เรื่องเด่น จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีมิจฉาฯ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 22 พฤษภาคม 2021.

  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,728
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,136
    ค่าพลัง:
    +70,534
    ?temp_hash=2f9e4ed65684703f44d25d1f5cd63be7.jpg

    จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีมิจฉาฯ
    อาจารย์ไชย ณ พล

    Q ถาม :
    กราบอาจารย์ค่ะ สิ่งหนึ่งที่กลัวที่สุดทั้งในชาตินี้และในชาติที่ต้องเกิดอีกในอนาคตคือ มีมิจฉาแล้วไม่รู้ตัว

    ช่วงหลังมานี้ได้พิจารณาว่า มิจฉาตัวไหนที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วคนเราจะหลงผิดแบบไม่รู้ตัวมากที่สุดทั้ง ๆ ที่มีสัมมาทิฏฐิประกบอยู่ระดับหนึ่ง ก็เห็นว่ามิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ แล้วก็มิจฉาวิมุตติ น่าจะเป็นสามตัวที่น่ากลัวที่สุดเพราะเป็นสิ่ง (พิเศษ) ที่ผู้ปฏิบัติประจักษ์ด้วยการปฏิบัติของตนเองที่ทำให้บางคนเข้าใจว่าตัวเองพิเศษกว่าผู้อื่นหรือว่าได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งแล้วหรือเปล่า

    จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ แล้วก็มิจฉาวิมุตติ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการเป็นอย่างไร แล้วเราจะรู้ตัวเองได้อย่างไรว่าเรามิจฉาอยู่ เพื่อว่าหากเกิดขึ้นกับตัวเอง จะได้มีปัญญารู้ตัวแก้ไขได้ทันค่ะ

    A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :
    มิจฉาสมาธิ

    มีหลายลักษณะ คือ

    1. เข้าสมาธิด้วยเป้าหมายที่ผิด เช่น เข้าสมาธิเพื่อจะถอดจิตไปหาแฟน ณ แดนไกล ในโลกนี้บ้างในโลกอื่นบ้าง ก็ทำได้นะ แต่ยังวนเวียนอยู่ในทุกข์เหมือนเดิม และสมาธิก็จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดี๋ยวได้เดี๋ยวหาย

    2. ใช้สมาธิสนองกิเลส เมื่อได้สมาธิระดับหนึ่งมีกำลังจิตพอประมาณ เอาพลังสมาธินั้นมาสร้างวิชาอาคมข่มผู้อื่น สมาธิจะแข็ง ใจจะกระด้าง ถึงจุดหนึ่งสติแตกได้ แม้ไม่แตก ก็เกิดกรรมมากมาย

    3. ใช้สมาธิสร้างอัสมิมานะ พอจิตดีแล้วสร้างตัวตนว่า 1) ฉันดีกว่าเขา ฉันสูงกว่าเขา พยายามทำตัวให้ใหญ่กว่าเขา 2) ฉันเสมอเขาทั้งโลกทั้งจักรวาล ทุกคนทุกจิตใจเสมอกันหมด พยายามตีตนเสมอทุกคน 3) ฉันด้อยกว่าเขา ต่ำกว่าเขา พยายามทำตัวให้เล็กกว่าเขา

    สัจธรรม คือ สัพเพธัมมา อนัตตาติ สิ่งทั้งปวงไม่เป็นตน ไม่มีตัวตนที่จะให้ใครปั้นให้สูงใหญ่ ต่ำเล็ก หรือเสมอกันได้ การปั้นตนไม่ว่า เล็ก ใหญ่ หรือเสมอ ทำให้ปิดกั้นสัจธรรม ทำให้บรรลุธรรมไม่ได้

    เหล่านี้คือมิจฉาสมาธิ

    ดังนั้น เมื่อได้จิตตั้งมั่นดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงให้รักษาสติบริสุทธิ์ เข้าอเนญชสมาบัติ วิปัสสนาเจริญญาณ เข้าพระนิพพาน ซึ่งว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง

    มิจฉาญาณะ

    มีหลายอาการ

    1. เห็นแต่ภาวะที่ตนเป็น ไม่รู้ไม่เห็นสภาวะอันเป็นที่สุด จึงคิดว่าที่ตนเป็นอยู่นี้ดีที่สุดแล้ว เลยสร้างความพึงพอใจแค่นี้ ไม่พัฒนาต่อ

    บ้างก็หลงไปว่าความเป็นมนุษย์นี้แหละเลิศที่สุด เช่น นักธรรมชาติวิทยาวิเคราะห์วิจัยธรรมชาติ พบว่าชีวิตทั้งหลายกินกันเป็นอาหาร เกิดภาพความเข้าใจในความสัมพันธ์นั้น เรียกว่าห่วงโซ่อาหาร กำหนดให้มนุษย์อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ทุกอย่างในธรรมชาติเป็นอาหารของมนุษย์ได้หมด จุลชีพถูกจัดให้อยู่ชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ไวรัสไม่ได้รับรองการโมเมของมนุษย์ อะไรกินได้เขาก็กินดะ เนื้อเยื่อปอดมนุษย์นี่แหละแสนจะนุ่มชุ่มฉ่ำ ทั้งมีพื้นที่ว่างให้สร้างอาณาจักรเยอะ เขาจึงมาอยู่แบ่งเซลล์ขยายพันธุ์กันมากมาย จนปอดมนุษย์พัง ตายไป มนุษย์ผู้เห็นว่าตนเลิศที่สุดในห่วงโซ่อาหารกินได้ทุกอย่าง กลายเป็นอาหารของสิ่งที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร

    แท้จริงแล้ว สัตว์และจุลชีพทั้งหลายเขาไม่ได้จัดตนเข้าห่วงโซ่อาหารของมนุษย์หรอก มนุษย์เพ้อไปในหมู่มนุษย์เอง นี่เป็นตัวอย่างมิจฉาญาณะ นี่แค่มนุษย์และจุลชีพนะ ยังมีจิตใจในมิติอื่น ๆ อีกมากนับประมาณมิได้ ดังนั้น การหลงในความเป็นมนุษย์จึงเป็นมิจฉาญาณะ

    2. รู้เห็นแต่ธรรมบัญญัติ ไม่เห็นสภาวธรรม จึงตีความไปตามที่เข้าใจ

    หลายท่านเริ่มศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม แต่ลาภสักการะกระชากจิตออกจากกรรมฐานร่ำไป จึงไม่ได้สภาวะแทงตลอด เมื่อไม่รู้เห็นสภาวะแท้ ๆ แห่งทุกสิ่ง จึงหยิบบัญญัติมาตีความ เช่น ตีความว่า นิพพานแปลว่าดับกิเลส ดังนั้น ดับกิเลสได้ขณะใดขณะนั้นก็เป็นนิพพาน นิพพานอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น เรานิพพานกันอยู่ทุกวัน จิตใหม่เกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนขี้เกียจปฏิบัติทั้งหลายมาก นี่เป็นเพราะไม่ถ่องถ้วนสภาวะแท้ และไม่ถ่องแท้แม้ในบัญญัติ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าการตีความเป็นเหตุแห่งสัทธรรมปฏิรูปทำให้พระศาสนาเสื่อม พระนิพพานจริงที่พระพุทธองค์ทรงนำให้เข้าถึง ไม่มีเกิดไม่มีดับแล้ว พระนิพพานเป็นสภาวะที่ต้องเข้าถึง ไม่ใช่ตีความเอา ดังนั้น การตีความธรรมบัญญัติจึงจัดเป็นมิจฉาญาณะ

    3. รู้เห็นจริง แต่กำลังไม่พอที่จะเข้าถึง จึงสรุปผิด

    หลายท่านปฏิบัติจริงจังจนสัมผัสพระนิพพานได้ แต่กำลังอินทรีย์ห้าไม่พอที่จะปล่อยวางตัณหาอวิชชาที่พันขันธ์ห้าอยู่ จึงไม่ถึงวิมุตติ เมื่อไม่ถึงแต่ก็ใกล้มากแล้ว ก็สรุปเอาเองตามสภาวะที่ตนได้ว่า พระนิพพานขาดสูญบ้าง พระนิพพานสืบต่อบ้าง ก็เป็นมิจฉาญาณะประณีต

