่อย ๆ เมื่อทำบ่อย ๆ ก็เท่ากับว่าทำได้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    ในเมื่อเราสามารถที่จะตัดความโลภในใจของเราได้โดยไม่เดือดร้อน เราก็ยังมีการักษาศีล โดยเฉพาะในวันนี้นั้นเป็นการรักษาอุโบสถศีล ซึ่งถือว่าเป็น "ศีลพรหมจรรย์" การรักษาศีลนั้นเป็นการบังคับกาย วาจา ใจ ของเราให้อยู่ในกรอบ ถึงแม้ว่าจะโลภก็ไม่ลักขโมยใคร ถึงแม้ว่าจะโกรธก็ไม่ด่าใคร ไม่ทำร้ายใคร ถึงแม้จะมีความหลง ก็ยังมีกรอบของศีลกันเอาไว้ ไม่ให้เราหลงเตลิดเปิดเปิงไปไกล

    ดังนั้น นอกจากให้ทานแล้ว เรายังมารักษาศีล แล้วขณะเดียวกันทุกท่านก็ตั้งใจในการฟังพระธรรมเทศนา การที่เราตั้งใจเงี่ยหูฟังพระธรรมเทศนานั้น จิตย่อมเกิดสมาธิขึ้น ก็แปลว่า เรามีทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนาในเวลาเดียวกัน

    แล้วนอกจากนั้น ญาติโยมส่วนหนึ่งก็ยังมาถวายเครื่องสังฆทาน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนพรรษา ตลอดจนกระทั่งการร่วมหล่อเทียนพรรษาด้วย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนาเอาไว้ แล้วขณะเดียวกัน เราเองก็ยังได้อาศัยวัฒนธรรมประเพณีทั้งหลายเหล่านี้ ในการสร้างบุญสร้างกุศลแก่ตนโดยไม่ประมาท
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    การที่ท่านทั้งหลายถวายสังฆทานนั้น แปลว่า ท่านถวายต่อพระภิกษุทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้แจกกันในบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหมดที่อยู่ในที่แห่งนั้น หรือว่ามาถึงในที่แห่งนั้น

    โดยปกติแล้ว ญาติโยมทั้งหลายก็อยากจะทำบุญทำกุศลกับพระที่เรารักเรา ไว้วางใจว่า ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่คราวนี้พระทั่ว ๆ ไปที่ศีล สมาธิ และปัญญายังน้อยอยู่ ถ้าหากว่าขาดผู้คนเอาใจใส่ ท่านไม่สามารถจะดำรงสมณเพศอยู่ได้ อาจมีการสึกหาลาเพศกันไปหมด พระพุทธศาสนาของเราก็ตั้งอยู่ไม่ได้

    ดังนั้น..เมื่อญาติโยมทั้งหลายตั้งใจถวายสังฆทาน ก็แปลว่า พระหนุ่มเณรน้อยทั้งหมดนั้น มีสิทธิ์มีส่วนในการร่วมกินร่วมใช้ด้วยทั้งหมด ทำให้สามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้ เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานแล้ว ก็นำไปเผยแผ่ต่อญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะถ้าการปฏิบัติธรรมสำเร็จสัมฤทธิ์ผลลงเต็มที่ บุคคลที่ทำได้มักจะบอกของยากให้ง่าย เราท่านทั้งหลายก็จะได้ปฏิบัติตามแล้วได้รับผลเช่นเดียวกัน

    ดังนั้น..สังฆทานจึงจัดว่าเป็น "ทานค้ำจุนพระพุทธศาสนา" องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ใน 'มหากัมมวิภังคสูตร' ว่า แม้แต่ถวายทานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองเป็น ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    ในส่วนของเทียนพรรษานั้น ท่านทั้งหลายถวายมา ทางวัดท่าขนุนของเราแต่เดิมก็จุดเอาไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องเพราะว่าของเดิมนั้น เราถวายเทียน เพื่อให้พระท่านได้มีแสงสว่างในการศึกษาตำราต่าง ๆ ในยามค่ำคืน แต่มาในปัจจุบันของเรามีไฟฟ้าเสียเป็นส่วนมาก ทางวัดท่าขนุนของเราจึงปรับเอาเทียนพรรษานั้นมาหล่อเป็นผางประทีป เพื่อจุดถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นไปตามเจตนาปรารภของญาติโยมทั้งหลาย

