ยอดธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 9 สิงหาคม 2011.

แท็ก: แก้ไข
  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ยอดธรรม


    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

    [​IMG]

    การปฏิบัติเป็นการหาหลักเข้าสู่ความจริง การเรียนเป็นเหมือนกับเรียนแผนที่ แต่ส่วนมากมักไม่ทำตาม
    “แผนที่” แต่แผนที่ภายนอก กับแผนที่ภายในนี้ผิดกันคนละโลก



    แผนที่ ภายนอก เช่น แปลนบ้านแปลนเรือน หรือแปลนเครื่องปลูกสร้างต่างๆ กับแผนที่บอกถนน บอกสถานที่ใดอยู่ที่ไหน เป็นต้น นายช่างเขาทำตามแปลนนั้น ดูตามไปเรื่อย ๆ ผู้เดินทางดูตามทางที่ปรากฏในแผนที่ แต่หากได้แผนที่ซึ่งไม่เป็นปัจจุบันย่อมจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือรื้อทุบทิ้งไปแล้วแต่ยังปรากฏในแผนที่ นั้นทำให้เข้าใจผิด เดินทางผิดไปได้


    แต่แผนที่ภายใน เช่นอาการ ๓๒ เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ซึ่งท่านสอนให้เรารู้ และฝึกหัดหาประโยชน์จากแผนที่นั้นๆ เป็น “สัจธรรม” ตาย ตัว นับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนปัจจุบันนี้ ส่วนที่เป็นแปลนภายในจิตนั้น จะทำอย่างนายช่างปลูกเรือนให้เป็นไปตามแปลนที่ตนถืออยู่นั้นไม่ได้ เพราะขัดกับหลักปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่เกิดแห่ง “ธรรม” เช่น เรียนและเข้าใจตามตำรับตำรา แล้วมาปฏิบัติ ย่อมจะอดไม่ได้ที่จะมีการคาดคิดเกี่ยวโยงไปถึงตำรา ในเวลาทำสมาธิภาวนา หรือปฏิบัติไปแล้วจะพบว่า จิตจะสงบตัวได้ยาก เพราะถูกรบกวน


    ขณะที่จะปฏิบัติธรรม เราเรียนธรรมมามากน้อยจะนำมาใคร่ครวญหรือพิจารณา ต้องยุ่งกันไปหมด เพราะยังไม่ใช่ “ฐานะของจิต” ที่ จะนำมาพิจารณาใคร่ครวญ นำมาเทียบเคียงกับจิตขั้นขณะจะรวมตัวเพื่อมีกำลัง จึงไม่ควรนำอะไรมายุ่งกวนทั้งนั้น ให้มีแต่อารมณ์แห่งธรรม ที่จะนำเข้ามากำกับรักษาจิต ราวกับ “ชาร์จจิตให้มีพลังภายในตัวเอง” คือ ให้มีความสงบ


    เมื่อ จิตสงบแล้ว ก็เป็นพลังภายในตัว ถึงจะมีความรู้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะมีหลักใจ มีความอบอุ่น มีความร่มเย็น มีความผาสุกภายในตน เพราะความสงบ ซึ่งเป็นการรวมกำลัง นั่น! ไม่เข้าใน “แปลน” เลย! เพราะ ขณะปฏิบัติ ไม่พะวักพะวนในตำรา มีแต่ตั้งหน้าทำสมาธิภาวนาในวงปัจจุบันอย่างเดียว จนเกิดผลเป็นความสงบสุข และอาการที่พึงใจต่างๆ ขึ้นมาในขณะนั้น


    ถ้าจะเข้าก็เข้าใน “แปลน” ที่ว่า “ให้พยายามทำจิตให้สงบด้วยอารมณ์แห่งธรรม” คือ คำบริกรรมอย่างเดียว อย่ายุ่งกับธรรมอื่นใดในเวลานั้น ถ้าปล่อยให้คิดถึงตำราในเวลาทำสมาธิ ใจจะไม่ยอมปฏิบัติเพียงแค่นั้น ยังจะมีความรู้ปลีกย่อยแทรกขึ้นมามาก เข้ามากวนใจจนวุ่นไปหมด จึงหาความสงบไม่ได้ นี่ชื่อว่า “ขัดกันกับแปลนที่ท่านสอน”


    เราได้แปลนอะไรบ้าง กี่แปลน? ท่านกล่าว ธรรมไว้มากมายเพียงใด ก็กว้านเอามายุ่งเราหมด ก็เหมือนว่าเราจะปลูกกระต๊อบสักหลังหนึ่ง แต่ก็เที่ยวกว้านเอาแปลนตึกรามบ้านช่องตั้งร้อยๆ ชั้นมากางดู อย่างนั้นมันก็เข้ากันไม่ได้ แปลนตึกกับแปลนกระต๊อบมันผิดกันราวฟ้ากับดิน แต่นี่เราจะรวมจิตให้เข้าจุดเดียว เหมือนสร้างกระต๊อบ พอมีกำลังแล้ว ค่อยขยายต่อไป ก็เป็นตึกรามบ้านช่องได้


    เมื่อ ถึงขั้นจะควรพิจารณาแล้ว กว้าง แคบ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ มันพิจารณาไปได้หมดทั่วแดนโลกธาตุ เมื่อถึงขั้นควรพิจารณา นั่นแหละ ขั้นนั้นแหละ จะได้หลักฐานพยานขึ้นมาภายในจิต เกิดความรู้ความเห็นต่างๆ จากการพิจารณาของตนขึ้นมา และจะได้สนุกเลือกเฟ้นด้วยปัญญา อันไหนผิด อันไหนถูก และค้นคว้าหาธรรมะที่เราเคยเรียนมาแล้วนั้น เข้ามาเทียบเคียงกับเหตุกับผล จนกระทั่งลงกันแล้วก็ปล่อยวางได้ ทั้งๆ ที่เราเข้าใจชัดเจน ยังต้องหาหลักฐานเข้ามาสนับสนุนอีกทีหนึ่ง เพื่อความสนิทใจ แน่ใจ


    นี่ชื่อว่า “ปัญญา” ไม่ใช่ว่า ถ้าไม่สงสัยจะเอาธรรมอันนั้นมาเทียบทำไม ธรรมนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ธรรมปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ นำ “พุทธสมบัติ” กับ “อัตสมบัติ” ที่ตนปฏิบัติได้มาเทียบเคียงกันดู ถ้าตรงกันแล้วก็ยอมรับ และปลงใจสนิท หายกังวล


    เฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติดังที่ว่า “สัจธรรม” ก็ดี “สติปัฏฐานสี่” ก็ดี ท่านพูดเกี่ยวโยงกันไป เวลาเราปฏิบัติแบบนั้น คือ พิจารณากายแล้ว พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่ผิดวันยังค่ำ! แน่ะ! เพราะธรรมชาตินี้เกี่ยวโยงกันอยู่ตลอดเวลา เราจะพิจารณาในแง่ใด ก็พิจารณาได้ เมื่อถนัดแง่ใด ที่ควรพิจารณาก่อน