    มิจฉาวิมุตติ

    สืบเนื่องมาจากมิจฉาญาณะ จึงนำสู่มิจฉาวิมุตติ มีอยู่สองที่ที่ประณีตที่สุด คือ

    1. มิจฉาญาณะเข้าใจว่า พระนิพพานขาดสูญ จึงดับนามทั้งหมดโดยไม่ได้ดับกรรม ศีลยังไม่หมดจด จึงดับจิต แต่เหลือกายที่กรรมครองอยู่ เป็น อสัญญีพรหม เทียบเท่าพรหมฌานสี่ อายุยาวนาน ๕๐๐ มหากัป เมื่อหมดอายุขัย กรรมกระตุ้นเตือน ก็ต้องไปเกิดอีก มักจะเกิดในพรหมชั้นที่มีกายใกล้ ๆ นั่นเอง

    2. มิจฉาญาณะเข้าใจว่า พระนิพพานคือจิต จึงดับกายทั้งหมด ดับสัญญาเกือบหมด เหลือไว้แต่จิตรู้กอปรอทุกขมสุขเวทนา เป็นอรูปพรหมชั้นสูงสุด เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป ยาวนานที่สุดในจักรวาล เมื่อหมดอายุขัย จิตคลายกำลังฌาน ก็ต้องไปเกิดอีก


    แล้วสัมมาคืออะไร

    สัมมาสมาธิ

    เข้าสมาธิด้วยความรักสงบ มุ่งบริสุทธิ์ ตั้งสติจดจ่ออยู่กับการภาวนา (วิตก) การวินิจฉัยปรับให้เป็นที่สบาย (วิจาร) จนปีติ สุข จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งปรากฏขึ้น

    ละวิตกและวิจาร แล้วมนสิการในปีติสุข จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง จนกายเบา จิตเบา กายอ่อนโยน จิตอ่อนโยน กายคล่องแคล่ว จิตคล่องแคล่ว กายสงบ จิตสงบ

    ละปีติ เหลือแต่สุขและอุเบกขาตั้งมั่นอยู่ ในชั้นนี้ ถ้าปฏิบัติมาดีอย่างเป็นระบบ จะเริ่มปรากฏแสงจิต

    ละสุข ทรงอยู่แต่อุเบกขาและสติบริสุทธิ์ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอยู่ สมาธินี้เป็นฐานแห่งญาณ ฤทธิ์ และวิมุตติ

    สัมมาญาณะ

    สัมมาญาณะ คือ ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเข้าใจ แจ่มแจ้งสรรพสิ่งและความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงสอนกุลบุตรว่า เมื่อทรงสติบริสุทธิ์กอปรอุเบกขาแล้ว ให้เข้าถึง “อภิปัญญา” ดังนี้

    วิปัสสนาญาณ
    แจ่มแจ้งว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตน เป็นเพียงธาตุจากอาหารมาประกอบกัน ปล่อยวางความถือมั่นกายได้ จนจิตเป็นอิสระจากกาย

    มโนมยิทธิญาณ
    แจ่มแจ้งว่าจิตนี้สามารถถอดออกจากกายได้ ออกมาแล้วก็มีกายทิพย์เหมือนกายธาตุแต่ไม่มีอวัยวะภายใน แล้วนำจิตที่ออกมานี้ไปเรียนรู้สัจธรรมแห่งความมีอยู่เป็นอยู่ในมิติต่าง ๆ แห่งธาตุ แห่งภพ แห่งภูมิ

    อิทธิวิธีญาณ
    แจ่มแจ้งว่าจิตสามารถน้อมธาตุให้เป็นไปได้ตามปรารถนา จึงเหาะได้ เดินบนน้ำได้ ดำดินได้ ทะลุภูเขาได้ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ได้ตามกำลังจิต

    ทิพยโสตญาณ
    แจ่มแจ้งว่าเสียงมีทั้งเสียงในโลกนี้ และเสียงทิพย์แห่งสวรรค์ ทั้งสามารถได้ยินตามปรารถนา

