ติดตามสถานะการณ์

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย สุกิจSukit, 8 มิถุนายน 2013.

  1. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    แอลลิเกเตอร์ของฮิตเลอร์ - จากนักโทษสงครามตัวสุดท้ายสู่สัตว์ในอุปถัมภ์ของแบรนด์ชื่อดังอย่าง Lacoste

    มีคำกล่าวว่าการนักโทษสงครามที่ถูกกักขังในเขตแดนของศัตรูเป็นเวลายาวนานที่สุดไม่ใช่ทหารนาซีหรือผู้ทรยศคนไหน แต่เป็นแอลลิเกเตอร์ตัวใหญ่จากสวนสัตว์เบอร์ลินที่ถูกจับส่งไปสหภาพโซเวียตในฐานะกึ่งนักโทษกึ่งของขวัญ และเป็นเหมือนรางวัลแห่งชัยชนะของกองทัพแดงในสงครามโลกครั้งที่ 2 แอลลิเกเตอร์ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า “ซาตัน” ส่วนเหตุที่ซาตันโด่งดังนักหนา เป็นเพราะคำโฆษณาของสหภาพโซเวียตที่บอกว่าแอลลิเกเตอร์ตัวนี้เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของฮิตเลอร์

    เรื่องเล่าของซาตันเริ่มต้นในปี 1936 ที่แม่น้ำมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนั้นเบอร์ลินจัดโอลิมปิกอย่างยิ่งใหญ่และมีความต้องการตามหาแอลลิเกเตอร์ตัวใหม่เพื่อมาจัดแสดงในสวนสัตว์ ซาตันถูกจับจากธรรมชาติ มันถูกส่งไปจัดแสดงที่สวนสัตว์เบอร์ลินในปีเดียวกัน มีข่าวลือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บอกว่าซาตันนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงส่วนตัวของฮิตเลอร์ ข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริงเพราะซาตันเป็นสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์และได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสมาชิกตัวอื่นๆ ฮิตเลอร์อาจะเคยเห็นซาตันอยู่บ้างเพราะเขามาเที่ยวสวนสัตว์หลายครั้งในช่วงปี 1930s แต่นั่นคือทั้งหมดของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงซาตันเข้ากับท่านผู้นำแห่งอาณาจักไรช์

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนสัตว์เบอร์ลินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 1943 สัตว์ในสวนสัตว์กว่า 30% เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักเพียงไม่ถึง 15 นาที อควาเรียมของสวนสัตว์ถูกทำลายจนสิ้นซาก การทิ้งระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้สัตว์มากมายต้องเสียชีวิต ในจำนวนนั้นช้าง 7 ใน 8 เชือกเสียชีวิตในทันที เพื่อร่วมกรงของซาตันจำนวน 4 ตัวเสียชีวิต ความเสียหายนี้ทำให้สัตว์จำนวนมากหลบหนีออกจากสวนสัตว์ ซาตันเป็นหนึ่งในนั้น มันออกเดินหาอาหารรอบสวนสัตว์ก่อนกลับไปนอนในกรงเดิม

    หลังการทิ้งระเบิดครั้งนี้ มีการระดมกำลังเพื่อจับสัตว์ที่หลบหนี ส่งไปยังสวนสัตว์ในเมืองอื่นที่ปลอดภัยมากกว่า สำหรับสัตว์ที่เสียชีวิต เนื้อของมันส่วนใหญ่จบที่จานอาหาร หนึ่งในผู้ดูแลสวนสัตว์บันทึกว่าเขาได้รับแจกจ่ายอาหารเป็นเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ตายลงจากการทิ้งระเบิด “ที่อร่อยคือจระเข้ มันมีรสชาติคล้ายไก่ไขมันหนาๆ เรายังได้กินเนื้อกวาง ควายป่า แอนทีโลป ตามมาด้วยแฮมเนื้อหมี ไส้กรอกหมี”

    ซาตันที่โชคดีกว่าเพื่อนร่วมกรงยังคงหลบหนีและใช้ชีวิตในเบอร์ลินต่อไปกระทั่งการปิดล้อมเบอร์ลินเกิดขึ้น ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตาย และเยอรมันประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการ ตามข้อตกลงในปฏิญญาพ็อทซ์ดัม เบอร์ลินถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนภายใต้การดูแลของสี่มหาอำนาจคือ สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส สวนสัตว์เบอร์ลินบ้านเก่าของซาตันอยู่ในโซนของอังกฤษ มีการสำรวจความเสียหายของสวนสัตว์และพบว่าสวนสัตว์ถูกทำลายอย่างหนักจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่หลายครั้ง ที่เป็นแบบนี้เพราะทหารและชาวเมืองใช้อาคารสูงในสวนสัตว์เป็นที่ตั้งปืนต่อต้านอากาศยานและทำการยิงตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามจากหอคอยในสวนสัตว์เบอร์ลิน

    สวนสัตว์เบอร์ลินเป็นหนึ่งในด่านสุดท้ายที่ถูกตีแตกโดยฝ่ายสหภาพโซเวียตก่อนการต่อสู้จะจบลงอย่างเป็นทางการ นั่นทำให้สัตว์มากมายถูกฆ่า กล่าวกันว่าในปี 1939 สวนสัตว์เบอร์ลินมีสมาชิกมากถึง 4 พันตัว ตอนนี้มีสัตว์ที่รอดชีวิตจากการสำรวจของฝั่งอังกฤษเพียงแค่ 91 ตัวเท่านั้น เนื่องจากสวนสัตว์เสียหายหนักมาก อังกฤษจึงพยายามส่งสัตว์ที่รอดชีวิตไปยังสวนสัตว์ในเมืองอื่น ซาตันถูกมอบให้สหภาพโซเวียตในปี 1946 พวกเขาตกลงกันว่าแอลลิเกเตอร์ตัวนี้จะได้รับการดูแลต่อไปในสวนสัตว์ไลป์ซิกซึ่งอยู่ในพื้นที่ดูแลของสหภาพโซเวียต

    อย่างไรก็ดีซาตันนั้นอยู่ไลป์ซิกไม่นานก็ถูกส่งต่อไปสวนสัตว์ที่มอสโก ตอนนี้เองที่แอลิเกเตอร์ธรรมดา ถูกโปรโมทว่าเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของฮิตเลอร์ทำให้มันกลายเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์ สหายโซเวียตถึงขั้นตั้งชื่อเล่นให้ซาตันว่า “ฮิตเลอร์” บ้างกล่าวติดตลกว่าซาตันเป็นนักโทษสงครามที่พวกเขาจับกลับมาจากเยรอมัน

    ในปี 1950s ซาตันที่เป็นแอลลิเกเตอร์ตัวเดียวในสวนสัตว์ได้รับเพื่อนใหม่เป็นแอลิเกเตอร์เพศเมียจากสหรัฐฯ ชื่อ “ชิปก้า” สวนสัตว์หวังว่าซาตันจะไม่เหงาและถ้าเราโชคดี อาจมีแอลิเกเตอร์ตัวน้อยๆ เพื่อเป็นดาวเด่นตัวใหม่ อย่างไรก็ดีซาตันและชิปก้าไม่มีทายาทด้วยกัน ชิปกาเสียชีวิตหลังจากนั้นทำให้ซาตันเกิดอาการซึมเศร้าไม่ยอมทานอาหาร ซาตันยังเคยถูกทำร้ายโดยผู้ชมขี้เมาที่ปาขวดแก้วเข้ามาจนสวนสัตว์ตัดสินใจสร้างอควาเรียมใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

    ถึงอย่างนั้นสุขภาพของซาตันก็เลวร้ายลงหลังการเสียคู่ชีวิต ทันทีที่ถูกย้ายเข้าอความเรียมใหม่ ซาตันที่ไม่คุ้นชินปฏิเสธการกินอาหารเป็นเวลานานถึง 4 เดือน ที่แย่กว่า คือสถานการณ์ทางการเมืองช่วงสหภาพโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ ส่งผลให้ซาตันเครียดมากขึ้น ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปืนหรือการเคลื่อนรถถัง ซาตันจะส่งเสียงดังซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะมันจดจำเหตุการณ์เลวร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นอย่างดี

    ในช่วงปี 2010 ซาตันที่ตอนนี้อายุ 70 กว่า หยุดทานอาหารอีกครั้งเพราะอาการป่วย สวนสัตว์มอสโกพยายามทำทุกทางเพื่อรักษาชีวิตของซาตัน กระทั่งให้วิตามินแบบพิเศษจนซาตันรอดชีวิตมาได้ ซาตันที่ตอนนี้กลายเป็นสัตว์ไม่กี่ตัวที่ยังรอดชีวิตผ่านสงครามได้รับการอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการจากแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง Lacoste

    Lacoste รับผิดชอบค่าอาหารและการรักษาพยาบาลทั้งหมดของซาตันตั้งแต่ปี 2015 กระทั่งซาตันจบชีวิตลงอย่างสงบในปี 2020 อายุ 84 ปี

    “เมื่อวานนี้(21 พฤษภาคม 2020) ซาตัน แอลลิเกเตอร์ของเราจากสซิสซิปปีเสียชีวิตด้วยโรคชรา สวนสัตว์มอสโกได้รับเกียรติให้ดูแลซาตันมาเป็นเวลาถึง 74 ปี สำหรับพวกเรา ซาตันเป็นตัวแทนของยุคสมัย เขา(หมายถึงซาตัน)เห็นพวกเราหลายคนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หวังว่าพวกเราจะไม่ทำให้เขาต้องผิดหวัง”

    สวนสัตว์มอสโกเขียนข้อความสั้นๆ เพื่อไว้อาลัยให้ซาตัน ผู้มีชีวิตยาวนานผ่านยุคสมัยของทั้งสตาลิน ครุชชอฟ ไปจนถึงกอร์บาชอฟและปูติน ร่างของซาตันถูกนำไปสตาฟ เพื่อนำไปจัดแสดงต่อที่พิพิธภัณฑ์ดาร์วินในมอสโก

    แม้ว่าซาตันจะเคยถูกโฆษณาโดยฝ่ายสหภาพโซเวียตว่าเป็น “นักโทษสงคราม” และ “รางวัลแห่งชัยชนะ” แต่ความจริงที่ว่าแอลลิเกเตอร์ตัวนี้มีอายุมากกว่าแอลิเกเตอร์ทั่วไปเกือบสองเท่า (ปกติแล้วแอลลิเกเตอร์ตามธรรมชาติจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 30-50 ปี) พิสูจน์ให้เราเห็นว่าซาตันเป็นที่รักและได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ด้วยความใส่ใจ

    “สัตว์น้อยใหญ่ไม่ควรถูกโยงเข้ากับการเมือง พวกเขาไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมของมนุษย์”

    สวนสัตว์มอสโกกล่าว

    References:
    Hitler's Alligator - The Last German Prisoner of War in Russia -


    War Zone Zoo: Remarkable Story of the Berlin Zoo in WW2- https://www.warhistoryonline.com/in...bHaxETIRK0oFcvokkPDoGcyDdlqqLuKLqV4sNccP3DoJ0

    Berlin WW2 bombing survivor Saturn the alligator dies in Moscow Zoo - https://www.bbc.com/news/world-europe-52784240

    Photo credit:

    Alligator Saturn ist tot: Im Krieg aus Berliner Zoo geflohen! Hitlers Alligator stirbt in Moskau - https://www.news.de/panorama/855847...en-weltkrieg-aus-berliner-zoo-ausgebrochen/1/

    Государственный Дарвиновский музей -https://www.facebook.co

     
  2. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    อะไรคือการสืบราชสมบัติแบบจาโคไบต์ และใครจะเป็นผู้ครองบัลลังก์อังกฤษในปัจจุบัน

    หนึ่งในทฤษฎีเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงกันมากคือแนวคิดจากสารคดีของโทนี โรบินสัน นักแสดงชื่อดังและนักเขียนชาวอังกฤษที่นำเสนอว่าผู้มีสิทธิ์ครอบครองบัลลังก์อังกฤษที่แท้จริงไม่ใช่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่เป็นผู้ชายธรรมดาที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ในออสเตรเลีย แนวคิดของโรบินสันถกประเด็นที่มีต้นตอมาจากสงครามดอกกุหลาบ ตัวเขามองว่าสายเลือดที่แท้ของราชวงศ์แพลนแทเจเนต (ซึ่งถูกโค้นล้มโดยราชวงศ์ทิวเดอร์) มีความชอบธรรมมากกว่าในการปกครองอังกฤษ

    นอกจากทฤษฏีเรื่องสงครามดอกกุหลาบ การสืบบัลลังก์อังกฤษยังมีช่องโหว่ให้ถกเถียงกันอีกมาก หนึ่งในนั้นคือการสืบราชสมบัติแบบจาโคไบต์ที่มีต้นตอปัญหามาจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในช่วงศตวรรษที่ 17 แนวคิดนี้เป็นการตามหาสายเลือดที่ถูกต้องชอบธรรมของราชวงศ์สจวต โดยมองว่าการกีดกันทายาทเพียงเพราะแนวคิดทางศาสนานั้นไม่ควรเกิดขึ้น

    ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤติทางการเมืองระหว่างกษัตริย์และรัฐสภาอันมีที่มาจากเรื่องศาสนาเป็นเหตุ พระเจ้าชาร์ลที่ 2 กษัตริย์อังกฤษในตอนนั้นไม่มีทายาทและรู้ว่าหากตนเองจบชีวิตลงเมื่อไหร่ บัลลังก์จะตกเป็นของน้องชาย - พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้มีจิตใจฝักใฝ่นิกายคาทอลิกและเชื่อว่ากษัตริย์ควรมีอำนาจปกครองเด็ดขาดจากพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าชาร์ลที่ 2 มองออกว่าแนวคิดของน้องชายจะนำไปสู่ปัญหา ความแตกต่างด้านศาสนาระหว่างราชวงศ์สจวตกับรัฐสภาเคยนำไปสู่ความขัดแย้งที่จบลงด้วยความตายของพระบิดาของพระองค์ (พระเจ้าชาร์ลที่ 1) มาแล้วในยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์

    เพื่อเป็นการกันไว้ก่อน ชาร์ลที่ 2 ยื่นของเสนอว่าพระองค์จะยอมให้น้องชายสืบทอดบัลลังก์ก็ต่อเมื่อเจมส์สัญญาว่าลูกสาวทั้งสองคนของเขา (เจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงแอนน์) จะต้องได้รับการเลี้ยงดูแบบโปรแตสแตนท์ เจมส์ยอมรับข้อเสนอนี้และเมื่อพี่ชายของเขาสวรรคต เจมส์ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาในฐานะพระเจ้าเจมส์ที่ 2 อย่างไรก็ดีคำสัญญาของเจมส์ไม่ได้ห้ามการแต่งงานใหม่ แทบจะในทันทีที่ทรงขึ้นครองราชย์ก็ประกาศสมรสกับเจ้าหญิงคาทอลิกและให้กำเนิดทายาทชายซึ่งแน่นอนว่าจะถูกเลี้ยงดูต่อมาให้เป็นกษัตริย์แบบคาทอลิก อังกฤษนั้นใช้ระบบการสืบทอดบัลลังก์แบบ Male Preference หมายความว่าถ้ากษัตริย์มีลูกชาย ลูกชายจะได้สิทธิ์ขึ้นครองราชย์ก่อนโดยไม่สนลำดับการเกิด (แต่หากกษัตริย์ไม่มีลูกชาย ลูกสาวก็สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ต่างจากระบบ Male Only ของสายเยอรมัน)

    รัฐสภาอังกฤษไม่ยอมรับเจ้าชายคนใหม่ จนนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ภายใต้ชื่อการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เมื่อกลุ่มขุนนางส่งจดหมายลับเชิญให้เจ้าหญิงแมรี่ - ลูกสาวคนโตของเจมส์ที่ 2 ซึ่งตอนนี้สมรสอยู่กับวิลเลียม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ ผู้ครองดินแดน (stadtholder) สาธารณรัฐดัตช์ (หรือปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) วิลเลียมและแมรี่เป็นผู้ปกครองที่ยึดมั่นในแนวคิดแบบโปรแตสแตนท์ ทั้งคู่ได้รับความสนับสนุนจากขุนนางอังกฤษ จนสามารถยึดบัลลังก์ได้โดยแทบไม่เสียเสือดแม้แต่หยดเดียว

    ฝ่ายเจมส์ที่ 2 หลบหนีออกจากอังกฤษลี้ภัยไปฝรั่งเศส รัฐสภามองว่าการออกนอกประเทศของเจมส์หมายถึงการสละราชสมบัติ บัลลังก์จึงถูกส่งตอให้เจ้าหญิงแมรี่และเจ้าชายวิลเลียม ทั้งสองปกครองอังกฤษร่วมกันในนาม แมรี่ที่ 2 และวิลเลียมที่ 3 สำหรับผู้สนับสนุนแนวคิดการสืบราชบัลลังก์ในปัจจุบัน การขึ้นครองบัลลังก์ของวิลเลียมและแมรี่ถูกต้องชอบธรรมดีแล้ว แต่ผู้สบับสนุนแนวคิดแบบจาโคไบต์ การที่เจมส์หลบหนีออกไปไม่ได้แปลว่าทรงสละราชสมบัติ และถ้าใช้หลักการแบบ Male Preference ลูกชายคนเล็กของพระเจ้าเจมส์ต่างหากคือกษัตริย์ที่ถูกต้องชอบธรรมที่แท้จริง

    พระโอรสองค์เล็กของเจมส์ที่ 2 แน่นอนว่าต้องชื่อเจมส์เหมือนพ่อ อ้างสิทธิ์บัลลังก์อังกฤษ ตั้งตนเองเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อันที่จริงบรรดารัฐคาทอลิกทั้งฝรั่งเศสและสเปนต่างมองว่าเจมส์ที่ 3 คือทายาทที่ชอบธรรมมมากกว่าวิลเลียมและแมรี่ อย่างไรก็ดี ความพยายามในการยึดบัลลังก์กลับมาไม่เป็นผล ทำให้เจมส์ที่ 3 มีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า The Pretender หมายถึงผูเสแสร้งเป็นกษัตริ์แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ส่วนผู้ที่สนับสนุนเจมส์ถูกเรียกว่าจาโคไบต์ (คำว่าจาโคไบต์ แผลงมาจากชื่อเจมส์ในภาษาละติน)

    ย้อนกลับมาที่อังกฤษ วิลเลียมและแมรี่ไม่มีทายาททำให้เมื่อทั้งสองสวรรคต บัลลังก์ถูกส่งต่อให้น้องสาวคนเล็กของแมรี่คือเจ้าหญิงแอนน์ แอนน์ขึ้นครองราชย์เป็นราชินีและมีการผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสืบราชบัลลังก์อังกฤษโดยตัดสิทธิ์ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั้งหมด (The Act of Settlement 1701) ทำให้เมื่อแอนน์สวรรคตโดยไม่มีทายาท บัลลังก์อังกฤษจึงถูกส่งข้ามไปไกลจนถึงญาติห่างๆ คนแรกที่เป็นโปรแตสแตนท์คือ คือจอร์ชแห่งฮาโนเวอร์ (พระเจ้าจอร์ชที่ 1)

    พระเจ้าจอร์ชที่ 1 ผู้สืบทอดบัลลังก์คนต่อมามีศักดิ์เป็นเหลนของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 กษัตริย์ราชวงศ์สจวตพระองค์แรกที่ได้ครองบัลลังก์อังกฤษต่อจากควีนเอลิซาเบธที่ 1 โดยพระองค์นั้นสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธผู้เป็นลูกสาวคนโต

    อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนการสืบราชบัลลังก์แบบจาโคไบต์มองว่าพระราชบัญญัติของควีนแอนน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพระองค์ไม่ได้มีสิทธิ์เป็นราชินีตัวจริง ดังนั้นการสืบบัลลังก์แบบจาโคไบต์ จึงยังให้สิทธิ์ทายาทสายใกล้กว่าที่นับถือคาทอลิก

    เจมส์ที่ 3 The Pretender มีลูกชายสองคน น่าเสียดายที่สองคนนี้ไม่มีใครมีทายาททำให้หากเรานับการสืบราชบัลลังก์จากตรงนี้ สายชายล้วนของราชวงศ์สจวตก็ต้องจบลงอยู่ดี แต่แทนที่จะข้ามไปไกลถึงรุ่นเหลนของเจมส์ที่ 1 การสืบราชบีลลังก์แบบจาโคไบต์มอบสิทธิ์ให้ทายาทสายใกล้กว่า คือเจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนน์ สจวต น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าชาร์ลที่ 2 และเจมส์ที่ 2

    เจ้าหญิงเฮนเรียตตานั้นสมรสกับน้องชายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง) แน่นอนว่าทายาทของทั้งสองเป็นคาทอลิกทำให้ถูกตัดสิทธิ์ไป เฮนเรียตตากับฟิลิปมีลูกสาวด้วยกันสองคนซึ่งปรากฎว่าสายของเจ้าหญิงเฮนเรียตตาสมรสต่อมากับกษัตริย์แห่งซาร์ดิเนีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิตาลี) ทำให้ราชวงศ์ที่สมควรได้ครอบครองบัลลัก์อังกฤษต่อไป หากยึดตามสายนี้ จะกลายเป็นราชวงศ์ซาวอย ไม่ใช่ฮาโนเวอร์

    สายเลือดของเจ้าหญิงเฮนเรียตตาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองซาร์ดิเนียมาถึงสามรุ่น ปรากฎว่ากษัตริย์คนสุดท้าย - วิกเตอร์ อิมานูเอลที่ 1 ไม่มีลูกชาย สิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์สายอิตาลีตัดสิทธิ์ผู้หญิง ทำให้บัลลังก์ถูกโยกไปให้ทายาทชายจากสายอื่น อย่างไรก็ดี เนื่องจากอังกฤษไม่ตัดสิทธิ์ทายาทผู้หญิง เจ้าหญิงมาเรีย เบียทริซ แห่งซาวอย ผู้เป็นลูกสาวคนโต จึงสามารถอ้างสิทธิ์บัลลังก์อังกฤษได้ มาถึงตอนนี้ราชวงศ์ฮาโนเวอร์ตั้งมั่นอย่างมั่นคงในอังกฤษ (ตรงกับยุคของพระเจ้าจอร์ชที่ 3) ทำให้ไม่มีใครสนใจเรื่องการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษอีกต่อไป

    เจ้าหญิงมาเรีย เบียทริซ สมรสเข้าราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-เอสเต ผู้ปกครองดัชชี่แห่งโมดินา (ปัจจุบันอยู่ในอิตาลี) เจ้าหญิงมีลูกชายสองคนแต่ไม่มีหลานชาย ทำให้สายการสืบราชบัลลังก์โมดินาที่ใช้ระบบ Male Only ถูกย้ายไปสายอื่น อย่างไรก็ดีเจ้าหญิงมาเรีย เบียทริซมีหลานสาวหนึ่งคน ซึ่งจะเป็นผู้ถือสิทธ์การสืบทอดบัลลังก์จาโคไบต์คนต่อไป - เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซา

    เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซา สมรสกับกษัตริย์ลุดวิกที่ 3 แห่งบาวาเรีย ลุดวิกที่ 3 เป็นหนึ่งในสี่กษัตริย์ผู้ครองบัลลังก์เยอรมัน ทรงนำทัพต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ หลังจักรวรรดิเยอรมันล่มสลาย ลุดวิกที่ 3 สละราชสมบัติ และระบบกษัตริย์ของบาวาเรียก็ถึงการจบลงเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ดี มาเรียเทเรซาและลุดวิกที่ 3 มีทายาทด้วยกันอีกหลายคน ซึ่งหากเรายึดตามกฎการสืบราชบัลลังก์แบบจาโคไบต์ ก็น่าสนใจว่าผู้มีสิทธิ์อ้างบัลลังก์อังกฤษในระบบนี้ คือเจ้าชายฟรันซ์ ดยุกคนปัจจุบันแห่งบาวาเรีย

    เจ้าชายฟรันซ์นั้นนอกจากจะมีสิทธิ์เป็นกษัตริย์อังกฤษแบบจาโคไบต์ พระองค์ยังมีสิทธิ์ในการครองบัลลังก์บาวาเรีย หากระบบกษัตริย์ถูกฝืนฟูขึ้นใหม่ในเยอรมัน นั่นเท่ากับว่าอังกฤษจะมีกษัตริย์คนเดียวกันกับอาณาจักรบาวาเรีย และราชวงศ์ที่ปกครองอังกฤษในปัจจุบันจะเป็นราชวงศ์ราชวงศ์วิทเทลส์บัค ไม่ใช่วินเซอร์

    แน่นอนว่ามาถึงตอนนี้ไม่มีใครสนใจอ้างสิทธื์บัลลังก์อังกฤษอีกต่อไป กลุ่มผู้สนใจลำดับการสืบราชสมบัติแบบจาโคไบต์เป็นแค่ผู้สนใจศึกษา what if ในประวัติศาสตร์มากกว่าการหาความชอบธรรมให้สายเลือดที่แท้จริง ดังนั้นจุดประสงค์ของการสืบหาทายาทของเจมส์ที่ 2 จึงเป็นไปเพื่อความบันเทิงไม่ต่างอะไรจากการตามหาพระราชาในออสเตรเลีย

    ปล มีคำกล่าวว่าสายเลือดของเจ้าหญิงไดอาน่ามีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษมากกว่าเจ้าชายชาร์ล ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าพระเจ้าชาร์ลที่ 2 แม้จะไม่มีทายาทกับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ก็มีลูกนอกสมรสหลายคน หนึ่งในลูกนอกสมรสของชาร์ลที่ 2 คือเฮนรี่ ฟิตซ์รอย (นามสกุลฟิตซ์รอยแปลว่าลูกลูกชายของกษัตริย์ มักมอบให้ลูกนอกสมรสของพระราชา) ส่วนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้ถูกขับไล่ แม้ว่าลูกสาวที่ถูกต้องตามกฎหมายสองคน (เจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงแอนน์) จะไม่มีทายาท แต่ลูกสาวนอกสมรสของพระองค์ยังคงมีลูกหลานต่อมา ในจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ ทายาทของเฮนรี่ ฟิตซ์รอย และทายาทจากลูกนอกสมรสของเจมส์ที่ 2 สมรสกัน - แอดิเลด ซีมัวร์ หนึ่งในทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากเจมส์ที่ 2 และชาร์ลที่ 2 ผ่านการแต่งงานในครั้งนี้ เป็นแม่ของเอิร์ลที่ 6 แห่งสเปนเซอร์ ทำให้เจ้าหญิงไดอน่า สเปนเซอร์ เป็นผู้สืบสายเลือดของราชวงศ์สจวตด้วยเช่นกัน สายเลือดของเจ้าหญิงไดอาน่านั้น หากตัดเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย เรียกได้ว่ามีความใกล้ชิดกับบัลลังก์มากกว่าเจ้าชายชาร์ลเสียอีก

    บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

    วิลเลียมและแมรี่กับหมายเชิญให้มายึดครองอังกฤษ -

    ถ้าระบบกษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูในเยอรมัน ใครจะเป็นกษัตริย์และไกเซอร์คนปัจจุบันของประเทศ? -

    จริงหรือไม่ กษัตริย์ของอังกฤษตัวจริง ใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย?! -

    References:

    The Jacobite Heritage - http://www.jacobite.ca

    The Jacobite Kings and Their Heirs - http://www.jacobite.ca/kings/

    Who Would be Jacobite King of the UK Today? -


    Dr Kat and Sophia of Hanover -


    https://www.facebook.com/1561493957194025/posts/5062441517099234/
     
  3. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ที่สุดแห่งปัญหา ว่าด้วยลำดับการสืบราชสมบัติสุดสับสนของราชวงศ์ทิวเดอร์

    เฮนรี่ที่ 8 เป็นที่จดจำในฐานะกษัตริย์ผู้ขยันเปลี่ยนภรรยา ในบรรดาราชินีทั้ง 6 คน ผลจากการแต่งงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าตอบแทนเขาด้วยทายาทเพียง 3 คน ทั้งหมดนี้ไม่มีใครมีลูกหลานทำให้สายการสืบราชสมบัติของเฮนรี่ต้องจบลงในเวลาอันสั้น ปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติตามหลอกหลอนเฮนรี่มาตลอดรัชสมัย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ของเส้นทางการสืบราชบัลลังก์ที่ถูกเปลี่ยนไปมาหลายครั้งก่อนการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

    ในปี 1509 เฮนรี่ที่ 8 สมรสครั้งแรกกับแคทเธอรีนแห่งอารากอนผู้มีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้เพราะเคยสมรสกับพี่ชายมาก่อน (อาเธอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พี่ชายคนโตของเฮนรี่สิ้นพระชนม์ก่อนได้ขึ้นครองราชย์) การแต่งงานของเฮนรี่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แคทเธอรีนตั้งท้องแทบในทันที น่าเสียดายที่ท้องแรกของแคทเธอรีนจบลงด้วยการแท้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในสมัยนั้น แคทเธอรีนตั้งท้องครั้งต่อไปในเวลาไม่นาน คราวนี้เธอคลอดลูกชาย - เฮนรี่ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ เฮนรี่ตัวน้อยเป็นทายาทที่ชอบธรรมได้เพียงสองเดือนก็สิ้นใจ ทำให้ตำแหน่งรัชทายาทว่างลงอีกครั้ง

    เมื่อแคทเธอรีนและเฮนรี่ยังไม่มีทายาท ตำแหน่งผู้สืบทอดบัลลังก์ในกรณีที่เฮนรี่เสียชีวิตลงในระหว่างนี้ จึงควรเป็นของพี่สาวของเฮนรี่ - เจ้าหญิงมาร์กาเรต ทิวเดอร์ ซึ่งตอนนี้สมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 4 และมีฐานะเป็นราชินีแห่งสกอตแลนด์ อย่างไรก็ดีรัฐสภาอังกฤษคัดค้านการให้มาร์กาเรตเป็นทายาท เพราะเกรงว่าหากพระองค์ได้ปกครองอังกฤษจริง อังกฤษก็คงตกอยู่ใต้อิทธิพลของสกอตแลนด์ซึ่งเป็นแผ่นดินคู่แค้นกันมานาน ดังนั้นตัวเลือกที่เป็นไปได้หากเฮนรี่สวรรคตไปในช่วงเวลานี้ จึงถูกเสนอว่าควรเป็นลูกพี่ลูกน้องอีกคนของเฮนรี่ - เฮนรี่ กูเทอนี เอิร์ลแห่งเดวอน

    เอิร์ลแห่งเดวอนเป็นลูกชายคนโตของแคทเธอรีนแห่งยอร์ก น้องสาวแท้ๆ ของเอลิซาเบธแห่งยอร์ก (พระมารดาของพระเจ้าเฮนรี่) ตัวเลือกนี้ตั้งอยู่ในพื้นฐานที่ว่าอังกฤษไม่ต้องการตกอยู่ในอำนาจของราชสำนักต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระสวามีของเจ้าหญิงมาร์กาเรต (พี่สาวคนโตของเฮนรี่ที่ 8 ) หรือพระสวามีของเจ้าหญิงแมรี่ (น้องสาวคนเล็กของเฮนรี่ที่ 8 )

    ในปี 1513 เฮนรี่ที่ยังไม่มีทายาททำสงครามกับฝรั่งเศส การทำสงครามในครั้งนี้เปิดโอกาสให้เจมส์ที่ 4 นำกองทัพเขาบุกตีอังกฤษ กองทัพของเขาแตกพ่าย พระเจ้าเจมส์ถูกฆ่าในสนามรบทิ้งบัลลังก์สกอตแลนด์ให้ลูกชายวัย 18 เดือน - พระเจ้าเจมส์ที่ 5 โดยมีมาร์กาเรต พี่สาวของเฮนรี่ที่ตอนนี้ตกพุ่มมายทำหน้าที่ราชินีผู้สำเร็จราชการ

    สถานการณ์เรื่องผู้สืบทอดดีขึ้นบ้างเมื่อแคทเธอรีนแห่งอารากอนคลอดทายาทได้สำเร็จในปี 1516 น่าเสียดายที่เพศของทารกเป็นเด็กหญิง เจ้าหญิงแมรี่ - ลูกสาวเพียงคนเดียวของแคทเธอรีนแห่งอารากอน แม้จะมีร่างกายแข็งแรงและเฉลียวฉลาด แต่เฮนรี่ก็ยังคิดว่าการไม่มีทายาทชายถือเป็นเรื่องบกพร่อง ในยุคนั้นสุขภาพและเพศของทารกถูกยกให้เป็นความผิดของมารดา เฮนรี่เริ่มมั่นใจว่าความผิดเรื่องลูกไม่ควรตกอยู่ที่ตัวเขาเมื่อพระราชามีบุตรชายนอกสมรสในปี 1519 เฮนรี่ดีใจจนออกนอกหน้ายอมรับเด็กชายแถมตั้งชื่อให้ว่าเฮนรี่ ฟิตซ์รอย โดยนามสกุล "ฟิตซ์รอย" นั้นแปลว่าลูกชายของกษัตริย์

    ในปี 1524 เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเฮนรี่และแคทเธอรีนคงไม่มีทายาทคนต่อไป เฮนรี่หนักใจว่าตัวเองจะยอมรับลูกสาว แต่งตั้งให้เธอเป็นทายาทอย่างเป็นทางการดีหรือไม่ ไม่มีราชินีคนไหนปกครองอังกฤษด้วยสิทธิ์ของตัวเองมาตั่งแต่ปี 1100s แน่นอนว่า กาลเวลาได้เปลี่ยนไปและประวัติศาสตร์ได้มอบตัวอย่างมากมายว่าผู้หญิงสามารถปกครองได้ดีไม่แพ้กัน อิซาเบลแห่งคาสตีล - สมเด็จยายของเจ้าหญิงแมรี่ เป็นราชินีนักรบผู้รวมอาณาจักรสเปน มาร์กาเรตแห่งออสเตรีย ลูกสาวจักรพรรดิมักซิมิเลียนแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จในแผ่นดินเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นสิ่งที่กวนใจเฮนรี่ จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องความสามารถ แต่น่าจะเป็นเพราะเขาต้องการให้ราชวงศ์ทิวเดอร์ได้รับการสืบทอดต่อไป ไม่ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ใหม่ที่จะขึ้นมามีอำนาจหลังการแต่งงานของเจ้าหญิง

    เฮนรี่ยังไม่ตัดสินใจเรื่องการตั้งเจ้าหญิงแมรี่เป็นทายาท ทรงทดลองส่งเจ้าหญิงไปปกครองลัดโลว์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเก่าของเจ้าชายอาเธอร์ - พี่ชายคนโตของเฮนรี่ที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน การส่งแมรี่ไปปราสาทลัดโลว์แม้ไม่ใช่การประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีผลในเชิงสัญลักษณ์เพราะเป็นขอบเขตอำนาจของผู้ครองตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ (ตำแหน่งรัชทายาทอังกฤษ) ในขณะที่เจ้าหญิงได้รับการทดสอบ เฮนรี่ก็ได้มอบตำแหน่งสำคัญให้เฮนรี่ ฟิตซ์รอยด้วยเหมือนกัน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นดยุกแห่งริชมอนและซัมเมอร์เซ็ท ซึ่งเป็นตำแหน่งเก่าของเจ้าชายเอ็ดมุน - น้องชายคนเล็กของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (เจ้าชายเอ็ดมุนสิ้นพระชมน์ตอนอายุแค่ 1 ขวบ ส่วนเฮนรี่ ฟิตซ์รอย จะเสียชีวิตในอีกไม่กี่ปีต่อมา อายุแค่ 17 ปี)

    เป็นไปได้ว่าเฮนรี่ต้องการทดสอบทั้งลูกชายและลูกสาวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหากทั้งสองยังไม่เป็นที่ถูกใจ ตัวเลือกที่สามของเฮนรี่ (ซึ่งเป็นตัวเลือกที่รัฐสภาของพระองค์ไม่ต้องการ) ก็ยังคงเป็นพี่สาวของพระองค์และหลานชายที่บัดนี้ครองตำแหน่งเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 5 มีข้อเสนอว่าเจ้าหญิงแมรี่น่าจะสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 5 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกันให้มันจบๆ แต่การสมรสไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพราะเมื่อเจมส์ที่ 5 โตเป็นหนุ่ม พระองค์สนใจสร้างพันธมิตรกับฝรั่งเศสมากกว่า ทำให้ต่อมาเจมส์ที่ 5 สมรสกับเจ้าหญิงมาเดลิน หนึ่งในพระธิดาของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส น่าเสียดายที่เจ้าหญิงมาเดลีนสุขภาพไม่แข็งแรง ทรงสิ้นพระชนม์หลังสมรสได้หนึ่งปี พระเจ้าเจมส์ที่ 5 จึงแต่งงานอีกครั้งกับมารีแห่งกีซ ซึ่งเป็นพระมารดาของแมรี่ ราชินีแห่งสกอตแลนด์

    เฮนรี่ยังมีตัวเลือกที่สี่ คือทายาทของเจ้าหญิงแมรี่ (ผู้เป็นน้องสาวคนเล็ก) เจ้าหญิงแมรี่เคยสมรสเป็นราชินีฝรั่งเศส ต่อมาสมรสครั้งที่สองกับชาร์ล แบรนดอน ดยุคแห่งซัฟโฟล์ เพื่อนสนิทของเฮนรี่ที่ 8 เจ้าหญิงแมรี่ในตอนนั้นมีลูกกับชาร์ล แบรนดอนสามคน คือลูกชายคนโตชื่อเฮนรี่ และลูกสาวอีกสองคนคือฟรานซิสและเอเลนอร์ (น่าเสียดายที่เฮนรี่ ผู้เป็นลูกชายคนเดียวเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้สายของเจ้าหญิงแมรี่เหลือแค่ลูกสาว)

    อย่างไรก็ดี เฮนรี่ยังไม่ได้คิดไกลไปขนาดนั้นเพราะในปี 1533 เฮนรี่หย่าขาดจากแคทเธอรีนแห่งอารากอนเพื่อสมรสกับผู้หญิงคนใหม่โดยหวังใจว่าพระองค์จะโชคดีมีทายาทชาย หญิงสาวผู้โชคดี (หรือโชคร้าย) คือแอนน์ โบลีน ในปี 1534 หลังแอนน์ โบลีนคลอดลูกสาว - เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติถูกเขียนขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเพื่อแต่งตั้งให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธเป็นรัชทายาทลำดับหนึ่ง (จนกว่าแอนน์ โบลีนจะมีลูกชาย) กฎการสืบราชสมบัตินี้เขียนขึ้นเพื่อตัดสิทธิ์เจ้าหญิงแมรี่ เพราะหากไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหญิงแมรี่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นลำดับแรก เพราะทรงเป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายแม้ว่าการสมรสของเฮนรี่และแคทเธอรีนจะกลายเป็นโมฆะไปแล้วก็ตาม

    เฮนรี่จะเปลี่ยนพระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติอีกครั้งในปี 1536 หลังประหารแอนน์ โบลีน เพื่อสมรสใหม่กับราชินีคนที่ 3 - เจน ซีมัวร์ ลำดับการสืบราชสมบัติครั้งนี้ถูกเขียนว่า เป็นของลูกชายของพระองค์กับเจน หรือลูกชายของพระองค์ภรรยาคนต่อไป หาไม่มีลูกชาย บัลลังก์จะตกเป็นของลูกสาวของพระองค์กับเจน หรือลูกสาวของพระองค์กับภรรยาคนต่อไป น่าสนใจว่าพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ฉบับที่ 2 ของปี 1536 ตัดชื่อของทั้งเจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงเอลิซาเบธออกไป ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไข ทั้งสองพระองค์ก็จะไม่มีสิทธิ์ครองบัลลังก์

