พระพุทธเจ้าเคยแก้ข้อสงสัยเกี่ยวกับพระเจ้าเปล่าครับ

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย ballbeamboy2, 24 พฤศจิกายน 2012.

  1. ballbeamboy2

    ballbeamboy2 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    1,622
    ค่าพลัง:
    +1,618
    สมัยนั้นมีลัทธิเยอะแยะมากมาย

    พระพุทธเจ้าเคย ไปแก้ทิฐิ เกี่ยวกับพระเจ้าเปล่าครับ

    เพราะไม่มีใครมากําหนดชีวิตเราได้ นอกจากตัวเราเอง
     
  2. winterball

    winterball เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    99
    ค่าพลัง:
    +307
    พระพุทธเจ้าท่านใช้เวลาคุ้มค่าครับ ท่านประสงค์ว่าหลังจากตรัสรู้จนเข้านิพพาน ท่านจะเอาเวลาไปสอนธรรม แผยแผ่ศาสนาและช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์ ถ้าท่านเอาเวลามาตอบคำถามที่ไม่ได้ช่วยให้คนพ้นทุกข์ เช่น พระเจ้า ๆลๆ เดี๋ยวก็ตามมาด้วยคำถามไร้สาระอีกมากมาย เช่น เมื่อไหร่เมียฉันผัวฉันจะกลับบ้าน, ตอนนี้ลูกฉันไปอยู่ไหน, เมื่อไหร่ฉันจะรวย, ฉันอยากรู้ว่าคนนั้นทำอะไรอยู่, ทำไมท้องฟ้าสีฟ้า, ลิงในป่าทวีปโน้นมีจริงมั๊ย ๆลๆ แล้วก็จะไม่ต่างกับสำนักดูหมอที่มีอยู่เยอะแยะในปัจจุบัน

    อีกอย่าง ถ้าพระเจ้ามีจริง พระพุทธเจ้าท่านคงประกาศไปแล้วเพราะท่านก็ได้ชื่อว่ามีสัพพัญญู มีญาณรู้ สวรรค์นรกท่านทราบดีทุกอณู กะอีแค่พระเจ้ามีหรือไม่ ทำไมท่านจะไม่รู้ ท่านจะเลี่ยงมาตลอด 45 ปีทำไม ประเด็นคือมันไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่ได้นำสัตว์พ้นทุกข์ เสียเวลาตอบ เสียเวลาไปแก้ทิฐิคนที่เชื่ออย่างฝังใจ สู้เอาเวลามาสอนคนที่พร้อมจะบรรลุธรรมให้บรรลุได้ไม่ดีกว่าหรือท่าน
     
  3. มีแปปเดียว

    มีแปปเดียว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2010
    โพสต์:
    889
    ค่าพลัง:
    +3,876
    อายุของพรหม

    ปัญหา ตามศาสนาฮินดู พรหมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง มีอยู่ชั่วนิรันดร พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ?

    พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพะกะพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูก่อนพรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุท (คือเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๖๘ ตัว) ของท่านได้ดี”

    พกสูตรที่ ๔ ส. สํ. (๕๗๐)
    ตบ. ๑๕ : ๒๑๐ ตท. ๑๕ : ๒๐๐
    ตอ. K.S. I : ๑๘๐
     
  4. มีแปปเดียว

    มีแปปเดียว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2010
    โพสต์:
    889
    ค่าพลัง:
    +3,876
    พระพุทธศาสนากับพระเจ้า

    รองศาสตราจารย์ ดร.มานพ นักการเรียน

    ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

    บทนำ

    พระพุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม แต่อเทวนิยมแบบพระพุทธศาสนานั้นแตกต่างจากอเทวนิยมแบบวัตถุนิยม (Materialistic Atheism) ซึ่งปฏิเสธสันตติ (การสืบต่อ) กรรมวิบาก (ผลของการกระทำ) ความรับผิดชอบ คุณค่า และพันธะทางศีลธรรมและทางจิตใจ

    พระพุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่า พระพุทธศาสนาปฏิเสธว่า โลกหรือเอกภพไม่ได้เป็นผลิตผลมาจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้า ผู้สร้างโลกขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่ง และวางแผนทำลายสลายโลกไปในที่สุด จึงทำให้สอดคล้องกับคำสอนอื่น ๆ เช่น ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ปฏิจจ

    สมุปบาทสอนว่า สรรพสิ่งปรากฏในลักษณะเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ไม่มีปฐมเหตุ (The First Cause) การอ้างว่า มีพระเจ้าอยู่เหนือเหตุปัจจัยเหล่านั้น คือเป็นปฐมเหตุ สร้างเหตุปัจจัยจึงไม่ถูกต้อง