    เจโตปริยญาณ
    แจ่มแจ้งว่าจิตใจทั้งหลายเจตสิกเป็นองค์ประกอบ แปรเปลี่ยนไปตามการประกอบเจตสิก และรู้ว่าขณะนี้เจตสิกใดกำลังทำงานอยู่ จึงเข้าใจจิตใจทั้งปวงอย่างลึกซึ้ง

    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
    แจ่มแจ้งว่าจิตใจมีวิวัฒนาการมายาวนาน เกิดในภพภูมิต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปัญญาพาสู่อมตภาพ แต่เกิดชาติใดร่างกายก็ตายก่อนถึงอมตะทุกชาติ จึงต้องเกิดแล้วเกิดอีกจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ ทั้งเห็นรายละเอียดความเป็น ความอยู่ ความสัมพันธ์ และพัฒนาการในแต่ละชาติ จะได้ต่อยอดได้ถูกต้อง

    จุตูปปาตญาณ
    แจ่มแจ้งว่า เจตนาสร้างวาจาและการกระทำ ทั้งเจตนา วาจา และการกระทำมีพลังต่อผู้อื่น ระบบ และสิ่งแวดล้อม และพลังนั้นทั้งห้อมล้อมผู้สร้างกรรมนั้น ทั้งมีอำนาจ formulate ความเป็นไปในร่างกายจิตใจ ความสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมได้ กรรมบางอย่างแก้ไขได้ กรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงผลไม่ได้ แต่ทุกคนเปลี่ยนแปลงวิถีกอปรกรรม และในที่สุดหลุดพ้นจากกรรมได้ด้วยการออกจากภพทั้งปวง

    อาสวักขยญาณ
    แจ่มแจ้งว่า “ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตน” จึงวิราคะขันธ์ห้า ดับสัญญาการยึดถือความเคยชินแห่งทฤษฎี ความรู้ (ทิฏฐาสวะ) ความเชื่อ ความนิยม คำนิยาม สมมติแห่งความเป็นต่าง ๆ (ภวาสวะ) และการสนองอารมณ์ด้วยการเสพต่าง ๆ (กามาสวะ) และอวิชชาสวะ รากเหง้าแห่งการปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งสลัดคืนไม่มีเหลือซาก

    นี่เป็นปัญญาที่แท้จริง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์สูงสุด พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐชุดแรกสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสสรุปวิชชาแต่ละญาณนี้ว่า “นี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง ๆ” ใครที่ได้ปัญญาเหล่านี้แล้ว จะเห็นชัดว่า วิชาที่ร่ำเรียนกันมาทางโลกทั้งหมดกี่ปริญญาก็ตาม เป็นเพียงปัญญาระดับอนุบาลทางธรรมเท่านั้น เมื่อรู้ดังนี้ก็รีบเลื่อนชั้นขึ้นสู่

    ประถมทางธรรม คือ ศีลหมดจด ซึ่งจะละมิจฉาดำริ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีโวได้

    มัธยมทางธรรม คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งจะละมิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิได้

    อุดมศึกษาทางธรรม คือ สัมมาญาณะ ซึ่งจะละมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาญาณะ ละกิเลสตัณหาอวิชชาได้

    Doctorate ทางธรรม คือ สัมมาวิมุตติ ซึ่งละมิจฉาวิมุตติ และความไม่แน่นอนทั้งปวงได้ เมื่อนั้นก็จบกิจวิวัฒนาการ

    สัมมาวิมุตติ

    สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ ดับสมุทัยสิ้นเชื้อ สิ่งที่เหลืออยู่คือ “พุทธะ” รู้ ตื่น เบิกบาน” (ไม่ใช่ส่วนใด ๆ ในขันธ์ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ) เที่ยง ณ พระนิพพาน สภาวะว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง จักรวาลเรียกท่านเหล่านี้ว่า “วิสุทธิเทพ” (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๖๕๔ หน้า ๒๔๕)