    ส่วนมาก พิจารณากาย ทีนี้เวลา “เวทนา” เกิดขึ้น มันก็ต้องปล่อย “กาย” ไป จับ “เวทนา” แล้วเข้ามาผสมผเส คละเคล้ากันกับ “กาย” แยกระหว่าง “เวทนา” กับ “กาย” ให้เข้าใจกันได้ชัดเจน แล้วแยกระหว่าง “เวทนาของกาย” กับ “เวทนาของจิต” เทียบเคียงกันอีก แยกส่วนแบ่งส่วนกันอีก เพราะ “กาย, เวทนา, จิต, ธรรม” อยู่ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ก็แยก “กาย” คือ พิจารณา “กาย” และแยก “เวทนา” ให้ทราบว่า กาย กับ เวทนา เป็นอันเดียวกันหรือไม่ นั่นแน่ะ! และ แยกจิต แยกอารมณ์ ที่เป็นอยู่ภายในจิต ให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ไม่ใช่อันเดียวกันกับจิต พูดเพียงเท่านี้ก็ครอบหมดแล้วใน “สติปัฏฐานสี่”


    เรา จะแยกแยะ ไปทำทีละบทละบาท ทำทีละเรื่องละราว แล้วค่อยก้าวเดินเหมือนเราก้าวขาไปนั้นไม่ได้ ไม่ถูก นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ คือ พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งของ “สติปัฏฐานสี่” หรือของ “สัจธรรมสี่” หากเกี่ยวโยงกันไปเอง เพราะเป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน ท่านว่า “กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ” อย่างนี้เป็นต้น พิจารณา กายในกาย คำว่า “กายในกาย” ก็ หมายถึง อาการอันหนึ่งของกายทั้งหลายที่มีอยู่หลายชิ้นหลายอันด้วยกัน เป็นต้นเหตุเสียก่อน เมื่อพิจารณากายส่วนนี้ พอเข้าใจแล้ว ก็ซึมซาบกันไปเองอันเป็นเหตุจะให้สนใจทราบส่วนนั้นส่วนนี้ต่อ ๆ ไป แล้วค่อยกระจายกันไป กระจายกันไป จนหมดภายในร่างกาย คือ รอบไปหมด เข้าใจไปหมด


    “กายในกาย” เช่น “เกสา” อย่างนี้ จะพิจารณา “ผม” เส้นหนึ่งก็ตาม แต่จะเกี่ยวกับกี่เส้นของผม แล้วเกี่ยวโยงไป “อวัยวะ” กี่ ส่วนกี่อัน มันกระเทือนกันไปหมด ซึมซาบกันไปหมด เพราะเกี่ยวเนื่องกัน พิจารณาอะไรก็ตามย่อมเป็นอย่างนั้น โดยหลักของการพิจารณาทางภาคปฏิบัติ ที่ท่านดำเนินมา


    “เวทนา” มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เอ้า จับเอาจุดใด จุดหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่เด่นมากขึ้นมาพิจารณา จุดไหนที่ว่าเป็น “ทุกข์” เด่นกว่าเพื่อน กำหนดจุดนั้นเป็นต้นเหตุก่อน แล้วก็ซึมซาบไปหมดในบรรดาเวทนาทั้งหลาย เพราะมันเกิดขึ้นที่ไหน มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “จิต” ดวงเดียว พอพิจารณา “เวทนา” จิตมันก็วิ่งเข้าหากันทันทีและทำการแยกแยะกัน เพราะ “สติปัฏฐานสี่” กายานุปัสสนา เวทนา จิตตา และธรรมานุปัสสนา เกี่ยวข้องกันอย่างนี้ อย่างไรเล่า” “เวทนานอก” ก็หมายถึง “กายเวทนา” ที่เกิดความสุข ความทุกข์เฉย ๆ มีอยู่ตามร่างกายส่วนต่าง ๆ “เวทนาใน” หมายถึง ทุกขเวทนาภายในใจ สุขเวทนาภายในใจ และอทุกขมสุขเวทนาภายในใจ ไม่ทุกข์ ไม่สุข เฉย ๆ ก็จัดเป็นเวทนาเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ภายในจิตของสามัญชนทั่วไป


    เวทนา ทั้งสามนี้ แม้ภาวนา ใจเข้าสู่ความสงบแล้ว ก็มีสุขเวทนาอยู่ด้วยเหมือนกัน ปกติก็มี ส่วนมากมันมีทุกขเวทนาภายในใจ ถ้าเราไม่พิจารณา เช่น ไม่เคยปฏิบัติธรรมเลย เวทนาทั้งสามนี้ก็มี แต่นี่ก็เป็นเวทนาแบบ “โลก ๆ” ที่มีกัน ไม่ได้เป็นเวทนาที่เกี่ยวกับธรรมของผู้ปฏิบัติธรรม


    เวลาเราปฏิบัติธรรมเข้าไป จิตใจเรามีความสงบเย็นใจ นี่เป็น “สุขเวทนา” จิต ไม่รวมสงบลงได้ตามต้องการ เกิดความทุกขเวทนาทางกายทางใจขึ้นมา บางที่เหม่อลอยอยู่บ้าง อะไรบ้าง เฉย ๆ เสียบ้าง จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ คำว่า “เหม่อลอย” อะไรอย่างนี้อยู่ภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ไม่ได้หมายความถึง เหม่อลอยแบบคนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย มันเป็นภายในจิตเอง นี้เป็น “อทุกขมสุขเวทนา” เหมือนกัน


    ตอนนี้เรายังไม่ทราบ ตอนที่มันเป็นอยู่อย่างเด่น ๆ นี้ เรายังไม่ทราบ เพราะยังไม่มีปัญญา ต่อเมื่อจิตมีความละเอียดเข้าไป มีอะไร อาการใด ปรากฏขึ้นมาย่อมทราบได้ และค่อยทราบไปตามลำดับๆ ตามกำลังของสติปัญญาของตนเอง สิ่งเหล่านี้แลเป็นเจ้านายเหนือหัวของจิต เอ้า พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียบ้าง เพราะความจริงเป็นเช่นนั้นมาดั้งเดิม


    จิต นี้เป็นภาชนะสำหรับรองรับ หรือเป็นม้านั่งของเขานั่นเอง เขามานั่งตรงนั้นแหละ หรือเป็นส้วมก็ได้ ถ่ายรดลงตรงนั้นแหละ มีอะไรก็ขึ้นไปบนจิตนั่นแหละ เดี๋ยวทุกข์โดดขึ้นมาถ่าย เดี๋ยวสุขเกิดขึ้นมาถ่าย เดี๋ยวอทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นมาถ่าย ถ่ายอย่างนั้น! จิตนีก็ยอมให้เขาถ่ายอยู่นั่นแหละ เพราะไม่มีสติปัญญาที่จะสลัดปัดทิ้งสิ่งเหล่านั้นออกได้ ไม่ให้มันมาถ่าย! ฉะนั้น จึงต้องอบรมสติปัญญาขึ้นให้มาก เพื่อต่อสู้กัน