    พระพุทธศาสนายอมรับเพียงแต่ความมีอยู่ของเทพเจ้า ซึ่งมหาพรหมที่เข้าใจกันว่าเป็นพระเจ้า ก็รวมอยู่ในเทพเจ้าด้วย แต่เป็นเทพเจ้าชั้นรูปาวจร เทพเจ้าเหล่านั้นดำรงฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกันกับสัตว์โลกทั้งมวล

    ประเภทของเทพเจ้า
    พระพุทธศาสนาแสดงเทพเจ้าไว้ ๓ ประเภท คือ
    ๑) สมมติเทพ เทพเจ้าโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชินี พระราชกุมาร และพระราชกุมารี
    ๒) อุปปัตติเทพ เทพเจ้าโดยกำเนิด
    ๓) วิสุทธิเทพ เทพเจ้าโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
    ประเภทที่ ๒ อุปปัตติเทพ เทพเจ้าโดยกำเนิด แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
    (๑) เทพเจ้าชั้นกามาวจร (ผู้ยังเกี่ยวข้องกับกาม) มี ๖ ชั้น คือ
    (๑.๑) จาตุมหาราชิกา
    (๑.๒) ดาวดึงส์
    (๑.๓) ยามา
    (๑.๔) ดุสิต
    (๑.๕) นิมมานรดี
    (๑.๖) ปรนิมมิตวสวัตดี

    (๒) เทพเจ้าชั้นรูปาวจร (รูปพรหม) มี ๑๖ ชั้น คือ
    (๒.๑) พรหมปาริสัชชา พวกบริษัทบริวารมหาพรหม
    (๒.๒) พรหมปุโรหิตา พวกปุโรหิตมหาพรหม
    (๒.๓) มหาพรหมา พวกท้าวมหาพรหม
    (๒.๔) ปริตตาภา พวกมีรัศมีน้อย
    (๒.๕) อัปปมาณาภา พวกมีรัศมีประมาณไม่ได้
    (๒.๖) อาภัสสรา พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป
    (๒.๗) ปริตตสุภา พวกมีลำรัศมีงามน้อย
    (๒.๘) อัปปมาณสุภา พวกมีลำรัศมีงามประมาณมิได้
    (๒.๙) สุภกิณหา พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า
    (๒.๑๐) เวหัปผลา พวกมีผลไพบูลย์
    (๒.๑๑) อสัญญีสัตว์ พวกสัตว์ไม่มีสัญญา
    (๒.๑๒) อวิหา ผู้คงอยู่นาน
    (๒.๑๓) อตัปปา ผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร
    (๒.๑๔) สุทัสสา ผู้งดงามน่าทัศนา
    (๒.๑๕) สุทัสสี ผู้มองเห็นชัดเจนดี
    (๒.๑๖) อกนิฏฐา ผู้สูงสุด

    (๓) เทพเจ้าชั้นอรูปาวจร (อรูปพรหม) มี ๔ ชั้น คือ
    (๓.๑) อากาสานัญจายตนภูมิ ชั้นของผู้ที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด
    (๓.๒) วิญญาณัญจายตนภูมิ ชั้นของผู้ที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด
    (๓.๓) อากิญจัญญายตนภูมิ ชั้นของผู้เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร
    (๓.๔) เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ชั้นของผู้เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

    พระเจ้าซึ่งมีผู้เข้าใจกันว่า คือ มหาพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสัตว์ จัดอยู่ในเทพเจ้าขั้นรูปาวจรด้วย

    นิรุกติศาสตร์ของคำว่า “พระเจ้า”
    คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ประเภทพจนานุกรมภาษาบาลี ได้รวบรวมศัพท์ที่บ่งถึงพระเจ้าไว้ดังนี้
    ๑) ปิตามโห หมายถึง สัตว์ผู้เป็นบรรพบุรุษของสัตว์โลก แปลตามศัพท์ คือ สัตว์ผู้เป็นปู่ของสัตว์โลกนั่นเอง
    ๒) ปิตา หมายถึง สัตว์ผู้ดำรงตนอยู่ในฐานะบิดาของสัตว์โลกทั้งมวล
    ๓) พฺรหฺมา หมายถึง สัตว์ผู้มีสรีระใหญ่
    ๔) โลเกโส หมายถึง สัตว์ผู้เป็นใหญ่กว่าสัตว์โลกทั้งหลาย
    ๕) กมลาสโน หมายถึง สัตว์ผู้เกิดในดอกบัว
    ๖) หิรญฺญคพฺโภ หมายถึง สัตว์ผู้มีคุณอันงดงาม แปลตามศัพท์คือสัตว์ผู้มีความงามดังทอง
    ๗) สุรเชฏฺโฐ หมายถึง สัตว์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งหลาย เพราะมีคุณคือฌาน เป็นต้น
    ๘) ปชาปติ หมายถึง สัตว์ผู้เป็นเจ้าของหมู่สัตว์