    ถามลึกซึ้งอย่างนี้ ปฏิบัติให้ถึงนะ จริงจังกับการปฏิบัติ จะได้ไม่เสียชาติเกิด


    ****************************************************

    https://uttayarndham.org/node/5723?...zEO_gU7i_gafGH6VhTejxZYJD-skmpMuyPy4KdFPuAxfw
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,728
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,136
    ค่าพลัง:
    +70,534
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑
    ธรรมสังคณีปกรณ์


    [​IMG]
    [​IMG]
    [๒๙๔] มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
    ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต
    ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจผิด
    ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น.
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,728
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,136
    ค่าพลัง:
    +70,534
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
    [​IMG]
    ทุสีลยสูตรที่ ๑
    จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐


    [๑๕๔๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกหฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็น
    ไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด
    จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า
    ตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอ
    กราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิก-
    *คฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่
    อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิก-
    *คฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า
    และท่านสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความ
    อนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ด้วย
    ดุษณีภาพ.



    [๑๕๔๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร มีท่าน
    พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่
    เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ
    พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ
    ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทน
    ไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบ
    ย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.
    [๑๕๕๐] สา. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสใน
    พระพุทธเจ้าเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่
    เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
    ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็
    เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับ
    โดยพลัน.
    [๑๕๕๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรม
    เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสใน
    พระธรรมเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า
    ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใส
    อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์
    เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสใน
    พระสงฆ์เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวก
    ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อ
    ท่านเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเห็นปานนั้น ย่อม
    ไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็น
    ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๔] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเห็นปานใด เมื่อ
    แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
    ส่วนท่านมีสัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาทิฏฐินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๕] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสังกัปปะเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะเห็นปานนั้น ย่อม
    ไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสังกัปปะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึง
    สงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๖] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวาจาเห็นปานใด เมื่อ
    แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจาเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
    ส่วนท่านมีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวาจานั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๗] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉากัมมันตะเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะเห็นปานนั้น ย่อม
    ไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมากัมมันตะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะ
    พึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๕๘] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มี
    แก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาอาชีวะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับ
    โดยพลัน.
    [๑๕๕๙] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวายามะเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะเห็นปานนั้น ย่อมไม่
    มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวายามะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบ
    ระงับโดยพลัน.
    [๑๕๖๐] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสติเห็นปานใด เมื่อ
    แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
    ส่วนท่านมีสัมมาสติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสตินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๖๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสมาธิเห็นปานใด เมื่อ
    แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่
    ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสมาธินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดย
    พลัน.
    [๑๕๖๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาญาณะเห็นปานใด
    เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มี
    แก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาญาณะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับ
    โดยพลัน.
    [๑๕๖๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวิมุติเห็นปานใด เมื่อ
    แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุติเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
    ส่วนท่านมีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวิมุตินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.
    [๑๕๖๔] ครั้งนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีสงบระงับแล้วโดยพลัน ท่าน
    อนาถบิณฑิกคฤหบดีอังคาส ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์ ด้วยอาหารที่เขาจัดมาเฉพาะ
    ตน ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จนำมือออกจากบาตรแล้ว
    จึงถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถา
    เหล่านี้
    [๑๕๖๕] ผู้ใดมีศรัทธา ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ในพระตถาคต มีศีลอันงาม
    ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
    และมีความเห็นอันตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
    ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อ
    ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบตามซึ่งศรัทธา
    ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม.
    [๑๕๖๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ครั้นอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว จึงลุกจาก
    อาสนะหลีกไป.
    [๑๕๖๗] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
    บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่าน
    พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอมาจากไหนแต่ยังวัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์
    ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอนาถบิณฑิกคฤหบดีด้วยโอวาทข้อนี้ๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    ดูกรอานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต สารีบุตรมีปัญญามาก ได้จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ
    ๑๐ อย่าง.
    จบ สูตรที่ ๖
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,728
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,136
    ค่าพลัง:
    +70,534
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,728
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,136
    ค่าพลัง:
    +70,534
     

แชร์หน้านี้

Loading...