    “สติ” เป็นสิ่งสำคัญต้องตามติดอยู่เสมอ เพราะเป็นหัวหน้างาน ไม่ว่า “ปัญญา” จะสอดแทรกไปทางไหน คิดอะไรๆ สติตามแนบไปด้วย ปัญญาก็ไตร่ตรองไป สติก็ตามไปจึงไม่เป็น “สัญญา” พอเผลอสติเป็น “สัญญา” ไป ได้ ตามกำลังของจิตที่เพิ่งฝึกหัดค้นคว้าใหม่ๆ แต่เมื่อมีความชำนิชำนาญทั้งด้านสติทั้งด้านปัญญาแล้ว ย่อมติดแนบไปด้วยกันเลย จึงพูดได้ว่า เวลาไหนน่ะเวลาที่จิตเผลอ ไม่มีเลย เว้นแต่เวลาหลับเท่านั้นที่สติปัญญาไม่ต้องทำงานขณะนั้น กิเลสก็พักงานบ้าง


    เมื่อถึงขั้นนี้ไม่มีเวลาที่จิตเผลอ ท่านจึงเรียกว่า “มหาสติ มหาปัญญา” เผลอที่ตรงไหน? เพราะมีกับผู้รู้นี้ตลอดเวลา คือสติกับปัญญา มีอยู่ด้วยกันภายในจิตดวงเดียวนี้ และกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จะเผลอไปที่ไหน! นั่น เมื่อสติปัญญามีต่อเนื่องกันแล้ว พูดได้อย่างนั้น


    แต่ ก่อนจิตเคยล้มลุกคลุกคลานมาสักเท่าใดแล้วเราไม่ทราบได้ เมื่อถึงขั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว พอจิตกระเพื่อมพับก็ทันกันทันทีๆ คิดเรื่องอะไรทันกันโดยลำดับๆ ยิ่งเป็นเรื่องของกิเลสแล้ว สติปัญญายิ่งรู้รวดเร็ว ถ้าเป็นจิตธรรมดาก็ไม่รู้ แม้เขาขึ้นถ่ายบนศีรษะวันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ไม่รู้ได้


    ภาค ปฏิบัติ ให้ปฏิบัติด้วยตนเองรู้ด้วยตนเองนั้นแลมันชัดเจนดี ถูกหรือผิดขอให้เห็นประจักษ์กับตัวเอง ให้ทราบภายในตัวเองนั้น จึงเป็นที่แน่ใจ เมื่อเราได้ปฏิบัติ และได้รู้แล้ว ย่อมอาจหาญที่จะพูดออกมา และอาจหาญอยู่ภายในจิต ไม่สะทกสะท้านว่าจะพูดผิด หรือด้นเดาต่างๆ เป็นความแน่ใจตัวเองจากการปฏิบัติ


    การที่จะ “เปิดสิ่งที่ปกคลุมหุ้มห่อจิตดวงนี้” ออกได้ต้องยาก สำหรับคนที่มีความอ่อนแอยิ่งยากใหญ่ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะหาเรื่องใส่ตัวเอง เวลาจะสร้างความดีและเวลาจะเปิดกรุ “อวิชชา” ตัณหา” ออกจากใจ ส่วนใหญ่ของการ เปิดกรุ “วัฏจักร”นั้น สำคัญที่ความมุ่งมั่น นี่แหละ เป็นการบุกเบิกได้อย่างดี สัตว์โลกจึงไม่อยากแตะต้องไม่อยากเปิด


    ความ มุ่งมั่นจะพาให้รู้ให้เห็นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า เป็นธรรมวิเศษวิโสอย่างไรบ้าง เมื่อมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมประเภทนั้น มีอย่างเต็มใจอยู่แล้ว ถึงจะยากลำบากเพียงไร ก็ไม่นำความยากลำบากมาคิดมาเป็นอุปสรรค มีแต่ความอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจ ชวนให้คิด ชวนให้ปรุงแต่ง ให้พินิจพิจารณาไปตาม “อาการแห่งธรรม” ซึ่ง ตนอยากรู้อยากเห็นนั้นโดยถ่ายเดียว ทำให้เพลิดเพลินไปทั้งวันทั้งคืน เพลินอยู่กับการอยากรู้อยากเห็น เพลินอยู่กับผลที่ได้รับเป็นลำดับๆ เพลินในการค้นคว้า ตัด ฟันกิเลสอาสวะ ซึ่งไม่มีอยู่ที่ไหนแต่มีอยู่ภายในจิตนี้เป็นสำคัญ นอกจากจิตไปคว้าเอาอะไรที่เป็นโทษ ที่เป็นพิษ มาจากภายนอก แล้วนำเข้ามากลุ้มรุมตัวเองให้รุ่มร้อนไปเปล่าๆ จิตจำต้องค้นคว้าพินิจพิจารณาแก้ไขตัดฟันอยู่ภายในนี่แหละ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หุ้มห่อจิตใจ ใจเองทำให้เกิดความคึกคะนอง ไปเที่ยวกว้านเอามาเผาตัวเอง เพราะไม่มีปัญญาสามารถหลบหลีกหรือแก้ไข จึงต้องสั่งสมสติ สั่งสมปัญญาขึ้นให้มาก ท่านสอนเสมอเรื่องสติ เรื่องปัญญา “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย” ใช้ปัญญาใคร่ครวญดีเสียก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพื่อกันความผิดพลาด ไม่ว่ากิจนอกการใน สติกับปัญญาเป็นสำคัญตลอดไป!


    แต่ เวลาจิตจะคิดอะไรนั้นมักไม่ใคร่ครวญก่อน แม้จะไม่ใคร่ครวญในขณะกำลังคิดขึ้นมาก็ตาม แต่ใคร่ครวญในขณะที่จิตจะไปสัมผัสกับเรื่องอะไร แล้วเกิดผลขึ้นมาให้เกิดความเดือดร้อนก็ยังดี แต่มักมองไม่เห็นโทษความคะนองของตนเลยนั้นแล จึงทำให้ไม่เกิดความเข็ดหลาบ แล้วก็คิดและทำอยู่ร่ำไป ผลจึงเป็นทุกข์ไม่หยุด


    เราอย่าคาดอย่าหมายการปฏิบัติธรรม สวรรค์อยู่ที่ไหน อย่าไปคาด พรหมโลกอยู่ที่ไหน? อย่าไปคาด เป็นการเสียเวลา ทุกข์อยู่ที่ไหน? สมุทัยอยู่ที่ไหน? นิโรธอยู่ที่ไหน? มรรคอยู่ที่ไหน? อย่าไปคาดให้นอกเหนือไปจาก “กาย” กับ “จิต” ซึ่งสัมพันธ์กัน และสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เอาตรงนี้ เพื่อให้เห็นความจริงตามหลักธรรม


    ภาย นอกก็จะรู้ ภายในก็จะรู้ เมื่อรู้ภายในแล้ว ยิ่งจะเห็นไปทุกสิ่งทุกอย่างในบรรดาสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายตามนิสัย และความสามารถของตนโดยไม่คาดไม่หมาย หากจะรู้ไปเองสำคัญที่ภายในยังไม่รู้ตัวเอง อยากจะรู้แต่สิ่งภายนอกนี้เป็นการก่อกวน และทำความยุ่งเหยิงแก่ตัวเอง โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร


    ถ้าจะสงเคราะห์เข้ามาหาตัวเรา เพื่อทราบความจริงละก็ นรก คือ อะไร? และ อยู่ที่ไหน? ใครอยากจะรู้นรกก็รู้สิ ความทุกข์ที่กิเลสมันคุ้ยเขี่ยขึ้นมา ให้ผลเป็นทุกข์ไปโดยลำดับๆ นั้นอยู่ที่ไหน? ถ้าไม่อยู่ที่ “กาย” กับใจนี้ จะอยู่ที่ไหน? เราปล่อยให้ลงนรก ไฟนรกเผาทั้งวันทั้งคืนยังไม่ทราบ “นรก” แล้วจะไปหานรกที่ไหนกันอีก นี่ให้ย่นเข้ามานี้เพื่อรู้ความจริง คือ “สัจธรรม” ซึ่งมีอยู่ภายในนี้ เมื่อรู้สัจธรรมแล้ว นรกหลุมไหนก็จะเข้าใจไปเอง นั่น! ไม่ต้องมีใครมาบอก


    พระพุทธเจ้า และพระสาวก ผู้ทรงรู้ และรู้ “นรก” มากแค่ไหน ใครมาบอกท่านเล่า ท่านทำไมรู้ได้เห็นได้ จนได้นำมาสอนพวกเราอยู่ในเวลานี้ “สวรรค์” ก็คือ ความรื่นเริง บันเทิงในอรรถในธรรม ในบุญในกุศล ที่อยู่ภายในจิตใจ ให้เกิดความสงบร่มเย็นนี่เอง เป็น “สวรรค์สมบัติ” ของเรา “พรหมโลก” ก็เป็นอยู่ตามขั้นของจิตนี้ จะไปพรหมโลกชั้นไหนภูมิใดก็ตาม คือ ขั้นของจิตนี้ ที่บอกอยู่ภายในตัวเสร็จแล้ว “จิตนี้เหมาะกับภูมินั้น ภูมินั้น” แล้วก็เป็นไปตามขั้นภูมินั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับปรุง “ผู้นี้” ให้ดี ให้ถูกต้อง ไม่ให้คิดนอกเหนือไปจากนี้


    วันหนึ่งคืนหนึ่ง ให้ค้นคว้าภายในจิตใจของตนเอง กับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง หลักสำคัญก็มี “กาย” นี่แหละสำคัญมาก “ขันธ์ห้า” นี่ แหละ มันสัมผัสสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันไหนๆ สิ่งภายนอกก็พอทำเนา มี รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ซึ่งมีอยู่ภายนอก ส่วน “ขันธ์ห้า กับ “ใจ” อยู่ด้วยกัน และเกิดเรื่องกันตลอดเวลา ไม่มีผู้วินิจฉัยไต่สวนให้สิ้นสุดลงได้ นอกจากใช้ “สติปัญญา” เป็นผู้พิพากษาตัดสินให้ได้เป็นที่ยุติกันเท่านั้น


    ตามธรรมดาของ “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” นี้ อยู่กับตัว คือ ใจ สืบเนื่องเกี่ยวโยงกัน ไม่มีใครสามารถแก้คดีและตัดสินคดีนี้ได้ เพราะไม่มี “ปัญญา” วินิจฉัยพอจะลงเอยกันได้ว่า ตัดสินกันว่าอย่างไร นอกจากปล่อยให้เรื่องราวมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น “เจ็บนั้นปวดนี้ กลัวล้มกลัวตาย” กลัวแท้ๆ ราวกับว่าถ้าได้กลัวอย่างสุดขีดและถึงใจแล้วจะพ้นจากความตายได้


    การกลัวตายนั้นกลัวจริง ๆ แต่ไม่ทราบว่า “อะไรเป็นความตาย, อะไรเป็นผู้ตาย” ถ้าไม่พิจารณาให้ถึง “ฐานแห่งความตาย” เสียเมื่อไร มันต้องกลัวอยู่วันยังค่ำ เมื่อพิจารณาให้ถึง “ฐานแห่งความตาย” แล้ว มันจะกลัวหาอะไร เพราะ “ไม่มีอะไรตายในโลกนี้” มีแต่ความเปลี่ยนแปลง สลับซับซ้อนแห่งธาตุต่างๆ อยู่นั่นเอง แม้ความแปรก็ทราบอยู่แล้ว พระธรรมท่านก็สอนแล้วว่า “อนิจจัง” มันแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา “ทุกขัง” มันทุกข์อยู่ที่ไหน ถ้าไม่ทุกข์อยู่ที่นี่ แน่ะ! “อนัตตา” ก็ ประกาศอยู่แล้ว มันเป็นสาระแก่นสาร และเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตนเราเขาที่ไหน ธรรมท่านบอกอยู่ทุกบททุกบาท แต่เรามันชอบปีนเกลียวของธรรม อยากให้อันนั้นเป็นตน อยากให้อันนี้เป็นของตน ความอยากนั่นแหละเป็นเรื่องของกิเลส อันนั้นไม่เป็น “ตน” แต่เป็น “กิเลส” เต็มตัว จะว่ายังไง?


    ถ้า มันเป็นตนขึ้นมาอย่างที่ว่า จะไม่เป็นกองใหญ่เท่าภูเขานี้หรือ กิเลสแต่ละอย่าง ละอย่าง รวมเข้าแล้วจะเป็นภูเขากี่ล้านลูกก็ไม่รู้ จะพากันแบกหามไปไม่ไหว เท่าที่มีอยู่แล้วนี้ก็หนักเหลือประมาณอยู่แล้ว! จึง ควรพิจารณาให้ชัด และตัดออกทีละลูก ละลูก มิฉะนั้นจะไม่มีทางก้าวเดินไปได้ เพราะเต็มไปด้วยภูเขาของกิเลสแต่ละอย่าง ละอย่าง แห่งบุคคลแต่ละคน ทุกข์แต่ละอย่างที่กิเลสสร้างขึ้นให้แบกหามบนหัวใจมาเป็นเวลานานแสนนาน ควรจะพากันเข็ดหลาบตามธรรมที่ท่านสอนบ้าง จะได้มีที่ปลงวางทุกข์พอประมาณ


    “เวทนา” พวกนี้แหละ พวกที่เป็นข้าศึกต่อเรา มันไม่มีอะไร มีแต่ “ทุกขเวทนา” เป็น ขึ้นภายในจิตโดยลำพังบ้าง ไม่เกี่ยวข้องกับกาย กายเป็นปกติอยู่ก็ตาม มันก็เป็นของมันขึ้นมาจนได้ เพราะอารมณ์พาให้เป็นไป คิดอะไรที่เสียดแทงจิตใจก็เป็นทุกขเวทนาขึ้นมา คิดอะไรในทางถอดทางถอนก็เป็นสุขเวทนาขึ้นมา เวลามันจะพัก มันก็วางเฉยในตัวมันเองขึ้นมา ก็เป็น “อุเบกขาเวทนา” แน่ะ! มัน เห็นชัดๆ อย่างนี้ ถ้าพิจารณาให้เห็น ถ้าไม่สังเกต ไม่พิจารณา แม้กระทั่งวันตายก็ไม่เห็น ตายทิ้งเปล่าๆ นั่นแล อย่าเข้าใจว่าจะเกิดความรู้ความฉลาด ปลดเปลื้องทุกข์ออกได้โดยไม่ขวนขวายบำเพ็ญและพิจารณาเลย สัตว์โลกตายล่มจม เพราะความประมาทนอนใจ มามากต่อมากแล้ว