    นอกจากนี้ ยังมีศัพท์ที่บ่งถึงพระเจ้าอีก ได้แก่ มหิสฺสโร หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ สิโว หมายถึง ผู้มีคุณอันประเสริฐ สูลี หมายถึง ผู้ถือหลาวเป็นอาวุธ อิสฺสโร หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ปสุปติ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งแผ่นดิน และ หโร หมายถึง ผู้นำทุกสิ่งไป คือ ผู้เป็นใหญ่นั่นเอง

    ความหมายของพระเจ้า
    คำว่า “พระเจ้า” ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “God” มีความหมายแตกต่างกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดท่าทีของพระพุทธเจ้าที่มีต่อพระเจ้าได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ได้เข้าใจความหมายของศัพท์นี้เสียก่อน

    Oxford Advanced Learner’s Dictionary : พระเจ้าคือผู้เป็นใหญ่ยิ่ง, ผู้สร้าง และผู้ปกครองโลก (God : Supreme being, Creator and Ruler of the Universe)

    Webster’s New World Dictionary : พระเจ้าในศาสนาเอกเทวนิยม คือ ผู้สร้าง และผู้
    ปกครองโลก ถือว่านิรันดร์, ไม่มีที่สิ้นสุด, ทรงอำนาจและสัพพัญญู, ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (God : in monotheistic religions, the creator and ruler of the universe regarded as eternal, infinite, all-powerful and all-knowing, Supreme Being)

    จากความหมายของพระเจ้าข้างต้น จึงสรุปได้ว่า พระเจ้าคือผู้สร้างโลก มีตัวตน ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง มีลักษณะคือสัพพัญญุตา (ความรู้สมบูรณ์) อำนาจอันล้นพ้นและความดีไม่สิ้นสุด

    แต่ความหมายของพรหมในพระพุทธศาสนาเถรวาท พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้พุทธธรรมเผยแผ่ไปเป็นที่เข้าใจและเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว จึงทรงรับเอาถ้อยคำในศาสนาเดิมมาใช้ โดยไม่ทรงปฏิเสธหรือขัดแย้งด้วยวิธีที่รุนแรง ทรงนิยมการเปลี่ยนแปลงแบบไม่รู้สึกตัว หรือแบบโอนอ่อนผ่อนตามมากกว่า โดยนัยนี้ พระองค์จึงทรงนำเอาคำบัญญัติที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง หรือทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “พรหม” ที่ถือว่าเป็นจิตวิญญาณของจักรวาล และเป็นสารัตถะที่แท้จริงของจักรวาลซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ในยุคสมัยนั้น

    พระพุทธองค์ทรงนำคำว่า “พรหม” มาใช้ ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างและไม่เหมือนกับความหมายเดิมที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในปปัญจสูทนี อรรถกถา มูลปริยายสูตร กล่าวสรุปความหมายของพรหมในพระพุทธศาสนาเถรวาทไว้ในแง่มุมต่าง ๆ กัน ๕ ประการ ได้แก่

    ๑) ท้าวมหาพรหม คือ พรหมในฐานะเป็นเทวดาชั้นสูงในพรหมโลก
    ๒) พระตถาคต (พระพุทธเจ้า)
    ๓) พราหมณ์
    ๔) มารดา บิดา คือ พรหมของบุตรเพราะประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ
    ๕) สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ได้แก่ หลักธรรมทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรหม

    พระพรหมผู้สร้างโลกของศาสนาพราหมณ์ในครั้งพุทธกาลก็คือท้าวมหาพรหม
    เรื่องเทวดาหรือเทพเจ้านั้นปรากฏในคัมภีร์ของแทบทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาแบบเทวนิยม เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ที่มักกล่าวถึงเทพเจ้าเป็นแกนหลักของคำสอน ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ถึงแม้ว่าจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของศาสนาแบบอเทวนิยม แต่พระพุทธศาสนาก็ยอมรับว่า สิ่งมีชีวิตพวกเทวดานั้นมีอยู่ ดังที่ปรากