เรื่องเด่น คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "การเจริญวิปัสสนาญาณ"

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 15 พฤศจิกายน 2020.

  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,930
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,149
    ค่าพลัง:
    +70,548
    ?temp_hash=467f926cbf7f0ad8f6d55a27f8c18ff9.jpg

    คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "การเจริญวิปัสสนาญาณ"

    .. การพิจารณาท่านบอกว่า อันดับแรก "ทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อน" จะมีสมาธิอันดับไหนก็ช่าง ทำใจให้สบาย ควบคุมจิตให้อยู่ในขอบเขต พิจารณาว่าร่างกายอันดับแรก ความเกิดเมื่อเราเกิดมาแล้ว

    เวลาที่ทรงอยู่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ "ตอนต้นต้องหาทุกข์ให้พบ" หากิจการงานต่างๆ ที่เราทำ หรืออารมณ์ที่เราทรงอยู่เป็นอารมณ์ของความทุกข์ ไม่ใช่อารมณ์ของโลกีย์วิสัย อันนี้ยังไม่อธิบายเวลามีน้อย

    ต่อไปเมื่อหาทุกข์พบ การหาทุกข์พบนี่ต้องหากันจริงๆ หาทั้งทุกข์ในตัวเราหรือทุกข์ในคนอื่น ถ้าเรายังเห็นว่า ใครคนใดคนหนึ่งในโลกที่ยังเดินไปเดินมา ซึ่งมีกิริยาหรือความประพฤติปฏิบัติ หรือว่าทรงชีวิตอยู่ในโลก

    มีความสุขด้วยอำนาจของร่างกาย ยังใช้ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า "อารมณ์ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า" ความจริงอารมณ์แค่นี้ก็ตาม ยังไม่ถือว่าเป็นพระอริยเจ้า ต้องเอาอารมณ์คือ "ปัญญาเข้าพิจารณาให้เห็นความทุกข์จริงๆ ของร่างกาย"

    คือว่าคนที่กำลังทรงร่างกายอยู่นี้มีทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราก็ตาม เขาก็ตาม หาความสุขอะไรไม่ได้ รวมความว่า "โลกทั้งโลกไม่มีจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นความสุขเลย" อย่างนี้เรียกว่า "มีปัญญาเข้าถึงระดับวิปัสสนาญาณ"

    เมื่อเห็นทุกข์แล้ว "มิใช่ว่าทำใจให้หดหู่" ต่อไปก็แสวงหาเหตุของความทุกข์ ค้นคว้าขึ้นมา เมื่อความทุกข์มีอยู่ เหตุที่จะสร้างความทุกข์ไม่มี มันก็ไม่เกิด มันต้องไม่มี ถ้าไม่มีเหตุ ผลมันก็มีไม่ได้

    ตอนนี้เราก็มาพบกับ "ตัณหา คือ ความอยาก" อยากอะไรก็ช่าง เว้นไว้แต่อยากไปนิพพานอย่างเดียวก็หมดปัญหา อยากรวย อยากดี อยากมีทรัพย์ อยากเป็น อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นความอยากของโลกอันจัดว่า "เป็นอำนาจของตัณหา"
    ตัณหานี่พูดสั้นๆ เราก็หาทางกำจัดตัณหา "ด้วยการพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา" เมื่อขันธ์ ๕ มันจะพัง มันจะทำลายตัวของมันเอง และอะไรมันจะมีในโลก ที่เป็นเรา ที่เป็นของเรา

    เมื่อพิจารณาเห็นแล้ว โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ เราอยู่นี่เราก็มีความเป็นทุกข์ ทุกข์ด้วยอำนาจของตัณหา จนอารมณ์ของเราเกิดเป็น "นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย" เบื่อที่ร่างกายนี่มันไม่ดี
    เห็นว่าร่างกายนี่เอาดีอะไรไม่ได้เลย มีแต่ความทุกข์ ลืมตาขึ้นมาก็มีแต่ความทุกข์ จนกว่าจะถึงเวลาหลับตาใหม่ ไม่มีอะไรพ้นจากความทุกข์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความทุกข์
    แต่เห็นว่า "ความทุกข์เป็นของธรรมดาที่มีสังขารอยู่" ฉะนั้นจึงหาทางตัดเหตุของความทุกข์ คือ "ความทะยานอยาก" ทำใจให้เป็นสันโดษ พอใจในกฎของธรรมดา เห็นคนแก่ก็นี่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมดาของคนเกิด เห็นคนตายก็ถือว่า คนตายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเกิดมามันก็ตาย
    การป่วยไข้ไม่สบายก็ถือว่า เป็นเรื่องของธรรมดา ความแก่ ความตายจะมีกับเราก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใจสบายไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว ก็ตกใจบ้างเหมือนกัน แต่ว่ามันปลดออกไปได้ง่าย คือว่า "ธรรมดา เป็นเรื่องของกรรม"

    และระยะนั้นก็เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าทรงได้สั่งสอนไว้ "ให้ทานและรักษาศีล เจริญภาวนา" ว่าเป็นของดีแน่ เป็นการแก้อารมณ์ของชาวโลก เป็นการแก้ของอารมณ์ที่ติดอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา

    คือว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสอนถูก "เราไม่สงสัย" แล้วก็ "ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์" เรารักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต คือว่าตายเสียดีกว่าที่จะยอมให้ศีลขาด คือว่ามีอารมณ์เข้มข้นแบบนี้แล้วจิตใจดีเป็นปกติ
    "ไม่ใช่ฝืนนะ" เข้าใจว่ามี ไม่ใช่ขืนใจ มีอารมณ์ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เข้ามากระทบเรา จะเหน็ดเหนื่อยด้วยการงานก็ดี หรืออาการป่วยไข้ไม่สบายก็ตามที คือว่าความเจ็บความไข้เข้ามาทับถม หรือว่าความตายเข้ามาหาเราก็ตาม
    "เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา" การถูกนินทาว่าร้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา ใครเขานินทาเราก็ไม่หนักใจ ใครเขาสรรเสริญเราก็ไม่ดีใจ เราจะดีจะชั่วได้ก็การกระทำของเรา ไม่ใช่ผู้อื่นมาพูดให้เราดี หรือผู้อื่นมาพูดให้เราชั่ว

    ทำใจให้สบายมีศีลบริสุทธิ์ พร้อมกันนั้น "มีอารมณ์จับอยู่ในพระนิพพานเป็นอารมณ์" อารมณ์อย่างอื่นที่เราต้องการไม่มี ภาระหน้าที่ทำตามหน้าที่ทุกอย่าง ความต้องการของเราต้องการอย่างเดียวคือ "ความไม่เกิด"

    ไม่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่เกิดเป็นเทวดา ไม่เกิดเป็นพรหม ต้องการอย่างเดียวคือ "พระนิพพาน" นี่โดยย่อกล่าวมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "ท่านเข้าถึงพระโสดาบัน" ..

    (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
    ที่มาจาก..รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑ หน้า ๒๓๓-๒๓๕
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...