    การพิจารณาไม่ต้องคาดหมาย อยากให้เวทนาต่างๆ ดับไป จะเป็นการ “เพิ่มสมุทัย” ให้ดูอยู่ภายใน “ตัวเวทนา” นี้แหละ ขณะเวทนาใดเกิดขึ้น ใช้สติปัญญาใคร่ครวญไม่ลดละปล่อยวาง พิจารณาจนเข้าใจ


    “สัญญา” นี่ สำคัญอยู่มาก โดยปกติสัญญาเป็นผู้สำคัญมาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็สำคัญ แต่ทุกข์ไม่ได้เกิดอยู่ทุกเวลา ส่วนสัญญานี้มันหมายอยู่เรื่อยๆ อันนี้สำคัญมากละเอียดมาก ประณีตบรรจงด้วย มันน่าหลงถึงได้หลง


    “สังขาร” เป็นผู้ยื่นให้ “สัญญา” ก็คลี่คลายไปใหญ่ จนไม่มีสิ้นสุดยุติลงได้ ถ้าไม่ใช้สติปัญญาสกัดไว้


    “วิญญาณ” เป็นผู้รับทราบ เจ้า “สัญญา คือ ความสำคัญมั่นหมาย” ก็ทำงานใหญ่โตเที่ยววุ่นไปหมดภายในร่างกาย “สัญญา นี่แหละเป็นเครื่องปกปิดใจ ให้หลงตามเจ้าสัญญาจนไม่ยอมเห็นโทษของมันได้เลยในขันธ์ห้า” ตัว “สัญญา” เป็นตัวการสำคัญมากทีเดียวในวงปฏิบัติตระหนักได้ดีพอ จึงเตือนไว้


    ใจ เมื่อมีสิ่งทับถม มีสิ่งปิดบัง มีสิ่งบังคับอยู่ จะแสดงออกเป็นความรู้ความเห็น โดยอุบายแยบคายนิดๆ ก็ออกไม่ได้เพราะจิตถูกสิ่งเหล่านี้บีบบังคับ ฉะนั้นจึงต้องบังคับจิตให้พิจารณาคลี่คลายอารมณ์ต่างๆ เพื่อรู้ทิศทางเดินของตน ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ค่อยๆ เปิดหรือถอนตัวออกไป ถอนออกไปเป็นลำดับ “สติปัญญา” ย่อมมีทางคิด และสั่งสมกำลังของตนมากขึ้น พอถึงขั้น “สติปัญญา” จะ ออกพินิจพิจารณาแล้ว อะไรๆ ปิดไม่อยู่ สติปัญญาจะค้นคว้าไปหมดทุกแง่ทุกมุม เข้าใจไปเรื่อยๆ มีความเพลิดเพลินต่อการค้นการคิด มีความเพลิดเพลินต่อผลที่ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะการค้นด้วยปัญญานั้น เป็นการตัดกิเลสโดยตรง เห็นผลไปโดยลำดับๆ ไม่ขาดวรรคตอน


    “สมาธิ” เป็นเพียงอุบายกวาดตะล่อมกิเลสต่างๆ เข้ามาสู่ “จุดรวม” พอแก้ไขหรือตัดทำลายได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ก็ว่า “สมาธิเป็นพลังของปัญญา” เมื่อ จิตมีการรวมตัวในขั้นสมาธิแล้ว จิตก็พอใจที่จะทำงานในแง่ต่างๆ โดยทางสติปัญญา เมื่อทำงาน ผลของงานก็ปรากฏขึ้นมา กิเลสขาดเป็นวรรคเป็นตอน ใจเกิดความเพลิดเพลินในผลงานของตนยิ่งพิจารณา ไม่มีวันอิ่มพอ ราวกับน้ำไหลรินในฤดูฝน


    เอา ตรงนี้ อย่าไปที่อื่น สัจธรรมอยู่ตรงนี้ คืออยู่ที่กาย ที่ใจ สรุปลงสู่ใจแห่งเดียว ค้นลงไปที่ใจ ทำไมจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าท่านรู้ที่ไหน ท่านรู้ในวงสัจธรรมสี่นี้ ท่านรู้ในวงสติปัฏฐานสี่นี้ ซึ่งมีอยู่ในกายในใจของเราทุกคน พระพุทธเจ้าท่านรู้ที่ตรงนี้ ท่านสอนลงที่ตรงนี้ จงพิจารณาให้ชัดลงไปที่ตรงนี้ กิเลส และ มรรค ผล นิพพานอยู่ที่นี้ อย่าคาดหมายไปที่อื่น จะเป็นการตะครุบเงานอกจากตัว และคว้าน้ำเหลวตลอดไป ไม่เจอธรรมของจริง


    การ กำหนดพิจารณานั้น เวทนามันเกิดขึ้นมาในจิต ส่วนในกายได้พูดมามากแล้ว ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมาภายในจิต เช่นเป็นความไม่สบายภายในจิต ก็ให้กำหนดดูทุกข์เวทนานั้น โดยเอาทุกขเวทนานั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา และการจดจ้องมีสติอยู่กับทุกขเวทนาอันนั้น อย่าตั้งความปรารถนาอยากให้ทุกข์หายเมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นภายในใจ แต่ต้องทราบว่าทุกขเวทนาที่ปรากฏขึ้นมาภายในจิตนี้ต้องมีสาเหตุ หากไม่มีสาเหตุ แต่จะปรากฏขึ้นมาอย่างลอยๆ นั้น เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ทราบสาเหตุทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้เพราะอะไรก็ตาม ควรจับเอาตัวผล คือ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอารมณ์ของใจ และรู้อยู่กับใจ กำหนดใคร่ครวญ และคลี่คลายดูทุกขเวทนาในที่นั้น อย่าปล่อยวางทุกขเวทนานั้นไปดูหรือพิจารณาที่อื่น จะทำให้จิตใจรวนเรหาหลักยึดไม่ได้ตลอดไป จนกลายเป็นคนหลักลอย


    ทุกขเวทนา จะตั้งอยู่นานเท่าไร จงดูทุกขเวทนานี้ว่าจะเที่ยง แน่นหนามั่นคงจริงเหรอ จิตของเรายิ่งเป็นสิ่งมั่นคงยิ่งกว่าเวทนานี้ ทำไมจะพิจารณาเวทนานี้ไม่ได้ เวทนานี้มันเกิดขึ้นเพียงระยะ และดับไปตามกาลเวลาของมัน ในเมื่อหมดปัจจัยเครื่องสนับสนุนแล้ว ถ้าจิตเป็นธรรมชาติที่รู้ ทั้งๆ ที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดมากเกิดน้อยก็รู้ ทำไมจะพิจารณาเวทนานี้ไม่ได้ ต้อง “ทนได้” เพราะจิตนี้เป็นนักสู้ นักทนอยู่แล้ว นั่น!