    ในเมื่อเฮนรี่ไม่อยากให้ลูกสาวสองคนแรกขึ้นครองราชย์ และเจนในตอนนั้นยังแน่ว่าจะมีลูก รัฐสภาอังกฤษจึงเสนอว่าเฮนรี่จะต้องตั้งรัชทายาทสำรองเพิ่มลงไปเพื่อเป็นการกันไว้ก่อน ไม่ให้บัลลังก์ตกเป็นของเจมส์ที่ 5 (ตอนนั้นเจ้าหญิงมาร์กาเรต ผู้เป็นพี่สาวคนโตของเฮนรี่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว) การแต่งตั้งทายาทสำรองไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเจน ซีมัวร์ ให้กำเนิดลูกชายในปีต่อมา - เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

    เฮนรี่ที่ 8 ไม่มีทายาทอีกเลยหลังจากนั้น สร้างความลำบากใจให้สภาที่กลัวว่าหากเอ็ดเวิร์ดจากไป บัลลังก์จะกลายเป็นของเจมส์ที่ 5 อยู่ดี ดูเหมือนว่ารัฐสภาจะกลัวการได้กษัตริย์จากสกอตแลนด์พอๆ กับที่เฮนรี่กลัวการมอบบัลลังก์ให้ลูกสาว

    ในระหว่างปี 1539-41 มีการล้างบางครั้งใหญ่กำจัดทายาทชายหลายคนที่อาจเป็นเสี้ยนหนามราชบัลลังก์ เริ่มจาก เฮนรี่ โปล บารอนมอนแตกิว (ลูกชายมาร์กาเรต โปล เคาน์เตสแห่งซอลส์บรี ผู้สืบเชื้อสายมาจากอนุชาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4) ตามมาด้วยเฮนรี่ กูเทอนี เอิร์ลแห่งเดวอน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องฝั่งแม่ของพระเจ้าเฮนรี่

    เฮนรี่กำจัดอำนาจของตระกูลโปลและกูเทอนี พระองค์เนรเทศน้องชายสองคนของเฮนรี่ โปล - เรจินัล ก็อทฟรีย์ ออกจากประเทศ ส่วนมาร์กาเรต โปล ผู้เป็นมารดาถูกประหาร สำหรับตระกูลกูเทอนี ภรรยาและลูกชายคนเดียวของเฮนรี่ กูเทอนี ถูกกักบริเวณในหอคอยลอนดอน เกอร์ทรูด - ภรรยาของเขาถูกปล่อยตัวออกมาก่อน ส่วนเอ็ดเวิร์ด - ผู้เป็นลูกชายถูกขังลืมเป็นเวลา 15 ปี ก่อนถูกปล่อยตัวในรัชสมัยของควีนแมรี่ที่ 1

    ในปี 1544 เฮนรี่ที่ตอนนี้ไม่รู้อะไรดลใจ เปลี่ยนใจอีกครั้งและเปลี่ยนพระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติเป็นครั้งที่ 3 รอบนี้เขาใส่ชื่อเจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงเอลิซาเบธกลับเข้าไปโดยให้อยู่ตามหลังเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด / บุตรหรือธิดาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด / บุตรหรือธิดาของเฮนรี่ที่เกิดกับแคทเธอรีน พาร์ - ราชินีองค์ปัจจุบัน / บุตรหรือธิดาของเฮนรี่ที่เกิดกับราชินีคนต่อไปในอนาคต

    พระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ฉบับที่ 3 ยังไม่เป็นที่พอใจเพราะรัฐสภาอังกฤษยังอยากให้เฮนรี่ตั้งรัชทายาทสำรองต่อจากชื่อของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ถึงอย่างนั้นพระราชบัญญัตินี้ก็ไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกระทั่งช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเฮนรี่จะสวรรคต ประเด็นนี้สร้างความสับสนและกลายเป็นข้อถกเถียงในวงการประวัติศาสตร์ เนื่องจากเฮนรี่ที่ 8 แก้ไขลำดับการสืบราชบัลลังก์ครั้งสุดท้ายโดยไม่มีการลงพระปรมาภิไธย เพียงแต่ใช้ตราประทับ ซึ่งการแก้ไขในครั้งสุดท้าย มีการเพิ่มข้อความโดยไล่ลำดับการสืบราชบัลลังก์ดังนี้

    1.เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
    2.ทายาทตามสายเลือดของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
    3.บุตรหรือธิดาของเฮนรี่ที่เกิดกับแคทเธอรีน พาร์ - ราชินีองค์ปัจจุบัน
    4.บุตรหรือธิดาของเฮนรี่ที่เกิดกับราชินีคนต่อไปในอนาคต
    5.แมรี่ ลูกสาวของเฮนรี่กับแคทเธอรีนแห่งอารากอน โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหญิงต้องการสมรส การสมรสจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะองคมนตรีซึ่งพระเจ้าเฮนรี่เป็นผู้แต่งตั้งไว้สำหรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
    6.ทายาทตามสายเลือดของแมรี่
    7.เอลิซาเบธ ลูกสาวของเฮนรี่กับแอนน์ โบลีน โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกันกับแมรี่
    8.ทายาทตามสายเลือดของเอลิซาเบธ
    9.ทายาทตามสายเลือดของเลดี้ฟรานซิส - ลูกสาวคนโตของเจ้าหญิงแมรี่ ทิวเดอร์ ราชินีแห่งฝรั่งเศส
    10.ทายาทตามสายเลือดของเลดี้เอเลนอร์ - ลูกสาวคนรองของเจ้าหญิงแมรี่ ทิวเดอร์ ราชินีแห่งฝรั่งเศส

    หากแมรี่หรือเอลิซาเบธไม่ทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ให้ทั้งสองหมดสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์

    การแก้ไชพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดจากพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ฉบับที่ 3 มีความน่าสนใจสองอย่าง อย่างแรกคือการเพิ่มรัชทายาทตัวสำรอง โดยการข้ามสายของเจ้าหญิงมาร์กาเรต ทิวเดอร์ ซึ่งมีอาวุโสมากกว่าแต่ไปยกบัลลังก์ให้ทายาทสายเจ้าหญิงแมรี่ ทิวเดอร์ ซึ่งเป็นน้องสาวคนเล็ก อย่างหลังคือเฮนรี่ไม่ได้มอบบัลลังก์ให้ฟรานซิสหรือเอเลนอร์โดยตรง แต่กลับยกให้ทายาทตามสายเลือดของทั้งสองคน สร้างความฉงนว่าทำไมถึงจงใจระบุไว้แบบนั้น? ช่วงเวลาที่เอกสารฉบับนี้ถูกแก้ไข เกิดขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 1546 ซึ่งพระเจ้าเฮนรี่จะสวรรคตในอีกหนึ่งเดือนต่อมาคือมกราคม 1547 เป็นไปได้หรือไม่ที่พระองค์เกิดเปลี่ยนใจ แต่ทรงอ่อนแอเกินไปที่จะลงนาม หรือลำดับการสืบราชบัลลังก์ถูกปลอมแปลงขึ้นโดยกลุ่มขุนนางที่มีความพยายามกีดกันสายเลือดของเจ้าหญิงมาร์กาเรตซึ่งมีความเกี่ยวพันกับสกอตแลนด์ออกไปตั้งแต่ต้น?

    ช่องโหว่เรื่องการลงพระปรมาภิไธยนำไปสู่ข้อถกเถียงว่ากลุ่มขุนนางที่ถูกตั้งขั้นมาเพื่อเป็นองคมนตรีของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดนั้น ล้วนเป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้งคริสตจักรแห่งอังกฤษและคงไม่อยากให้กษัตริย์สกอตแลนด์ที่เป็นคาทอลิกได้มีโอกาสขึ้นนั้งบัลลังก์ ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ขึ้นครองราชย์เป็นควีนเอลิซาเบธที่ 1 เมื่อพระองค์ไม่มีทายาท ข้อถถเถียงเรื่องการสืบราชสมบัติว่าควรตกเป็นของสายของเจ้าหญิงแมรี่ (ตามระบุไว้ในเอกสาร) หรือควรเป็นไปตามการสืบราชบัลลังก์ตามสายอาวุโส (senior line) ซึ่งควรเป็นสายของเจ้าหญิงมาร์กาเรต ถูกยกขึ้นมาพูดใหม่ เอลิซาเบธไม่ได้ยืนยันเอกสารที่เฮนรี่ - พระบิดาของพระองค์ ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย แต่ก็ไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นเป็นรัชทายาทอย่างเป็นทางการ เป็นเวลายาวนานหลายสิบปีที่พระองค์เปิดให้ปัญหานี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แม้แต่วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีชื่อดังของยุค ก็นำคำถามที่ไขไม่ได้ ไปสร้างเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบทประพันธ์

    หลังเอลิซาเบธที่ 1 สวรรคตโดยไม่มีทายาทตามสายเลือด บรรดาขุนนางอังกฤษเลือกสนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทสายตรงของเจ้าหญิงมาร์กาเรต โดยใช้เหตุผลว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ครั้งสุดท้ายของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการสืบราชบัลลังก์จึงควรเป็นไปตามระบบกฎหมายจารีต คือการสืบสายเลือดของทายาทที่มีอาวุโสสูงกว่า

    การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในตอนนั้นทำให้สายการสืบสืบราชสมบัติอังกฤษ กลับมาตั้งมั่นบนสายเลือดของเจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายร้อยปีสืบจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ไปหลายครั้ง แต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ครอบครองบัลลังก์อังกฤษในปัจจุบัน ก็ยังสามารถสืบสายเลือดกลับไปได้ถึงเจ้าหญิงมาร์กาเรต พี่สาวคนโตของเฮนรี่ที่ 8

    References:

    The Tudor Succession Problem - https://tudortimes.co.uk/politics-economy/tudor-succession-problem/henry-viii

    Revision of Last Will and Testament: Henry VIII - https://tudorsdynasty.com/revision-will-henry-viii-1546/

    Family Trees: Succession In Henry VIII’s Will - https://thehistoryofengland.co.uk/resource/family-trees-succession-in-henry-viiis-will/

    Margaret Tudor: The Forgotten Matriarch of the Monarchy -


    The Family of Henry VIII: an Allegory of the Tudor Succession - https://museum.wales/art/online/?action=show_item&item=737

    Henry VIII: December 1546, 26-31 - https://www.british-history.ac.uk/letters-papers-hen8/vol21/no2/pp313-348
     
  4. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    รถไฟปิดผนึกของเลนิน ว่าด้วยเส้นทางกลับรัสเซียใต้ความช่วยเหลือของเยอรมัน

    มีคำกล่าวว่าการปฏิวัติในรัสเซียที่นำไปสู่การสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์เป็นการปฏิวัติที่ปราศจากแกนนำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 รัฐบาลประกาศนโยบายปันส่วนอาหารนำไปสู่ข่าวลือว่าอาจเกิดการขาดแคลนขนมปัง การกักตุนเพื่อแย่งชิงอาหารก่อตัวขึ้นทั่วไป บรรดากรรมกรในโรงงานประท้วงเรียกร้องให้ปรับค่าแรงเพื่อให้สมดุลกับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อและอาหารขาดแคลนกัดกินรัสเซียมานาน รัฐบาลพระเจ้าซาร์เพิ่มภาษี กู้เงินต่างชาติ และพิมพ์ธนบัตรออกมามากมายเพื่อใช้จ่ายในสงครามโลกครั้งที่ 1

    แทนที่ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข เจ้าของโรงงานกลับตัดสินใจปลดคนงานที่ประท้วงทั้งหมด ส่งผลให้การประท้วงยิ่งกระจายเป็นวงกว้าง และเมื่อเวลามาถึงบรรดาประชาชนและแม้แต่ทหารของพระเจ้าซาร์ก็วางปืนลง ทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จอย่างฉับพลัน ยิ่งใหญ่ และไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เลออน ทรอตสกี ตอนนั้นยังอยู่ที่อเมริกา สตาลินอยู่ไซบีเรีย ส่วนเลนิน บิดาแห่งสหภาพโซเวียต ลี้ภัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

    กว่าข่าวการปฏิวัติจะไปถึงเลนินก็ต้องใช้เวลาอีกร่วมสัปดาห์ นาเดียชด้า ครูปสกาย่า - ภรรยาของเลนิน กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ข่าวการปฏิวัติเดินทางมาถึงประตูบ้าน “อิลลิช (หมายถึงเลนิน) กระตือรือร้นจะกลับรัสเซียในทันที เรารู้ว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสไม่มีวันเปิดทางให้บอลเชวิคกลับรัสเซียผ่านแขตแดนของตน ดูเหมืนอว่าในระหว่างสงคราม การกลับรัสเซียอย่างถูกกฎหมายไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายล่ะ? เราจะทำได้อย่างไร...”

    ความกังวลของนาเดียชด้าเป็นความจริง ไม่มีวันที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสจะยอมให้เลนินเดินทางผ่านเขตแดนของตัวเองหรือชาติพันธมิตร พวกเขารู้ว่าบอลเชวิคมีแนวคิดดึงรัสเซียออกจากสงครามสร้างความอ่อนแอให้แนวรบตะวันออก อีกทางหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ คือการพึ่งพาเยอรมันซึ่งเป็นชาติฝั่งศัตรู เลนินรู้ว่าเยอรมันทุ่มเงินทุนมากมายเพื่อสร้างความแตกแยกในรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ทางการเมืองอ่อนแอที่สุดในกลุ่มมหาอำนาจ

    โรเบิร์ต กริม นักการเมืองผู้สนับสนุนระบบสังคมนิยมชาวสวิส อาสาเป็นตัวกลางติดต่อไปทางเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำสวิตเซอร์แลนด์ การเจรจาจบลงด้วยข้อตกลงที่ระบุว่าเยอรมันจะจัดหารถไฟและอนุญาตให้เลนินกับพรรคพวกเดินทางผ่านเขตแดนของเยอรมันไปสู่ประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง จากนั้นเลนินจะเดินทางเข้ารัสเซียโดยผ่านทางฟินแลนด์

    รถไฟที่เลนินโดยสารมีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า รถไฟปิดผนึกของเลนิน (Lenin's Sealed Train) เยอรมันไม่อยากรับผิดชอบว่าตัวเองยอมให้เลนินผ่านเขาประเทศ จึงสร้างเขตแดนปลอมๆ ขึ้นมา ขีดเส้นในตู้รถไฟบอกว่าบริเวณที่เลนินและพรรคพวกโดยสารเป็นเขตแดนของประเทศรัสเซีย ดังนั้นถือว่าเลนินไม่เคยเหยียบเข้าเยอรมัน ซึ่งนั่นหมายความว่าเลนินกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ไม่สามารถข้ามเส้นแบ่ง (ซึ่งเป็นแค่เส้นแบ่งเขียนด้วยสีชอล์ค) มาได้ และไม่มีชาวเยอรมันคนไหนได้รับอนุญาตให้ข้ามไปเช่นเดียวกัน

    อันที่จริงรถไฟปิดผนึกของเลนินเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางกฎหมายมากกว่าการปฏิบัติ เพราะการปิดผนึกไม่ใช่การปิดตาย ประตูหน้าต่างรถโดยสารยังสามารถเปิดได้ ผู้โดยสารชาวรัสเซียบันทึกว่าพวกเขาพูดคุยซื้อสินค้าจากชาวเยอรมันผ่านทางหน้าต่างเมื่อรถไฟจอดพักตามชานชาลา มีนักสังคมนิยมเยอรมันจำนวนมากเดินทางมาเพื่อหวังพูดคุยกับผู้ร่วมอุดมการณ์ หนังสือพิมพ์ยังถูกส่งผ่านให้กันเพื่อแจ้งสถานการณ์ในแนวรบ การปิดผนึกรถไฟ ในอีกมุมหนึ่ง เป็นแค่วาทกรรมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ ป้องกันไม่ให้เลนินถูกกล่าวหาจากเพื่อร่วมชาติว่าเป็นพวกขายชาติรับความช่วยเหลือจากศัตรู

    ในวันที่ 9 เมษายน 1917 รถไฟของเลนินพร้อมออกเดินทาง เขาและผู้ร่วมอุดมการณ์ ขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟซูริค มีการเซ็นเอกสารล่วงหน้า ยอมรับว่าพวกเขายินดีรับความเสี่ยงหากถูกจับทันที่ที่ก้าวเข้าเขตแดนของรัสเซีย เลนินยังส่งโทรเลขไปก่อน ขอให้นักสังคมนิยมคนอื่นมาส่งเขาที่สถานีเพื่อเป็นการสนับสุนในเชิงสัญลักษณ์ วิลลิ มุนเซนเบิร์ก นักสังคมนิยมชาวเยอรมันกล่าวว่าตัวเขานั้นได้ยินเลนินกล่าวคำอำลาขณะรถไฟเริ่มเคลื่อนตัว “ถูกแขวนคอหรือขึ้นสู่อำนาจ พวกเราจะได้รู้กันในอีกสามเดือน”

    เอริช ลูเดนดอร์ฟ นายพลและผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขียนในบันทึกของเขาว่า “รัฐบาลของเราต้องยอมรับความเสี่ยงครั้งใหญ่ แต่ในมุมมองทางการทหาร การส่งเลนินกลับไปมีความสำคัญ รัสเซียจะต้องล่มสลาย” การเดินทางของเลนินถูกจัดลำดับด้านความสำคัญไว้สูงมาก แม้แต่รถไฟของเจ้าชายรัชทายาทเยอรมัน (มกุฎราชกุมารวิลเฮล์ม ลูกชายไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2) ยังต้องจอดรอเพื่อให้รถไฟปิดผนึกของเลนินเดินทางผ่านไปก่อน

    เมื่อมาถึงสุดเขตแดนเยอรมัน เลนินเปลี่ยนรถไฟอีกครั้งเพื่อเดินทางผ่านสวีเดน ฟินแลนด์ และมาถึงรัสเซียอย่างปลอดภัย การมาถึงของเลนินมักถูกพูดถึงอย่างยิ่งใหญ่ในหนังโฆษณาประชาสัมพันธ์ยุคสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ดี เลนินไม่ได้เป็นที่ตอนรับของทุกคน ผู้ร่วมอุดมการณ์จำนวนมากมองว่าแนวคิดของเลนินสุดโต่งเดินไป หลายคนใช้ข้ออ้างเรื่องการเดินทางโดยรถไฟใต้ความช่วยเหลือของเยอรมันเพื่อโจมตีเขาว่าเป็นพวกขายชาติ ทำงานให้เยอรมัน และต้องการนำรัสเซียออกจากสงครามเพราะได้ใบสั่งมาจากไกเซอร์

    เลนินไม่ถูกใจรัฐบาลเฉพาะกาลของรัสเซียด้วยเหมือนกัน เขามอกว่าคนพวกนี้ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า แถมยังเอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอ้าง ไม่ยอมถอนรัสเซียออกจากสงครามตามที่ประชาชนต้องการ

    เลนินไม่เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว เขาตรงไปที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ของบอลเชวิคและกล่าวว่า

    “ข้าพเจ้าขอเสนอให้เตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติครั้งที่ 2”

    ข้อเสนอของเลนินนำไปสู่การปฏิวิติอีครั้งในเดือนตุลาคม ซึ่งตามมาด้วยชัยชนะเด็ดขาดของบอลเชวิค

    References:

    สิบวันเขย่าโลก: Ten Days That Shook the World โดยจอห์น รีด แปลโดย สุทิน วรรณบวร สำนักพิมพ์แสงดาว

    To the Finland Station in a not-so-sealed Train - https://blogs.bl.uk/european/2017/0...PLIhL3ZXm_Ea9Zq4psPyMFxgZOmMWKoAO-T2m2JJ90KJA

    Lenin's Sealed Train - https://spartacus-educational.com/L...2v0E7b1TVNbnS7bFFY7dbZEuAKYrXUkxNKeQkykCFPQPg

    16th April 1917: Lenin arrives back in Russia in the sealed train after a decade in exile -


    Royal History’s Biggest Fibs: The Russian Revolution | BBC Documentary -


     
  5. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    โคบูร์ก - เมื่อควีนวิกตอเรียเสด็จบ้านเกิดพระสวามีหลังเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์

    “ถ้าฉันไม่ใช่ตัวฉันเองในตอนนี้ บ้านที่แท้จริงของฉันคือโคบูร์ก” ควีนวิกตอเรียเขียนไว้ในไดอารีในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 27 ปี และมีโอกาสได้เสด็จเยือนบ้านเกิดของเจ้าชายอัลเบิร์ต - พระสวามีของพระองค์ซึ่งมีฐานะแต่กำเนิดเป็นลูกชายคนรองของดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

    คำกล่าวของควีนวิกตอเรียนั้นเป็นมากกว่าคำเปรียบเปรย เพราะนอกจากพระสวามีของพระองค์จะเป็นคนเยอรมัน พระมารดาของพระองค์ - วิกตอเรียดัชเชสแห่งเคนท์ ก็เป็นเจ้าหญิงจากซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา (พ่อของอัลเบิร์ตกับแม่ของควีนวิกตอเรียเป็นพี่น้องกัน) ควีนวิกตอเรียนั้นสามารถตรัสภาษาเยอรมันได้อย่างแตกฉาน อันที่จริงพระองค์ชอบตรัสภาษาเยอรมันมากกว่าในหลายโอกาส นั่นเป็นเพราะว่าการตรัสภาษาอังกฤษของพระองค์มักจะเป็นการกล่าววาจาในฐานะราชินี ในขณะที่การตรัสภาษาเยอรมันมักเกิดขึ้นในฐานะเป็นภรรยาและลูกสาว

    1861 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของควีนวิกตอเรีย ทรงเสียพระมารดาและพระสวามีไปพร้อมๆ กัน และสถานที่แรกๆ ที่ทรงเสด็จไปหลังจากนั้น คือโคบูร์ก ควีนวิกตอเรียเดินทางมาถึง Rosenau ปราสาทเล็กๆ ที่เป็นบ้านเกิดของเจ้าชายอัลเบิร์ตในปี 1862 ทรงเซ็นชื่อในสมุดเยี่ยมของปราสาทว่า “ราชินีวิกตอเรีย ภรรยาม่ายผู้โดดเดี่ยวของอัลเบิร์ตผู้เป็นที่รัก”

    แม้ควีนวิกตอเรียจะไม่ได้มาปราสาทเป็นครั้งแรก แต่การเสด็จรอบนี้ เป็นครั้งแรกที่ทรงเสด็จมาตามลำพัง หลังแต่งงานกันไม่นานอัลเบิร์ตกระตือรือร้นจะพาภรรยาสาว ข้ามทะเลมาเยอรมันเพื่อรู้จักครอบครัวของพระองค์ และสถานที่ที่ควีนวิกตอเรียประทับใจมากที่สุด ก็คือปราสาท Rosenau ซึ่งเป็นบ้านที่อัลเบิร์ตใช้ชีวิตในวัยเด็ก พระบิดาของเจ้าชายอัลเบิร์ตออกแบบปราสาท Rosenau ให้มีกลิ่นอายอบอุ่นผสานดีไซน์แบบอัศวินยุคกลาง ควีนวิกตอเรียกับพระสวามีได้ใช้เวลาสั้นๆ ขี่ม้าในทุ่งกว้าง มีความสุขกับชีวิตแต่งงานเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

    ควีนวิกตอเรียชื่นชมเยอรมันมาตลอด ทรงชอบวัฒนธรรมและผู้คนในเยอรมัน ความรู้สึกนั้นยิ่งทวีความสำคัญหลังเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ ควีนวิกตอเรียเห็นโคบูร์กเป็นตัวแทนของเจ้าชาย ทรงสเด็จเมืองเล็กๆ ถึง 7 ครั้ง กระทั่งเบนจามิน ดิสราเอลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวเตือนราชินีว่า “ฝ่าบาทไม่สามารถปกครองจักรวรรดิอังกฤษจากโคบูร์ก”

    หนึ่งในการเสด็จโคบูร์กครั้งสำคัญและเป็นที่จดจำมากที่สุด คือการเปิดอนุสาวรีย์เจ้าชายอัลเบิร์ตในจัตุรัสกลางเมืองเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1865 (วันที่ 26 สิงหาคม เป็นวันเกิดของเจ้าชาย) เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ลูกๆ ทั้ง 9 คนของควีนวิกตอเรียได้มารวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ (ตอนนั้นเจ้าหญิงวิกตอเรีย และเจ้าหญิงอลิซ ลูกสาวคนโตสองคนของบ้านแต่งงานและย้ายไปอยู่กับสามีที่เยอรมัน จึงเป็นเรื่องยากที่ทั้งหมดจะอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า) แอนส์ที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา ผู้เป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าชายอัลเบิร์ตก็มาร่วมงาน อันที่จริงเจ้าชายอัลเบิร์ตเคยสั่งเสียไว้ ว่าถ้าพระองค์สิ้นพระชนมไปก่อน ไม่ต้องเล่นใหญ่สร้างอะไรเพื่อเป็นเกียรติให้พระองค์ แต่ควีนวิกตอเรียกลับทำทุกอย่างในทางตรงกันข้าม

    ด็อกเตอร์คารีนา โอบาร์ก นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและเยอรมันกล่าวถึงพฤติกรรมของควีนวิกตอเรียว่า “ควีนวิกตอเรียต้องการให้ความเศร้าของพระองค์เป็นที่พบเห็นตลอด นอกจากจะแต่งกายสีดำ ราชินียังลากลูกๆ ให้ติดในวังวงของความเสียใจ ควีนวิกตอเรียพาลูกทุกคนมาอยู่ร่วมกันในห้องของเจ้าชายปีละครั้ง เล่าให้ฟังว่าอัลเบิร์ตเป็นคนดีแค่ไหน ซึ่งกลายเป็นว่าได้ผลตรงกันข้าม เพราะแทนที่ลูกๆ จะเห็นพ่อเป็นตัวอย่างกลับเกิดพฤติกรรมต่อต้าน”

    แอนส์ที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา - พี่ชายคนโตของเจ้าชายอัลเบิร์ต สิ้นพระชนม์โดยไม่มีทายาท ทำให้ควีนวิกตอเรียตั้งใจเป็นนักหนาให้ลูกชายคนหนึ่งของพระองค์สืบทอด “ดัชชี่เล็กๆ ที่น่ารัก” ผลปรากฎว่าเจ้าชายอัลเฟรด - ลูกชายคนที่สองของควีนวิกตอเรียได้เป็นผู้สืบทอดดัชชี่ต่อมา น่าเสียดายว่าเจ้าชายอัลเฟรดเสียลูกชายคนเดียวไปก่อน ควีนวิกตอเรียที่รักโคบูร์กเกินกว่าจะปล่อยไป บังคับให้เจ้าชายชาร์ล-เอ็ดเวิร์ด หลานชายคนเล็กซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าชายลีโอปอล (ลูกชายคนสุดท้องของควีนวิกตอเรีย) สืบทอดดัชชี่นี้ต่อเพราะในความทรงจำของราชินี เจ้าชายลีโอปอลที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังหนุ่มเพราะโรคฮีโมฟิเลีย เป็นลูกชายที่มีลักษณะละม้ายคล้ายเจ้าชายอัลเบิร์ตมากที่สุด

