วัด 30,000 แห่ง คือจุดเปลี่ยน

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 28 เมษายน 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    วัด 30,000 แห่ง คือจุดเปลี่ยน

    คอลัมน์ จิตวิวัฒน์

    โดย ประเวศ วะสี แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


    [​IMG]


    การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำจากสิ่งที่เรามี ไม่ใช่จากสิ่งที่เราไม่มี

    ที่จริงเรามีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด แต่เรามักโหยหาสิ่งที่เราไม่มี เพราะถูกมายาคติครอบ ทำให้ทุรนทุราย ขัดแย้ง ตกเป็นเหยื่อ และเครียด ท่ามกลางความเครียด จิตวิวัฒน์เกิดได้ยาก แต่ความรุนแรงเกิดได้ง่าย ความสงบทำให้จิตวิวัฒน์ได้ง่าย จะเป็นสงบกาย สงบใจ สงบสังคม สงบสิ่งแวดล้อม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือประกอบกัน

    เรามีวัดอยู่ประมาณ 30,000 วัด นี้เป็นทุนหรือทรัพยากรอันยิ่งใหญ่ของเรา ถ้าวัดเป็นแดนสงบของชาติ เราก็จะมีฐานของจิตวิวัฒน์ขนาดใหญ่ กุญแจคือการบริหารจัดการ ถ้าส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการให้วัดมีต้นไม้เยอะๆ มีความสะอาดและร่มรื่น ทำให้มีคนอยากปลีกจากสังคมว้าวุ่นเข้าไปนั่งพักผ่อนหาความสงบ ก็จะมีประโยชน์มาก

    ขณะนี้ผู้คนอยู่ในสังคมการงานที่มีความบีบคั้นสูง จึงมีความเครียดเป็นวิสัย ถ้าหลังอาหารกลางวันหรือตอนเย็นก่อนกลับบ้าน เข้าไปนั่งเงียบๆ ในวัดเสียหน่อย คงจะลดความเครียดลดความดันโลหิตลง หรือเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์เสียหน่อยทำให้จิตใจแช่มชื่นขึ้นจากพุทธคุณ หรือนั่งสมาธิเสีย 10 นาที 15 นาที ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก

    ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ดร.กาบัต-ซิน เปิดอบรมการเจริญสติแบบพุทธ มีคนมาลงทะเบียน 87,000 คน เพราะเขาพบว่าการเจริญสติทำให้จิตใจสงบ มีความสุข สุขภาพดี มีความสัมพันธ์ดี มีปัญญาดี จึงพากันติดใจในธรรมรสแห่งการเจริญสติกันมากขึ้นทุกที

    ถ้าทุกวัดของเราทั้ง 30,000 วัด มีครูสอนการเจริญสติหรือวิปัสสนากรรมฐาน เราก็จะมีฐานแห่งการเจริญสติเต็มประเทศ

    ในสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบัน คนแก่กับเด็กจะถูกทอดทิ้ง มีคนแก่ที่เหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่ที่บ้าน เพราะลูกหลานถูกสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นทำให้ต้องใช้เวลานานในการทำมาหาเงิน ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เด็กกับคนพิการก็เช่นเดียวกัน กลายเป็นสังคมที่ทอดทิ้งกัน

    ลูกหลานก็ไม่ใช่ใจไม้ไส้ระกำอะไร แต่สภาพสังคมเศรษฐกิจมันบีบคั้นที่ทำให้เขาต้องทำอย่างนั้น ตัวเขาเองก็วิตกกังวลและใจคอไม่ดีที่ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ในสภาพเช่นนี้หากวัดจัดให้มีกิจกรรมผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะสังสันทน์กัน ฟังเทศน์ฟังธรรมร่วมกัน รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ผู้สูงอายุก็จะไม่เหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่กับบ้าน แต่จะเป็นอายุวัฒนะที่มีความสุข

    ถ้าเป็นอย่างนั้นลูกอาจพาพ่อแม่มาส่งไว้ที่วัด แล้วไปทำงาน เย็นมารับกลับ ก็จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความบีบคั้นด้วยกันทุกฝ่าย วัดก็จะกลายเป็นกลไกแห่งการเป็นสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

    แล้ววัดจะทำได้จริงหรือ

    หลายคนคิดว่าไม่ได้ ก็คงทำไม่ได้ถ้ายังมีมุมมองแบบเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนมุมมองใหม่ก็ทำได้ เปลี่ยนมุมมองใหม่อย่างไร มุมมองใหม่ 2 อย่างคือ

    หนึ่ง เปลี่ยนจากการมองอะไรๆ เป็นภาระ (burden) เช่น คนแก่คนพิการเป็นภาระของสังคม มาเป็นว่าคนแก่ก็ตาม คนพิการก็ตาม เป็นทุนหรือทรัพยากร (asset) เพื่อการพัฒนา พอเราเปลี่ยนมุมมองจากภาระเป็นทุน ก็จะเห็นช่องทางมากมายที่คนแก่หรือคนพิการจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา วัดและพระก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองว่าวัดและพระคือทุนแห่งการพัฒนา วัดและพระก็จะเป็นทุนของการพัฒนาอันยิ่งใหญ่

    สอง เปลี่ยนมุมมองจากการมองอะไรดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แยกส่วน มาเป็นมองอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ วัดไม่ได้เป็นเรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสังคมด้วย หากสังคมเข้ามาสัมพันธ์กับวัด วัดและพระก็เปลี่ยน สังคมมีทุนเยอะแยะไปหมด ถ้าทุนทางสังคมเหล่านี้เชื่อมโยงกับศาสนา จะเกิดความสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่

    ลองนึกดูถึงความเชื่อมโยงเหล่านี้

    ชุมชนกับวัด เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อศาสนา เครือข่ายครูเพื่อศาสนา เครือข่ายพยาบาลเพื่อศาสนา หรือเครือข่ายอะไรอื่นๆ กับศาสนา แทนที่จะคิดว่าวัดเป็นเรื่องของพระเท่านั้น แล้ววัดก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าสังคมเข้ามาเชื่อมกับวัด ก็ทำอะไรๆ ที่ดีงามได้ทั้งสิ้น

    เห็นไหม เมื่อเราเปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนมุมมองใหม่ทำให้เปลี่ยนจากไม่มีเป็นมี และเปลี่ยนจากทำไม่ได้เป็นทำได้ โดยวิธีนี้สังคมไทยยังมีอะไรๆ อีกมาก และยังทำอะไรๆ ดีๆ ได้อีกมาก จิตวิวัฒน์ไม่ได้แยกส่วนเป็นเรื่องของจิตโดดๆ จิตวิวัฒน์กับสังคมต้องเชื่อมโยงกัน ถ้าจิตวิวัฒน์เชื่อมกับสังคมวิวัฒน์ และสังคมวิวัฒน์เชื่อมกับจิตวิวัฒน์ จะเกิดความวิวัฒน์ที่ช่วยเยียวยาโลก (Heal the World) ได้

    ----------------
    ที่มา: มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01act02280450&day=2007/04/28&sectionid=0130
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 เมษายน 2007

แชร์หน้านี้

Loading...