    เอ้า ทุกข์จะปรากฏตัวมากน้อย ให้กำหนดอยู่ที่จุดนั้น ไม่ต้องตั้งความปรารถนาให้มันหาย แต่ให้ทราบความจริงของเวทนา ที่มันปรากฏขึ้นและเปลี่ยนสภาพไป ให้รู้ตรงนี้และรู้ไปทุกระยะที่ทุกขเวทนาแสดงตัว หนักเบามากน้อย ตลอดถึงความดับไปของเวทนา


    เอ้า เมื่อทุกขเวทนาสลายตัวลงไปจากจิต เพราะการจดจ้อง การพิจารณาของเรานี้ อะไรหรือเวทนาใดจะเกิดขึ้นมาแทนที่ก็ให้รู้ ให้รู้อยู่เป็นขั้นๆ จึงเรียกว่า “นักพิจารณา” อย่า ไปยึดถือเวทนา จะเป็นสุขก็ตาม หรือเฉยๆ ก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นเวทนาด้วยกัน และเป็นสภาพหนึ่งๆ ต่างหากจากจิต จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อันนั้นเข้ามาแทนที่อันนี้สลายตัวไป อันนั้นเข้ามาแทนที่ เป็นอยู่อย่างนี้ ตามธรรมดาของเวทนา เพราะมันมีเชื้อประจำใจ จึงแสดงเวทนาทั้งสามนี้ขึ้นมาได้ ถ้าหากจิตหมดเชื้อโดยประการทั้งปวงแล้ว เวทนาใดก็ตามจะไม่ปรากฏขึ้นมาในจิตได้เลย นอกจาก “ปรมํ สุขํ” เท่านั้นซึ่งเป็นธรรมชาติมีอยู่กับใจที่บริสุทธิ์ อันนั้นไม่ใช่เวทนา ท่านว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นั่นไม่ใช่สุขเวทนา ไม่ใช่ทุกขเวทนา และไม่ใช่อุเบกขาเวทนา จึงไม่มีการเกิด ดับ


    การ กำหนดพิจารณาเวทนาทั้งสามนี้ ถือเอาเวทนานั้นแหละเป็นสนามรบ กำหนดดูให้ดี ดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ดูในวาระนี้ยังไม่หาย ดูอีก ดูจนให้ทราบความจริง จะหายหรือไม่หายไม่สำคัญ สำคัญที่เราทราบความจริงของเวทนาตัวนี้ ตัวที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ นี่เรียกว่า “เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน”


    ส่วนมากก็หมายถึงทุกขเวทนา ที่มันเป็นเครื่องสะดุด สะเทือนจิตใจเรามาก “สุขเวทนาเป็นวิหารธรรม” เรียกว่า “มาช่วยเรา” หรือเป็นผลต่อจากการพิจารณาทุกขเวทนาดับไป แล้วเป็นความสุขขึ้นมา นี่เป็นผลอันหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากการพิจารณาทุกขเวทนานั้นก็ถูก


    ส่วน ที่จะกำจัดสุขเวทนาหรือไม่กำจัดนั้น เท่าที่พิจารณาก็ไม่เห็นได้กำจัด แต่ทุกขเวทนานี้สำคัญมาก ภายในจิต มันเกิดจากเชื้อของกิเลส เมื่อแก้เชื้อนี้ให้เบาบางลงไปเป็นลำดับๆ ทุกขเวทนา ก็ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป เรื่องทุกขเวทนาก็ค่อยดับไป ดับไป จนดับโดยไม่เหลือภายในใจ เพราะสิ้นเชื้อ!


    เมื่อเชื้อมันหมด สุขเวทนาแบบนี้ก็หมด มันหมดไปได้ เพราะอาศัยเชื้อนั้นต่างหากเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงว่า “สุขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในจิต จากการปฏิบัติ หรือจากฐานของจิต จากความสงบของจิต จากความผ่องใสของจิต นี้เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่า “วิหารธรรม” คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของใจในเวลาเดินทาง หรือเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาทุกขเวทนานั้นก็ได้” เรา จะพิจารณาสุขนี้ หรือไม่พิจารณาก็ไม่สำคัญยิ่งไปกว่าการพิจารณาทุกขเวทนา กับสาเหตุที่มันเกิดทุกขเวทนานั้น อันนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นตัว “สมุทัย” โดยตรง และ ยังผลเป็นทุกข์โดยตรง


    ในสัจธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทุกข์ให้กำหนดรู้” แต่ความสุขทำไมไม่ทรงบอกให้กำหนดรู้? ต้นเหตุของ สุข คืออะไร? ท่านก็ไม่ว่า เพราะนี้เกิดจากมรรคทำหน้าที่จนสมุทัยสลายตัวลงไป สุขก็เกิดขึ้นแทนที่


    ทีนี้พอเรื่องของทุกข์ ซึ่งเป็นส่วนของกิเลสดับไป สุขอันนี้ก็ดับไปด้วยกัน แต่สุขอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้น กับธรรมชาติของ “จิต ที่บริสุทธิ์แล้ว” นั่นไม่ดับไปกับอะไรทั้งสิ้น


    เรื่องสมาธิ เวลาจะให้สงบจิต ต้องทำให้สงบจริงๆ ด้วย “สมถกรรมฐาน” อย่า ไปเสียดายกับงานที่เคยพิจารณามา เพราะต้องมีการพักผ่อนจิตใจ ไม่พักไม่ได้ ถึงเวลาพักต้องพัก แม้จะได้ผล ได้การได้งานเพียงใดจากการปฏิบัติ จากการพิจารณาก็ตาม ใจก็มีความอ่อนเพลียได้เหมือนกัน การทำงาน คือความคิดความปรุงทางด้านปัญญา หรือด้านใดก็ตาม ต่างก็เป็นงานของจิตทั้งนั้น เมื่อคิดเมื่อปรุง เมื่อพิจารณาไปนานๆ ก็ทำให้อ่อนเพลียได้ เราต้องพัก เมื่อถึงกาลที่ควรพักแล้วไม่ต้องยุ่งกับงานใดๆ ทั้งหมด ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่เพื่อความสงบของจิตโดยถ่ายเดียว นี่ได้ชื่อว่า “ทำงานไม่ก้าวก่ายกัน” ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่เป็นน้ำไหลบ่า ใจก็มีกำลังเพื่องานทาง “วิปัสสนาปัญญา” ต่อไป


    เมื่อ ต้องการความสงบ เพื่อเป็นพลังของปัญญา ก็มุ่งหน้ามุ่งตาต่อธรรมที่จะทำให้จิตสงบ ให้แนบแน่นลงไป จนสงบเสียในตอนนั้น เมื่อใจสงบพอมีกำลังแล้ว ถอนออกมาจากความสงบนั้น เอ้า ค้นลงไป ไม่ต้องเป็นห่วงกับเรื่องความสงบ มีหน้าที่อะไรพิจารณาไปโดยลำดับจนเป็นที่เข้าใจ ที่ชื่อว่า “เป็นการดำเนินที่ถูกต้อง” เหมาะสม สม่ำเสมอ ในวิธีการดำเนินทาง “สมถะ” และ “วิปัสสนา” จนถึงจุดที่หมาย