    ปัจจุบันผู้ครองตำแหน่งเจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา ยังทรงเป็นทายาทสายตรงของควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งสืบเชื้อสายมาจกเจ้าชายลีโอปอล

    ฮูเบิร์ต ผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์เจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา กล่าวถึงความทรงจำของครอบครัวว่า “ที่ปราสาท Ehrenburg เรามีห้องพิเศษที่เก็บภาพของควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต เพื่อบอกเล่าความผูกพันของสายตระกูลกับราชวงศ์อังกฤษ เหตุการณ์สำคัญที่สุดเกี่ยวกับราชินีและโคบูร์กคือตอนที่พระองค์สเด็จมาเปิดอนุสาวรีย์เจ้าชายในปี 1865 เป็นที่รู้กันว่าราชินีปรากฎพระองค์ในที่สาธารณะน้อยมากหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชาย” คำกล่าวของเจ้าชายบอกให้เรารู้ว่าโคบูร์ก พื้นที่เล็กๆ ในเยอรมัน มีความสำคัญกับราชินีมากขนาดไหน

    References:
    https://www.rct.uk/collection/91474...LnKpwGYIfaI6orTeMzH2gW57oqPHINkwdb-3sIlyCVhAI
    https://www.heatheronhertravels.com/coburg-victoria-and-albert-in-germany/
    http://www.garethhuwdavies.com/trav...burg-the-town-that-made-queen-victoria-smile/

     
  6. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    “เมื่อการปฏิวัติสัมฤทธิ์ผล อำนาจทั้งหมดก็ร่วงหล่นสู่พื้นดิน”

    คำกล่าวสั้นๆ ในหนังสือเรื่องสิบวันเขย่าโลกของจอห์น รีด นักข่าวสงครามชาวอเมริกันผู้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ระหว่างการปฏิวัติรัสเซียในช่วงเดือนตุลาคม 1917 (หรือเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) สรุปภาพรวมของจักรวรรดิที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญได้อย่างเด็ดขาดน่าสนใจ ในเดือนมีนาคม 1917 ในระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปยังคงเดินหน้า การปฏิวัติครั้งใหญ่ได้ผลักให้อำนาจที่เคยถูกถือโดยราชวงศ์โรมานอฟมาถึง 300 ปี ร่วมหล่นบนพื้นถนน เกิดเป็นความขัดแย้งต่อมาว่าอำนาจเหล่านี้ควรถูกใช้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ถือ และทิศทางประเทศจากนี้ล่ะ จะเป็นไปอย่างไรต่อ

    ช่วงเวลาที่จอห์น รีด ได้ลงพื้นที่เพื่อบันทึกเหตุการณ์ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ล่มสลายไปนานแล้ว การกลับไปใช้ระบบเก่าหรือไม่ ไม่ใช่คำถามอีกต่อไป เพียงแต่อำนาจที่กำลังถูกถือครองโดยคนกลุ่มใหม่ภายใต้ชื่อรัฐบาลเฉพาะกาลจะดำเนินต่อในทิศทางไหน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชจะไม่กลับมา ถึงอย่างนั้น นักสังคมนิยมสายกลางก็ยังมองว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างสังคม แค่ปฏิรูปการเมืองกับเศรฐกิจก็น่าจะพอ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มองภาพรัสเซียว่าต่อไปจะกลายเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดี หรืออย่างดีก็กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลเฉพาะกาล มีแนวคิดปรองดองกับกลุ่มอำนาจเก่า พยายามประสานประโยชน์ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

    อย่างไรก็ดีบอลเชวิคซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมซ้ายจัดไม่เห็นด้วย เลนินที่พลาดโอกาสเห็นการปฏิวัติเดือนมีนาคม จับรถไฟกลับมารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมัน เขามีแนวคิดเด็ดขาด กล่าวว่าการปรองดองนั้นทำไม่ได้ เพราะหากอำนาจยังอยู่กับชนชั้นนำ แม้จะมีการปกครองแบบรัฐบาลเสรี ชนชั้นล่างอย่างคนงานและชาวนาที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กว่า 80% ก็จะถูกกันออกไปจากอำนาจการบริหารประเทศอยู่ดี นี่เท่ากับว่าประเทศยังถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดิมแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ ที่น่าสนใจมากไปกว่า คือรัฐบาลเฉพาะกาลแม้ขึ้นมากุมอำนาจ แต่ก็ไม่มีทีท่าจะพารัสเซียออกจากสงครามโลกสักที มีความขัดแย้งในกลุ่มรัฐบาล มองว่าการถอนตัวจากสงครามจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าซาร์เคยทำข้อตกลงไว้ ห้ามไม่ให้เจรจาสงบศึกกับเยอรมันโดยไม่ผ่านการตกลงกันในหมู่ชาติสัมพันธมิตร

    เลนินที่กลับมารัสเซียทันเวลา เสนอให้บอลเชวิคทำการปฏิวัติครั้งที่สองเพื่อคืนอำนาจปกครองให้สภาโซเวียต เขายังต้องการนำรัสเซียออกจากสงครามในทันทีโดยไม่มีการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและไม่มีการยึดครองดินแดน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเดือนตุลาคม และเป็นช่วงเวลาที่จอห์น รีด ได้เดินทางเข้ามาสังเกตการณ์อยู่พอดี จอห์น รีด ได้รับการคุ้มครองในฐานะนักข่าว เขาสามารถเข้าออกสถานที่สำคัญเพื่อสังเกตการณ์และพูดคุยกับผู้คนจากหลายฝั่งซึ่งทำให้บันทึกของเขานั้นมีกลิ่นอายและการบรรยายภาพที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่น

    จอห์น รีด บรรยายลักษณะของวลาดิเมียร์ เลนิน บิดาแห่งการการปฏิวัติในขณะขึ้นปราศรัยว่า “เสียงไชโยโห่ร้องดังก้องทุกทิศทางราวกับฟ้าคะนองกึกก้อง เลนินผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นบุรุษร่างเตี้ยป้อมมะขามข้อเดียว ศีรษะใหญ่และล้าน เขามีดวงตาเล็ก จมูกเชิด ปากกว้างอิ่ม คางใหญ่ หนวดของเขาที่เคยโกนออกไปเริ่มงอกขึ้นใหม่เหมือนในอดีตและในอนาคต เขาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าโกโรโกโส กางเกงดูยาวเกินไป บุคลิกไม่น่าประทับใจแต่กลับได้รับความเคารพรักจากประชาชน ผู้นำในประวัติศาสตร์น้อยคนนักจะเป็นแบบนี้ เลนินเป็นปัญญาชนแท้ๆ ไร้สีสัน ไร้อารมณ์ขัน ไม่ประนีประนอมและไม่ยินดียินร้าย แต่เขาสามารถบรรยายข้อความลุ่มลึกในใจได้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เสียงของเขาเวลาเปร่งวาจาแหบห้าวไม่น่าฟัง แต่นั่นอาจเป็นเพราะหลอดเสียงของเขาต้องทำงานหนักมาเป็นเวลานาน จนทำให้เสียงที่เปร่งออกมามีลักษณะเป็นระนาบเดียว ในตลอดการปราศรัย เลนินก้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ไม่มีท่าทางประกอบการพูดอื่นๆ ฝูงชนนับพันแหงนหน้าขึ้นมอง ฟังอย่างตั้งใจ เรียกได้ว่าเป็นความเคารพบูชา”

    รีดยังบรรยายเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านว่า โรงหนัง โรงอุปรากรยังคงเปิดให้บริการเช่นเดิมในทุกคืน ร้านอาหารเปิดทำการ ผู้คนเดินบนถนนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นเมื่อไหร่ ทุกคนจะหยุด มอบลงกับพื้น เมื่อแน่ใจว่าไม่มีอะไรก็จะลุกขึ้นปัดฝุ่นบนชุดแล้วเดินต่อ รีดได้เข้าชมโอเปร่าในโรงละครหรูหรา เขายังเห็นว่านักเรียนนายร้อยมหาดเล็กยังคงแต่งชุดเครื่องแบบวาววับสีทอง หันไปทำความเคารพให้ที่นั่งของราชวงศ์ที่บัดนี้วางลง ชนชั้นกลางในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขายินดีให้เศรษฐกิจของชาติล่มสลาย ยอมให้ทหารในแนวหน้าต้องอดตาย ดีกว่าปล่อยให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ เจ้าของเหมืองตั้งใจให้เกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม วิศวกรจงใจทำให้เครื่องจักรเสียหายก่อนละทิ้งโรงงาน เจ้าหน้าที่การรถไฟก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาตั้งใจทำให้รถไฟวิ่งไม่ได้เพื่อทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าไปต่อ

    ชนชั้นเจ้าไปไกลกว่า พวกเขานิยมเจ้าเยอรมันยิ่งกว่าคณะปฏิวัติ ในบ้านพักของรีด เรื่องที่พูดกันเป็นประจำบนโต๊ะอาหารคือการมาถึงของกองทัพเยอรมัน พวกเขาคิดว่าหากรัสเซียแพ้สงครามเมื่อไหร่ เยอรมันจะทำให้ “บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย” ในเย็นวันหนึ่งขณะที่รีดใช้เวลาในบ้านพ่อค้าคนหนึ่ง มีการหยั่งเชิงถามบุคคลรอบโต๊ะว่า ระหว่างไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมันกับบอลเชวิค พวกเขาชอบใครมากกว่า ผลปรากฎว่าวิลเฮล์มชนะไปด้วยคะแนน 10:1

    รีดกล่าวว่าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในตอนนั้นอยู่ในภาวะ “พายุใบปลิว” เพราะต่างฝ่ายต่างพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อมากมาย หนังสือพิมพ์ทั้งฝ่ายขวาและซ้ายออกข่าวที่แตกต่างกันแทบจะตรงกันข้าม ถึงอย่างนั้นเมื่อหนังสือพิมพ์วางแผงเมื่อไหร่ ประชาชนก็จะเข้าไปรุมซื้อทันที ตอนที่รีดได้ไปพบทหารรัสเซียในแนวหน้า พวกเขาไม่ถามด้วยซ้ำว่ามีอะไรให้กินหรือเปล่าแต่กลับถามนักข่าวชาวต่างชาติว่ามีอะไรให้อ่านมั้ย? สังคมรัสเซียตื่นตัวสูงสุดเพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจ เป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่ประชนชนรู้สึกว่าตัวเองคือผู้กำหนดทิศทางของประเทศชาติ รีดได้เห็นเหตุการณ์นี้ทั้งหมดด้วยสายตา เขาและกลุ่มนักข่าวเดินทางจากสมอลนึย - อาคารสำนักงานหลักของบอลเชวิค ไปจนถึงพื้นที่ปะทะระหว่างบอลเชวิคของเลนินกับรัฐบาลรักษากาลของเคเรนสกี เขายังมีโอกาสเข้าไปสังเกตสถานการณ์ในพระราชวังฤดูหนาว ที่ซึ่งเขาได้บันทึกอย่างน่าสนใจว่า

    “เมื่อบรรดาทหารในกองทัพแดงเริ่มฉกฉวยสิ่งของมีค่า เสียงที่มีอำนาจก็ประกาศขึ้นว่า ‘สหาย อย่าได้หยิบฉวยเอาไป นี่เป็นสมบัติของประชาชน’ เมื่อผู้คนเริ่มวางสิ่งของเขาที่ เสียงที่ดังยิ่งกว่าจึงตามมา ‘วินัยของการปฏิวัติ ต้องไม่หยิบฉวยสมบัติของประชาชน’”

    แน่นอนว่าสิ่งที่รีดพบเห็นอาจไม่ได้เป็นจริงในทุกพื้นที่ ตัวเขากล่าวไว้ในช่วงต้นของบันทึก “ความเห็นอกเห็นใจของช้าพเจ้านั้นไม่เป็นกลาง แต่ในการบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละวัน ข้าพเจ้าได้พยายามมองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสายตาของผู้สื่อข่าวที่มีจิตสำนึกและพิถีพิถันที่จะรายงานความเป็นจริงเสมอ” คำเตือนของรีดชี้ให้เห็นว่าตัวเขานั้นเป็นผู้เห็นใจการปฏิวัติ เขาคิดคล้ายกันกับเลนิน เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังนั้นสงครามจึงหยุดได้หากชนชั้นแรงงานทั้งหมดลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง เลนินเชื่อว่าหากประชาขนรัสเซียหยุดสงคราม แรงงานในทุกๆ ประเทศก็จะเห็นเป็นแบบอย่าง ประกายไฟแห่งการปฏิวัติก็จะจุดติดไปทั่ว หากมองกันในจุดนี้ เลนินไม่เคยคิดสร้างกำแพง แต่เป็นยุโรปต่างหากที่เกลียดกลัวการปฏิวัติจนก่อกำแพงขึ้นมา

    การอ่านบันทึกของรีดในปี 2021 หลังระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซียล่มสลายอาจทำให้ผู้อ่านพลิกหน้าหนังสือด้วยความรู้สึกที่ต่างไป อย่างไรก็ตาม การได้อ่านความทรงจำที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ซ้อนประวัติศาสตร์ก็เป็นหลักฐานที่ทำให้รู้ว่า ในครั้งหนึ่งของช่วงเวลา บอลเชวิคและแนวคิดคอมมิวนิสต์เคยสร้างความหวังให้ผู้คนมากแค่ไหน ในช่วงเวลาที่พวกเขายากไร้มากที่สุด

