เรื่องเด่น การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของคนจริง ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเด็ดขาด

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 พฤศจิกายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,566
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,542
    ค่าพลัง:
    +26,380
    CC302D46-1391-4283-9D5C-D156429932A9.jpeg

    การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของคนจริง ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเด็ดขาด ต้องแลกกันด้วยชีวิต แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเรากลับทำอยู่ในลักษณะเหมือนกับแก้บน ทำพอเป็นพิธี ทำพอเป็นเชื้อสาย ไม่ได้ทุ่มเทชนิดแลกกันด้วยชีวิต โอกาสที่จะเกิดผลจึงมีน้อยมาก

    ถ้าเราศึกษาประวัติครูบาอาจารย์ในอดีต จะเห็นว่าแต่ละท่านล้วนแล้วแต่ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติอย่างชนิดเอาชีวิตเข้าแลก โดยเฉพาะประวัติของครูบาอาจารย์สายวัดป่า แต่ละท่านเดินจงกรมภาวนากันข้ามวันข้ามคืน บางทีก็อดอาหารกันที ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน เพราะรู้สึกว่าฉันอาหารไปก็เสียเวลา สู้ภาวนาไม่ได้

    บางท่านก็รู้สึกว่า รัก โลภ โกรธ หลง กินเรามากนัก ก็เพราะว่าร่างกายนี้ยังดี ยังแข็งแรงอยู่ จึงอดอาหารให้ปางตายไปเลย ดูว่า รัก โลภ โกรธ หลง ยังจะอยู่ได้หรือไม่ ปรากฏว่าพอถึงเวลาหมดกำลัง ร่างกายกำลังจะตายลงไป สภาพจิตก็นิ่ง ก็สงบ ห่างออกจาก รัก โลภ โกรธ หลง ไปเองโดยอัตโนมัติ การปฏิบัติท่านถึงได้ใช้คำว่า “ธรรมะอยู่ฟากตาย” คือถ้าไม่แลกกันด้วยชีวิต ปฏิบัติกันอย่างชนิดตายกันไปข้างหนึ่ง โอกาสที่เราจะเข้าถึงธรรมจริง ๆ ก็มีน้อยหรือไม่มีเลย

    ดังนั้น ถ้าท่านทั้งหลายไม่เสียเวลามาถามปัญหา หากแต่ว่าทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมไปเลย ป่านนี้ก็น่าจะเห็นหน้าเห็นหลังกันแล้ว การปฏิบัตินั้นต้องไม่ออกไปจากแนวของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ก็คือต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล เป็นต้น

    ในเรื่องของสมาธินั้น พยายามรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเองให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน ซึ่งการรู้ลมนั้น ระยะแรก ๆ เราต้องบังคับตัวเอง บางทีก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าเราสามารถกำหนดใจภาวนาไป จนถึงระดับปฐมฌานละเอียดแล้ว ความละเอียดของจิตที่มีมากขึ้น จะทำให้เรารู้ลมหายใจเข้าออกโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปตามดูตามรู้ สภาพจิตส่วนหนึ่งจะกำหนดรู้ด้วยตนเอง ถ้าถึงระดับนั้น เราก็แค่เอาสติเข้าไปประคับประคอง ระมัดระวังอย่าให้สภาพจิตหลุดจากลมหายใจเข้าออกเท่านั้น

    ส่วนในเรื่องของปัญญานั้น ท่านทั้งหลายต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิดมามีร่างกายนี้ การเกิดมาในโลกนี้ เราจะเห็นว่าอยู่กับกองทุกข์ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนหลับตาลงไป ต่อให้ท่านทั้งหลายมีฐานะดีแค่ไหน ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำการทำงาน แต่การบริหารร่างกายคือดูแลร่างกายตัวเอง ในแต่ละวันต้องคอยชำระสะสางตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า อย่างน้อย ๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องอาบน้ำเช้าเย็น

    ถึงเวลาต้องหาอาหารให้กินอย่างน้อยก็วันละ ๓ มื้อ จะมี ๒ มื้อบ้าง มื้อเดียวบ้างส่วนใหญ่ก็คือบุคคลปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ในส่วนอื่น ๆ ก็คือความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้น ทำให้ร่างกายโดนเบียดเบียนด้วยความทุกข์ ดังนั้น...เราจะเห็นว่าแม้จะมีฐานะดีแค่ไหน ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยในเรื่องการงานอย่างไร สภาพทุกข์อื่น ๆ ก็ปรากฏขึ้นกับร่างกายนี้ให้เห็นชัดอยู่แล้ว

    เมื่อปัญญาของเราเห็นถึงตรงนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นว่าธรรมชาติของร่างกายนี้ก็ดี ร่างกายอื่นก็ดี ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพัง ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ สภาพจิตก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายนี้

    เมื่อเบื่อหน่ายในร่างกายนี้ ก็ย่อมเบื่อหน่ายในร่างกายของคนอื่น เมื่อเบื่อหน่ายทั้งร่างกายของตนเองและคนอื่น ก็ย่อมเบื่อการที่จะมาเกิดในโลกนี้ สภาพจิตของเราก็จะถอนออกจากการยึดมั่นถือมั่น ทำให้เราสามารถหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจึงต้องยึดหลักของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เอาไว้ให้มั่นคง และตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอย่างจริง ๆ จัง ๆ สามารถอยู่กับความดีได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลยยิ่งดี

    ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...