    เหล่า นี้ เคยได้เป็นมาแล้ว เวลาติดก็ติดเสียจนเพลิน และนอนใจ ติดกับความสงบ ความสะดวกสบายในสมาธินั้นแล เวลาเพลินพิจารณา ก็เพลินจนลืมเนื้อลืมตัว ไม่พักผ่อนหย่อนจิตบ้างเลย มันไม่ถูกทั้งสองวิธีนั่นแหละ คือ ไม่ถูกกับความพอดี


    ที่ ถูก เมื่อรู้สึกจิตเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะการทำงาน ต้องพักเข้าสู่ความสงบ ถึงเวลาพิจารณาต้องพิจารณา ไม่ห่วงอะไรทั้งนั้น ตั้งหน้าทำหน้าที่ตามงานนั้นๆ โดยลำดับ นี้เหมาะสมแก่การดำเนิน สมถวิปัสสนา ตลอดไป


    งานใดในโลกนี้ ไม่ได้มีใหญ่โตยิ่งกว่า “งานถอดถอนกิเลส” หรือ “งานถอดถอนตนออกจากวัฏฏะ” คือ ความหมุนเวียน ให้เกิด ให้ตาย กี่ภพ กี่ชาติ นับไม่ได้เลย คิดแล้วน่าสลดสังเวชในความหมุนเวียน เกิด ตาย ซึ่งแบกแต่กองทุกข์เท่านั้น ไม่ว่า ภพใด ชาติใด เป็นแต่มีมาก มีน้อยต่างกัน เรื่องของทุกข์ต้องมีด้วยกัน เพราะมีกิเลสซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ทำไมจะไม่ทุกข์ สัตว์โลกต้องมีทุกข์


    พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนให้ สลัดกิเลสให้หมดจนไม่มีอะไรเข้ามาแทรกมาแฝงเลย ให้มีแต่ “เนื้อล้วน ๆ” อย่าให้มีก้าง อย่าให้มีกระดูก มันจะเป็นภัยต่อธาตุต่อขันธ์


    กิเลสประเภทใดก็ดี สำรอกปอกมันออกให้หมด ไม่ให้มีเหลือเลย นี้จึงเรียกว่า “เป็นงานใหญ่โตมาก” ทุ่มกำลังลงจนสุดฝีมือ สุดสติปัญญาในตอนนั้น จนไม่อาจหลงลืมได้ มอบชีวิตชีวาลงไปก็มีในบางกาล


    “เอ้า ตายก็ตาย ไม่ตายก็ให้รู้” มีเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น นั่น! ให้จิตเป็น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ช่วยตัวเอง คือละให้เป็นกำลังของจิตเอง ขณะที่จิตหมุนติ้วๆ เพื่อแดนแห่งความพ้นทุกข์น่ะ เหมือนจะเอื้อมมือถึง “นิพพาน” อยู่แล้วตลอดเวลา ข้างหลังก็ตีบตันเข้ามา ตีบตันเข้ามา เห็นโทษเห็นภัยเข้าโดยลำดับ ก็มีทางที่จะให้พ้น “มหาภัย” อยู่ทางเดียว คือ


    “เอ้า ตายเป็นตาย ไม่ตายให้รู้ธรรม” อยู่ ไหนไม่อยากอยู่ ค้างที่ไหนไม่ต้องการค้าง เสียเวล่ำเวลาเพื่อความพ้นทุกข์ ต้องให้ถึงความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น จะเป็นที่พอใจของจิตดวงนั้นในเวลานั้น เมื่อจิตเป็นอย่างนั้นแล้วจะเอาความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอมาจากไหน หนักก็สู้ เบาก็สู้ ตายเป็นสู้ทั้งนั้น จนกระทั่งหมดลมหายใจแล้วจึงอยู่! มันสุดวิสัย! นี่ พอรู้เล้ว ถึงที่หมายแล้ว ก็อยู่เอง ไล่ไปไหนก็ไม่ไป!


    ปัญญา ที่หมุนตัวเป็นเกลียวยิ่งกว่ากงจักรนั้น เวลาถึงกาลแล้วก็หยุดเอง หมดหน้าที่ในตัวไปเอง โดยไม่ต้องไปดับเครื่อง เหมือนเครื่องจักรทำงานต่างๆ สติปัญญาอัตโนมัตินั้น หากดับหรือพักเครื่องไปเอง เพราะรู้แล้วจะพิจารณาอะไรอีก ละแล้วจะละอะไรอีก รู้แล้วจะรู้อะไรอีก พอแล้วจะไปหาความพอดีที่ไหนอีก มันรู้ขึ้นกับตัวเองทั้งนั้น รู้ขณะเดียวก็พ้น คือ รู้ครั้งสุดท้าย นี้ “งานใหญ่” ยุติกันตรงนี้ “งานใหญ่” ผลก็ใหญ่โต ไม่มีอะไรเทียบในโลกทั้งสาม


    ผลที่เกิดจากงานใหญ่ๆ งานหนักๆ อย่างนี้น่ะประเสริฐเลิศโลก “ปรมํ สุขํ” จะไม่เรียกว่า “เลิศโลก” อย่างไรได้! เมื่อความเลิศเด่นเต็มดวงใจแล้ว ผิดกับกิเลสเด่นเต็มดวงใจเป็นไหนๆ ใครอยากรู้ก็ปฏิบัติเอาเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เมื่อถึงขั้น “เลิศ” ก็เลิศ ก็เลิศอยู่เฉพาะตัวเอง ไม่กระเทือนใคร


    ธรรมเป็น “อกาลิโก” ตลอดกาล นี่คือ พยานแห่ง มรรค ผล นิพพาน มาแต่ครั้งพุทธกาลตลอดปัจจุบัน ไม่มีใครลบล้างได้ตลอดไป พระพุทธเจ้า “เลิศโลก” ได้ ก็เพราะธรรมนี้เอง สาวกอรหัตอรหันต์ที่เราเคารพนับถือกันว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ล้วนแต่ท่านเลิศด้วย “วิสุทธิธรรม” นี้ทั้งนั้น และด้วยงานอันหนักนี้ เมื่อครูของพวกเราพาเดินอย่างนั้น ส่วนพวกเราจะหา “หยิบๆ หยกๆ อะไรนั่น! หาทำเอาตามชอบใจมันไม่ได้ เพราะครูเราไม่ได้พาเป็นเช่นนั้น นี่ บรมครูเราเป็นอัจฉริยบุคคล ผู้จริงจังสุดส่วน ไม่มีใครเสมอเหมือน นี่


    พวก เรามันพวกอุตริ ริหาทำแต่สิ่งที่ครูตำหนิติเตียน จึงพบเห็นแต่สิ่งที่น่าติเตียนอยู่เรื่อยมา ไม่คิดอยากเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไร หรือเห็นว่านั้นทันสมัยดี?