    แนะนำหนังสือ สิบวันเขย่าโลก: Ten Days That Shook the World โดยจอห์น รีด แปลโดย สุทิน วรรณบวร สำนักพิมพ์แสงดาว

    ปล เล่มนี้อ่านยากและค่อนข้างปราบเซียน แต่บรรยากาศของหนังสือดีมาก อยากให้คุณลูกเพจได้มีโอกาสอ่านกัน

    Photo ผู้นำบอลเชวิคในงานฉลองตรบรอบสองปีการปฏิวัติเดือนตุลาคม

     
  7. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    อาต้อย เศรษฐา ออกจาก รพ. กลับมากักตัวต่อที่บ้าน ไม่มีอาการอะไรแล้ว

    สำหรับ อาต้อย เศรษฐา หลังจากที่เข้ารักษาตัวจากการติดเชื้อโควิดโควิด-19 ที่โรงพยาบาลปิยะเวท เมื่อที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ 4 พ.ค. อีฟ พุทธธิดา ลูกสาว อาต้อย ได้โพสต์คลิปว่คุณพ่อกลับบ้านแล้ว และได้เขียนข้อความว่า.....พ่อกลับบ้านแล้วค่ะ.... เป็นคนของประชาชน กลับมาต้องโบกมือทักคณะหน้าปากซอยนิดนึง คุณพ่อไม่มีอาการอะไรแล้วค่ะ ไม่มีไข้ ไม่มีไอ แต่ปอดยังคงมีร่องรอยที่ต้องใช้เวลาในการรักษา คุณพ่อยังมีเชื้ออยู่ค่ะ แต่สามารถกลับมากักตัวและดูแลต่อที่บ้านได้ค่ะ

    คนอื่นๆ ตอนนี้ต้องเว้นระยะห่วง ใส่หน้ากาก และถุงมือ แต่ที่เห็นอี๊ฟใส่ชุดป้องกันเยอะหน่อยเพราะอี๊ฟต้องพาขึ้นพ่อขึ้นห้องและไปช่วยจัดข้าวของ อี๊ฟมีภูมิแล้วแต่ก็ต้องไม่ประมาทเพราะอี๊ฟต้องกลับลงมาอยู่กับลูก และคนอื่นๆในบ้าน พ่อจะต้องกักตัวแยกจากที่บ้านเพราะคุณแม่ และแม่บ้านที่บ้านไม่มีเชื้อ จึงต้องทำการกักตัวพ่อและกักบริเวณให้อยู่แค่ในห้องนอน และออกมาเดินรับแดดได้ตรงระเบียง สิ่งสำคัญคือสภาพจิตใจของพ่อด้วยค่ะ พ่ออยากกลับบ้านและร้องหาหลานทุกวัน เลยต้องให้กลับบ้าน

    สภาวะจิตใจมีความสำคัญในการสร้างภูมิด้วยนะคะ ถ้าเครียดภูมิก็จะตก และเพราะไม่ได้ต้องดูแลแค่เรื่องโควิด ยังต้องดูแลเรื่องโรคมะเร็งปอดของพ่อด้วย คุณหมออนุญาตให้กลับเพราะที่บ้านเราสามารถมีการจัดการได้ ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อเพียงคนเดียว และเพื่อเป็นการเพิ่มเตียงให้กับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีอาการหนักและจำเป็นด้วยค่ะ อี๊ฟก็ยังต้องเอาใจใส่รายละเอียดต่อไปเพราะทุกคนสำคัญ พ่อเรา แม่เรา ลูกเรา สามีเรา อี๊ฟมีทุกคนแค่คนละ1คนไม่มีอะไรทดแทนได้ จึงต้องเอาใจใส่อย่างที่สุดค่ะ

    อี๊ฟต้องขอกราบขอบพระคุณ คุณหมอและพยาบาลวอร์ด 11 และ 15ที่รพ. ปิยะเวท ที่ดูแลคุณพ่อ และต้นเป็นอย่างดี จนทุกคนได้กลับบ้านในวันนี้นะคะ อีกสองภาพหลังเป็นภาพครอบครัวในยุคโควิค รักกันอย่างห่างๆ ❤️ สิ่งสำคัญคือเราได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันที่บ้านแล้ว ชีวิตยังเป็นอย่างงี้ไปอีก 10กว่าวันค่ะ ตอนนี้คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้านะคะ ขอให้ทุกๆคนปลอดภัยนะคะ ดูแลตัวเองกันด้วยค่ะ ดื่มน้ำอุ่น ทานวิตามิน และรับแดดอ่อน เช้า เย็น ทานน้ำผลไม้ ที่บ้านคุณแม่รอดเพราะกินน้ำมัลเบอร์รี่ทุกวันค่ะ วิตามินซีสูง สมุนไพร กระชาย ขมิ้น น้ำมันงา ดำ บำรุงตัวเองกันนะคะ ใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่จำเป็นลดการออกจากบ้าน ยอดผู้ติดเชื้อยังสูง และเที่ยวนี้ลงปอดกันเร็วและเยอะมาก ไม่เป็นดีที่สุดค่ะ ไม่อยากให้ใครป่วย ปลอดภัยๆทุกท่านนะคะ #sirachayafamily #tonnyvesfamily #tonnyvesmeeboon ##ชีวิตที่ติดโควิด19 ❤️❤️

    Source : #AmarinTV #ข่าววันนี้ #ข่าว

     
  8. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ซัลโว 4 นัดดับ ทนายเหว่า แกนนำชาวบ้านเรียกร้องที่ดินทำกิน คาดขัดแย้งผู้มีอิทธิพล

    คนร้ายปลอมตัวเป็นชาวสวนเก็บมะละกอ จ่อยิง ทนายเหว่า ทนายคนดัง ดับกลางสวนยางพารา ซึ่งเป็นแกนนำเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน พื้นที่สวนปาล์มหมดสัมปทาน กว่า 638 ไร่ เพื่อจัดสรรให้แก่ชาวบ้านที่ลำบากมีที่ดินทำกิน คาดปมปัญหาเชื่อมโยงที่ตายเคลื่อนไหวขัดขวางกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่พยายามเข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าวตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

    เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 พ.ค.64 ร.ต.อ.สุธรรม รุ่งส่งศรี รอง สว. (สอบสวน) สภ.วังวิเศษ ได้รับแจ้งเหตุมีคนถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตภายในสวนยางพารา พื้นที่ หมู่ 10 บ้านห้วยคต ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง หลังรับแจ้งจึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบก่อนเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สันทัด วินสน ผบก.ภ.จว.ตรัง พ.ต.อ.ประวิทย์ เขียวไสว ผกก.สภ.วังวิเศษ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ภ.จว.ตรัง เจ้าหน้าที่กองปราบปราม กำลังชุดสืบสวน ภ.จว.ตรัง และหน่วยกู้ภัยพิทักษ์ชีพการกุศลสงเคราะห์

    ถึงที่เกิดเหตุอยู่ภายในสวนยางพารา เนื้อที่กว่า 40 ไร่ พบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ไทเกอร์ ตอนครึ่ง สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน บฉ 6608 ตรัง จอดอยู่ ห่างออกไปประมาณ 15 เมตร พบร่างของ นายสมศักดิ์ อ่อนชื่นจิตร หรือทนายเหว่า อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 164/6 ม.4 ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นอนหงายหน้าจมกองเลือดเสียชีวิต สภาพสวมเสื้อยืดแขนยาวสีเขียว นุ่งกางเกงวอร์มสีกรม สวมรองเท้าบูท ในมือด้านขวากำมือพร้าติดมืออยู่จำนวน 1 เล่ม

    ชันสูตรพลิกศพพบถูกยิงด้วยอาวุธปืนชนิดลูกโม่ ไม่ทราบขนาด กระสุนเจาะเข้าหน้าท้องกระสุนฝังใน 1 แผลต้นแขนขวาทะลุ 1 แผล หลังเท้าซ้ายทะลุส้นเท้า 1 แผล และแฉลบเข้าหลังเท้าขวาอีก 1 แผล รวม 4 แผล ห่างจากศพออกไปประมาณ 5 เมตร พบรอยเลือดหยดเป็นทาง ไปจนถึงสะพานปูนข้ามลำห้วย พบกระสอบใส่มะละกอตกอยู่ 1 กระสอบ และลูกมะละกอเปื้อนเลือดตกอยู่นอกกระสอบอีกจำนวน 1 ลูก ใกล้กันพบหัวกระสุนทองแดง ชนิดลูกโม่ ตกอยู่จำนวน 3 หัว เจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน และมีกองปูนอีกจำนวน 1 กอง

    ต่อมาเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นของผู้ตาย พบโทรศัพท์มือถือจำนวน 1 เครื่อง อาวุธปืนชนิดลูกโม่ พร้อมเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งมีทะเบียนและใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งอยู่ภายในรถ เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน

    แนวทางการสอบสวนเบื้องต้น ทราบว่า สวนยางพาราดังกล่าวเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เป็นของผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายได้เดินทางออกมาจากบ้านพัก ซึ่งอยู่ห่างจากสวนไปประมาณ 1 กม. ตามปกติเพียงลำพัง และมีคนงานจำนวน 3 คน ตัดหญ้าอยู่ภายในสวนแต่ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ คาดว่ามีคนร้ายไม่ทราบจำนวนทำทีแต่งกายเป็นชาวสวน ปิดหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า ถือกระสอบและลูกมะละกอ เดินทางอยู่ภายในสวนและเข้ามาหาผู้ตายซึ่งยืนอยู่บนสะพานปูนข้ามลำห้วย ก่อนใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่เท้า ซึ่งผู้ตายได้วิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด จนกระทั้งล้มลง และตะโกนขอความช่วยเหลือ คนร้ายจึงได้กระหน่ำยิงซ้ำจนเสียชีวิต จนเดินเท้าหลบหนีไปอย่างไร้ร่องรอย

    ด้าน นายต้วน อ่อนชื่นจิตร หรือมนัส อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นลูกจ้างตัดหญ้าในสวน เล่าว่า ช่วงเวลา 7.40 น.ระหว่างที่ที่ตนกำลังถางป่าของผู้ตายอยู่อีกฟากของสวน โดยทำมาได้ประมาณ 3 วันแล้ว เกิดได้ยินเสียงปืนดังติดต่อกันประมาณ 3 นัด แต่ไม่ได้คิดอะไร จนมาทราบว่าผู้ตายถูกยิง โดยระหว่างที่ตนเองเข้ามาตัดหญ้าผู้ตายไม่เคยเข้ามาดูในสวนเลย

    ขณะที่ นายชยานันท์ อ่อนชื่นจิตร อายุ 24 ปี ลูกผู้ตาย เล่าว่า พ่อมีปัญหากับที่สวนปาล์มเนื้อที่ประมาณ 638 ไร่ พ่อเคยไปช่วยชาวบ้านตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และมีปัญหากับคนที่เคยเป็นเจ้าของสวนปาล์มนั้น ที่ผ่านมาพ่อมักจะคอยช่วยชาวบ้านเสมอ ซึ่งเคยบ่นกับตนว่ามีปัญหากับนายทุนด้วย พ่อบอกตลอดว่ามีคนคิดปองร้ายในช่วง 1 ปีกว่า ที่ผ่านมาพ่อไม่เคยคิดร้ายกับใคร ก็อยากฝากกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วย ทำกันได้ลงคอพ่อเป็นคนดีชาวบ้านในละแวกนี้รู้ดี ตนร้องจนไม่มีน้ำตาจะออกมาแล้ว ซึ่งนอกจากเรื่องที่ดิน 638 ไร่ แล้วก็ไม่มีเรื่องอื่นแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ผู้ตายเป็นแกนนำคนสำคัญของชาวบ้าน ในการเคลื่อนไหวร้องเรียนสิทธิ์ที่ดินทำกินพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานจำนวน 638 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ เพื่อจัดสรรให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ลำบากได้มีที่ดินทำกิน จนกระทั่ง มีกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง ผู้นำชุมชนบางราย และผู้มีอิทธิพล เข้ามายึดครองพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันดังกล่าว เพื่อเข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ตลอดระยะเวลาปี 2563 ที่ผ่านมาผู้ตายพร้อมชาวบ้านต่อสู้เพื่อเรียกร้องมาโดยตลอด และเคยเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าและเก็บผลปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ก่อนจะมาถูกปลิดชีพครั้งนี้

    Source : #AmarinTV #ข่าววันนี้ #ข่าว

     
  9. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ห่วงโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เล็ดลอดจากเพื่อนบ้าน เข้าไทยผ่านช่องธรรมชาติ

    สาธารณสุขจังหวัดยะลา หวั่นโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จากประเทศเพื่อนบ้าน เล็ดลอดมากับแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline

     
  10. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ต้อย เศรษฐา นักแสดงอาวุโสกลับมารักษาต่อที่บ้านได้แล้ว หลังติดโควิด-19 ซึ่งเป็นการเพิ่มเตียงให้ผู้ที่มีอาการหนักกว่า โดยได้รับอนุญาตจากแพทย์ แต่ปอดยังมีร่องรอยและยังมีเชื้ออยู่
    .
    หลังจากที่นักแสดงอาวุโส ต้อย เศรษฐา ศิระฉายา เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 จนครบกำหนดและหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ ล่าสุด อี๊ฟ พุทธธิดา ศิระฉายา ลูกสาวได้โพสต์ว่า คุณพ่อกลับบ้านแล้วค่ะ คุณพ่อไม่มีอาการอะไรแล้วไม่มีไข้ ไม่มีไอ แต่ปอดยังคงมีร่องรอยที่ต้องใช้เวลาในการรักษา และคุณพ่อยังมีเชื้ออยู่ค่ะ แต่สามารถกลับมากักตัวและดูแลต่อที่บ้านได้ค่ะ คนอื่นๆ ต้องเว้นระยะห่วง ใส่หน้ากาก และถุงมือ แต่ที่เห็นอี๊ฟใส่ชุดป้องกันเยอะหน่อยเพราะอี๊ฟต้องพาขึ้นพ่อขึ้นห้องและไปช่วยจัดข้าวของ อี๊ฟมีภูมิแล้วแต่ก็ต้องไม่ประมาทเพราะอี๊ฟต้องกลับลงมาอยู่กับลูก และคนอื่นๆ ในบ้าน พ่อจะต้องกักตัวแยกจากที่บ้าน เพราะคุณแม่และแม่บ้านที่บ้านไม่มีเชื้อ จึงต้องทำการกักตัวพ่อและกักบริเวณให้อยู่แค่ในห้องนอน และออกมาเดินรับแดดได้ตรงระเบียง สิ่งสำคัญคือสภาพจิตใจของพ่อด้วยค่ะ พ่ออยากกลับบ้านและร้องหาหลานทุกวัน เลยต้องให้กลับบ้าน
    .
    สภาวะจิตใจมีความสำคัญในการสร้างภูมิด้วยนะคะ ถ้าเครียดภูมิก็จะตก และเพราะไม่ได้ต้องดูแลแค่เรื่องโควิด ยังต้องดูแลเรื่องโรคมะเร็งปอดของพ่อด้วย คุณหมออนุญาตให้กลับเพราะที่บ้านเราสามารถมีการจัดการได้ ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อเพียงคนเดียว และเพื่อเป็นการเพิ่มเตียงให้กับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีอาการหนักและจำเป็นด้วยค่ะ อี๊ฟก็ยังต้องเอาใจใส่รายละเอียดต่อไปเพราะทุกคนสำคัญ พ่อเรา แม่เรา ลูกเรา สามีเรา อี๊ฟมีทุกคนแค่คนละ 1 คนไม่มีอะไรทดแทนได้ จึงต้องเอาใจใส่อย่างที่สุดค่ะ
    .
    อี๊ฟต้องขอกราบขอบพระคุณ คุณหมอและพยาบาลวอร์ด 11 และ 15 ที่ รพ. ปิยะเวท ที่ดูแลคุณพ่อ และต้นเป็นอย่างดี จนทุกคนได้กลับบ้านในวันนี้นะคะ สิ่งสำคัญคือเราได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันที่บ้านแล้ว ชีวิตยังเป็นอย่างนี้ไปอีก 10 กว่าวันค่ะ ตอนนี้คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้านะคะ ขอให้ทุกๆ คนปลอดภัยนะคะ ดูแลตัวเองกันด้วยค่ะ ดื่มน้ำอุ่น ทานวิตามิน และรับแดดอ่อน เช้า เย็น ทานน้ำผลไม้ ที่บ้านคุณแม่รอดเพราะกินน้ำมัลเบอร์รี่ทุกวันค่ะ วิตามินซีสูง สมุนไพร กระชาย ขมิ้น น้ำมันงา ดำ บำรุงตัวเองกันนะคะ ใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่จำเป็นลดการออกจากบ้าน ยอดผู้ติดเชื้อยังสูง และเที่ยวนี้ลงปอดกันเร็วและเยอะมาก ไม่เป็นดีที่สุดค่ะ ไม่อยากให้ใครป่วย ปลอดภัยๆ ทุกท่านนะคะ
    .
    #ข่าวช่องวัน

     
  11. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    มาแล้ว! ผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความช่วยเหลือสปป. ลาวในการต่อสู้กับโควิด -19

    จากรายงานระบุว่าทีมแพทย์ของจีนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 25 คนในด้านระบาดวิทยา การฆ่าเชื้อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การควบคุมการติดเชื้อระบาดวิทยา และอื่น ๆ

    ทีมนี้จะประสานงานกับฝ่ายลาวเพื่อวางแผนควบคุมและรักษายกระดับความสามารถทางเทคนิคและความสามารถในการจัดการกับโรคตลอดจนการวิจัยและวิเคราะห์เกี่ยวกับการแพร่ระบาด

    ข้อมูล - ภาพ: CRI, Aero Lao

     
  12. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    คดีแรก! ศาลสั่งลงโทษจำคุก 1 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา สาวติดโควิด-19 แต่หลบหนีไม่เข้ารับการรักษา
    .
    เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าควบคุมตัว น.ส.กมลชนก วิชาฉิม อายุ 26 ปี พร้อมนำตัวไปที่เรือนจำ จ.สระแก้ว หลังจากรักษาโควิด-19 ที่ รพ.สนาม อบจ.สระแก้ว จนหายดี โดย น.ส.กมลชนก ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา จากกรณีติดเชื้อโควิด-19 แล้วหลบหนีไม่เข้ารับการรักษาและใช้บัตรประชาชนบุคคลอื่นตรวจหาเชื้อ
    .
    จากกรณีนี้ ศาลจังหวัดสระแก้วมีคำพิพากษาในคดีที่ นางกมลวรรณ ลุ่มมณี อายุ 46 ปี และ น.ส.กมลชนก วิชาฉิม อายุ 26 ปี สองแม่ลูก หลบหนีจากห้องเช่าเลขที่ 66/4 ชุมชนเมืองย่อยที่ 11 โรงฆ่าสัตว์เก่า ถนนเทศบาล 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว ไม่ยอมเข้ารับการรักษา หลังทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยหนีไปอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมตัวได้ที่ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 25 เม.ย.64 และถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ก่อนส่งต่อมายัง รพ.สนาม อบจ.สระแก้ว จนกระทั่งพบว่า น.ส.กมลชนก รักษาหาย มีผลตรวจเป็นลบไม่พบเชื้อ จึงประสานให้เจ้าหน้าที่เรือนจำมารับตัวไปดำเนินการตามกฎหมาย
    .
    ทั้งนี้ น.ส.กมลชนก และมารดา ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสระแก้ว แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสระแก้ว ในข้อกล่าวหาจงใจฝ่าฝืนและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ,ขัดคำสั่งจังหวัดสระแก้วที่ 982/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 32 และกระทำผิด พรก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 โดย น.ส.กมลชนก ซึ่งมีคดีค้างเก่าเดิมและถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ฐานแอบอ้างชื่อและใช้บัตรประชาชนของ น.ส.ฉันทนา บุญทา ที่ทำบัตรประชาชนหาย ไปตรวจหาเชื้อแทนเพื่อปกปิดข้อมูลตนเอง
    .
    ซึ่ง ร.ต.ท.(หญิง)เกศรินทร์ วีระพันธ์ รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองสระแก้ว พนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้ทำสำนวนส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดสระแก้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้าน พ.ต.อ.จิราวัฒน์ ศรีพัฒนสิทธิกร ผกก.สภ.เมืองสระแก้ว เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลสั่งจำคุกผู้เป็นแม่ฐานหลบหนี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาและปรับเป็นเงิน 5,000 บาท ส่วน น.ส.กมลชนก วิชาฉิม ลูกสาว ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากมีการทำผิดกรณีนำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้อื่นมาใช้และมีความผิดกฎหมายอาญา ม.188 ทำให้ศาลไม่รอลงอาญา ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่คิดจะปกปิดข้อมูลหรือหลบหนีไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและบุคคลอื่น ๆ อย่างมาก และน่าจะเป็นคดีแรกที่ศาลสั่งลงโทษจำคุกผู้หลบหนี ไม่เข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ด้วย
    .
    #ข่าวช่องวัน

     
  13. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ก็แค่รักษาจนปลอดภัย และก็ต้องทำตามระเบียบ

    นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร ยื่นหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ขอความอนุเคราะห์จากทางโรงพยาบาลไม่ให้ย้ายสถานที่การรักษาของเพนกวินไปที่อื่น หากปราศจากความยินยอม โดยมีตัวแทนผู้อำนวยการลงมารับหนังสือ ทั้งนี้เนื่องจากกังวลถึงสุขภาพ และเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดโควิด 19 ภายในเรือนจำ
    .
    นางสุรีย์รัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการให้เข้าเยี่ยมนายพริษฐ์ก็จริงแต่ทางแม่เข้าใจกฎระเบียบและก็ยืนรอก็อยู่ได้ข้างนอก หากส่งเพนกวินกลับไปอันตราย แม่กังวลหลังนำตัวมาที่โรงพยาบาลดังกล่าวตั้งแต่ 30 เม.ย.ที่มา ส่วนหากให้อยู่รักษาตัวต่อจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็ยินดีเน้นย้ำอยากให้ดูเพนกวินด้วยเพราะเกิดที่นี่เป็นลูกของโรงพยาบาลรามาธิบดี

    #เพนกวิน #แม่สุ #ข่าวช่องวัน

     
  14. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    เตรียมควักเพิ่ม! เข้า ภูเก็ต หลัง 15 พ.ค.นี้ ต้องจ่ายคนละ 500 บาท ตรวจโควิด

    ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เผยไม่มีงบแล้ว ผู้เดินทางเข้าพื้นที่หลัง 15 พ.ค.นี้ ต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง คนละ 500 บาท

    เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 มีรายงานว่า ทางด้านนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 33/2564 ว่า ข้อสรุปของการประชุมฯ คือ ขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 อยากให้อยู่กับบ้านเพื่อตัวท่านเอง

    นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า งบประมาณที่ สปสช.เคยออกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองให้กับประชาชนผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ที่ด่านท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านตรวจทางบก ด่านท่าเรือ นั้น หลังวันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะไม่มีงบประมาณดังกล่าวแล้ว แต่ภูเก็ตยังต้องเดินมาตรการตรวจอย่างต่อเนื่อง อาจจะให้ประชาชนที่จะเข้ามาในช่วงนั้น ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งประมาณการอยู่ที่ คนละ 400-500 บาท

    โควิดภูเก็ต แจ้งเช็กด่วน! ผู้โดยสาร 7 เที่ยวบิน เสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดกพท. ออกประกาศ ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง หลังพบผู้โดยสาร 7 เที่ยวบินภูเก็ต เสี่ยงติดโควิด

    Source : #AmarinTV #ข่าววันนี้ #ข่าว

     
  15. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    หมอทวีศิลป์ ชี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยทุกคน เพื่อเป็นการประหยัด

    หมอทวีศิลป์ เห็นต่าง ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ใน รพ.สนาม เพื่อเป็นการประหยัดและป้องกันการดื้อยา

    กรณี กทม.มีแผนนำร่องใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) แก่ ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวรายใหม่ กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ หรือกลุ่มสีเหลือง

    ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ (4 พ.ค.64) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวในการรายงานสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทยประจำวัน ว่า การให้ ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด แก่ผู้ป่วยที่เข้า รพ.สนามในพื้นที่ กทม.ยังมีข้อสังเกตว่า จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ หรือเฉพาะกลุ่มจริงๆ จะทำให้ 1.ประหยัด 2.ผลการรักษาจะดี และ 3.ให้มากเกินไปอาจดื้อยาได้ เนื่องจากไวรัสเหล่านี้แปรเปลี่ยนได้ ดังนั้น ในเชิงการบริหารยาจำเป็นต้องได้รับความเชี่ยวชาญจากแพทย์ก่อน

    Source : #AmarinTV #ข่าววันนี้ #ข่าว

     
  16. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ชาวจีนมั่นใจรัฐคุมโควิดอยู่ แห่เที่ยวกระจายในวันหยุดยาว

    ชาวจีนจำนวนมากออกเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาววันแรงงาน หลังความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ลดลง และเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาล

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline

     
  17. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    บุรีรัมย์ วอนหยุดอยู่บ้าน หลังโควิดพุ่งสูง 123 ราย พร้อมปิด 3 หมู่บ้าน

    ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ขอความร่วมมือชาวบุรีรัมย์ ส่วนราชการและหน่วยงาน ให้หยุดอยู่บ้านเพื่อชาติเป็นเวลา 14 วัน หลังพบผู้ป่วยโควิดพุ่งสูงถึง 123 ราย พร้อมสั่งปิด 3 หมู่บ้านใน ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline

     
  18. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ไต้หวันงานเข้า ติดโควิดรายใหม่อีก 8 'คลัสเตอร์นักบิน' ยังคุมไม่อยู่

    ไต้หวันกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อีก 8 หลัง คลัสเตอร์นักบิน และคลัสเตอร์โรงแรม ยังคุมไม่อยู่ ด้านสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศชั่วคราว

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline

     
  19. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    "สิงห์อาสา" มอบเสบียงศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาคารนิมิบุตร

    "สิงห์อาสา" มอบอาหารและน้ำดื่มสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ที่ศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาคารนิมิบุตร

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline

     
  20. สุกิจSukit

    สุกิจSukit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 เมษายน 2013
    โพสต์:
    221,977
    ค่าพลัง:
    +97,149
    ฮ่องกงก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจปรับตัวขึ้น 7.8 เปอร์เซ็นต์

    เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตในไตรมาสแรกของปี หลังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงมีโอกาสเติบโต 3.5 ถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

    Source : #ไทยรัฐ #ไทยรัฐทีวี #Thairath #ThairathOnline
     

แชร์หน้านี้

Loading...