    อานิสงส์การถวายแสงสว่างเป็นพุทธบูชานั้น ท่านทั้งหลายจะเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ถ้าหากว่าศึกษาในด้านของวิชชา ๓ อภิญญา ๖ หรือปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ซึ่งเป็นหลักการศึกษาประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ท่านก็จะเป็นผู้มีทิพจักขุญาณอันเลิศ แบบพระอนุรุทธเถระ

    ซึ่งพระอนุรุทธเถระนั้นท่านเป็นพระวิชชา ๓ ถ้าจะว่าไปแล้วเหมือนกับพระจบปริญญาตรี แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตั้งพระอนุรุทธเถระไว้เป็น เอตทัคคะบุคคล คือ เป็นผู้ที่เลิศกว่าคนอื่นทั้งหมด ในด้านของทิพจักขุญาณ ก็แปลว่าต่อให้จบปริญญาตรี แต่ความสามารถด้านนี้ของท่านมากกว่าผู้ที่จบปริญญาเอกเสียอีก
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    ในส่วนของผ้าอาบน้ำฝนนั้น ถ้าญาติโยมทั้งหลายเกิดใหม่เมื่อไร ในส่วนของผ้าผ่อนท่อนสไบท่านก็จะอุดมสมบูรณ์ แล้วขณะเดียวกัน ถ้าท่านถวายมาเป็น 'ผ้าไตรจีวร' คือ อย่างน้อยกว้างคืบยาวคืบขึ้นไป อานิสงส์ส่วนนี้ ถ้าท่านเกิดเป็นหญิงจะมีเครื่องประดับชื่อว่า "มหาลดาปสาธน์" ซึ่งมีราคาหลายล้านบาทในปัจจุบันนี้

    ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเกิดเป็นชาย ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีโอกาสอุปสมบทโดย "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "เอหิภิกขุ..ขอเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นแห่งทุกข์โดยชอบเถิด" ท่านก็จะมีผ้าไตรจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ลอยมาสวมตัวให้ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาผ้าผ่อนท่อนสไบที่ไหน อานิสงส์พิเศษทั้งหลายเหล่านี้ จะพึงมีพึงเกิดแก่ญาติโยมทั้งหลาย เพราะว่าเราได้กระทำในส่วนของทานเอาไว้

    ในส่วนของศีลนั้น ท่านทั้งหลายรักษาไว้ได้ ก็จะเกิดเป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจที่ดีงาม แล้วขณะเดียวกัน การรักษาศีลที่สูงขึ้นไป คือ "ศีลอุโบสถ" เป็นการบังคับตนเองอยู่ในกรอบของธรรมะที่สูงยิ่งขึ้น ก็คือ ไม่ละเมิดในส่วนของความเป็นพรหมจรรย์ บุคคลที่รักษาพรหมจรรย์ในเบื้องต้นคือศีล ๘ ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์ อย่างน้อยก็จะเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ หรือถ้าหากว่าท่านทำได้มากกว่านั้น ก็สามารถเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชได้ด้วย

    ในส่วนของปัญญานั้น ก็คือ ท่านตั้งใจฟังธรรม แล้วน้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง ในอานิสงส์ส่วนของปัญญา ไม่ว่าจะเกิดชาติไหน ท่านก็จะไม่อับจนหนทาง มีอุปสรรคทางโลก ก็สามารถที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยง่าย ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรม ก็จะมีปัญญาญาณแก่กล้า สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าสู่พระนิพพานได้ เช่นเดียวกับพระอัญญาโกณฑัญญเถระนั่นเอง
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,850
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,381
    ค่าพลัง:
    +26,191
    เทสนาวสาเน ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมาภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีธรรมของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นที่สุด

    รวมกับกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติที่ท่านทั้งหลายได้ประพฤติในทาน ในศีล ในภาวนามาตั้งแต่ต้น จงรวมกันเป็นผลให้เป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ขอให้ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จสัมฤทธิ์ผลดังมโนรถปรารถนาทุกประการ

    รับหน้าที่วิสัชนามาในปุญญกถาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์วันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...