    ความจริง ทางเดินเพื่อแก้กิเลส ต้องลำบาก ทางเดินเพื่อสั่งสมกิเลสนั้นง่าย เพราะความชอบใจหลอกให้ว่าง่าย (มันหลอกให้ว่าง่ายนี่) ความ จริงมันก็ยากด้วยกันนั่นแหละขึ้นชื่อว่างานแล้ว แต่มันสำคัญที่ความชอบใจในงานใด งานนั้นก็เห็นว่าเป็นของง่าย เป็นของเบา ของสบายไปเสีย งานแก้กิเลสแต่ก่อนเวลาเราบำเพ็ญทีแรก มันยังไม่ได้หน้าได้หลังอะไร ทั้งๆ ที่เรามุ่งเจตนาเพื่อแก้กิเลส แต่ก็ยังหนัก ทั้งขี้เกียจ อ่อนแอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีไม่เป็นท่ารวมอยู่ในนั้นหมด เวลาค่อยรู้เหตุรู้ผล เข้าใจในอรรถในธรรม ผลปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับแล้ว ความขี้เกียจมันหายไปไหนหมดล่ะ ยังอยู่แต่ความขยันหมั่นเพียร หนักก็เอา เบาก็สู้ ตายก็สู้ นั่น! เพราะมันเห็นผล ทั้งๆ ที่แก้กิเลสมาโดยลำดับนี่น่ะ แต่เวลาหนึ่งยังไม่เห็นผล อีกเวลาหนึ่งเห็นผลแล้ว มีความขยันหมั่นเพียรขึ้นมาทีเดียว เอ้า หนักก็สู้ เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราจะถอยหลังอย่างไร ตถาคตก็คงผ่าน “ป่าช้า” มาเช่นเดียวกับพวกเรา จึงเห็นภัยในป่าช้ามาเช่นเดียวกับพวกเรา ซึ่งเป็นเรื่องแบกทุกข์ทั้งนั้น


    พระ พุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้แล้ว เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ก็ต้องเดินตามครู ครูลำบาก ลูกศิษย์ก็ต้องลำบาก ครูเราสลบไสลไปตั้งสองครั้งสามครั้ง พวกเรามีใครบ้างสลบไสลด้วยความเพียร ไม่เห็นมีนี่ แล้วทำไมกลัวตาย ทั้งที่ยังไม่เคยสลบไสล แล้วจะมากลัวตายแบบดื้ออย่างไรกัน พระพุทธเจ้าท่านสลบถึงสามหนสี่หนว่ายังไง พวกเราสลบ ก็คือสลบในเวลานอนหลับ ไม่เห็นกลัวตาย เวลาทำความเพียร ทำไมกลัวตาย อะไรมันตายกันแน่?


    นี่แหละ เวลาค้นไปเห็นความจริงแล้ว มันจะไม่กลัวตาย เพราะไม่มีอะไรตายในโลกอันนี้ มีแต่จิตที่มันสำคัญมั่นหมาย มันหลอกตัวเองว่า “กลัวตาย กลัวตาย” เมื่อรู้ถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่กลัว ความตายก็ไม่กลัว เกิดก็ไม่กลัว เพราะมันไม่มีอะไรจะเกิด แน่ะ! จะ กลัวอะไร กลัวลมกลัวแล้งกลัวไปทำไม จิตมันพ้นแล้วจากการเกิดจะไปกลัวความเกิดอะไรอีก เกิดเป็นรูป เป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย มันหมดเชื้อแล้ว ไม่มีอะไรจะกลัว ไม่มีอะไรจะกล้า มันเสมอตัว คือ สม่ำเสมอ คงเส้นคงวา แต่ไม่ใช่สม่ำเสมอธรรมดาแบบโลกๆ


    “เสมอ” แบบ จิตที่เพียงพอ เสมอแบบความเลิศประเสริฐของจิต นี่ได้พูดถึงภาระอันหนัก แต่ก็พูดถึงผลอีกด้วย เพื่อเป็นเครื่องรื่นเริง เครื่องยึดเหนี่ยวของจิต ผลก็เลิศสมกันกับความยุ่งยากลำบากลำบนในการปฏิบัติ เราต้องการอะไรของชีวิต ต้องการของดีทั้งนั้น แม้แต่ภายนอกเราก็ยังต้องการของดี ยิ่งธรรมทำไมเราจะไม่ต้องการของดี เร่งเข้าไป ป่าช้าได้ร้องไห้กับเราเป็นไร นี่เรามันร้องไห้กับป่าช้า ให้ป่าช้าได้ร้องไห้ตามเป็นไร หมดหวังแล้วทีนี้ ไม่มาเกิดตายอีกแล้ว ป่าช้าหมดหวังดีกว่าเราหมดหวัง เพราะความเกิดตายไม่ใช่ของดี หมุนไปหมุนมา มีความทุกข์ ความลำบาก ไปทุกภพทุกชาติ!


    จง ทำการแก้ไข เอาให้มันได้ สิ่งที่เป็นอยู่ภายในจิตใจ มีอะไรบ้างที่เป็นเสี้ยนหนามต่อจิตใจ สติปัญญาหยั่งลงไป ค้นคว้าลงไป ถอดถอนออกมา เอาให้หมดให้สิ้น เมื่อสิ้นแล้วก็ “นี่แหละ คือผลของงาน! ที่ว่าเป็นความยากง่ายแค่ไหน ผลนี้เป็นอย่างไร คุ้มค่ากันไหม นั่น! รู้ทันที อยู่ที่ไหน ก็อยู่ซิ!

    ท่านว่าวุสิตํ พฺรหฺมจริยํ” เสร็จ กิจของศาสนา พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว นั่นแหละประจักษ์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ขึ้นชื่อว่าความทุกข์ความลำบากเป็นเรื่องของกิเลส เหตุคือ กิเลสสิ้นไป ผลคือทุกข์สิ้นไปมีเท่านั้น! จากนั้นก็คือ “บรมสุข” อย่างเดียว ไม่มีอะไรมายุ่งอีกแล้ว ตลอดอนันตกาล

    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1581&CatID=1

     
  2. poopenๆ

    poopenๆ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    120
    ค่าพลัง:
    +86
    โมทนาสาธุ....
    ธรรมใดที่พระคุณเจ้าได้เห็น
    ขอให้ข้าพเจ้าได้เห็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วยเทิญ....สาธุ...
     
  3. baboburm

    baboburm สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กรกฎาคม 2011
    โพสต์:
    28
    ค่าพลัง:
    +1
    โมทนาสาธุ ครับ ขอให้ข้าพเจ้าได้เห็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วยเทิญ....สาธุ...<!-- google_ad_section_end -->
     
  4. วชิรปราการ

    วชิรปราการ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    37
    ค่าพลัง:
    +218
    ขอขอบพระคุณท่าน ที่ได้นำยอดธรรมะพ่อแม่ครูบาอาจารย์ดีๆเช่นนี้มาเผยแผ่เพื่อเป็นกุศลแก่ท่านผู้ต้องการหลุดพ้นทุกท่าน

    อานิสงส์นี้ ขอให้ท่านสำเร็จดังใจหวังตั้งใจทุกประการ เทอญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...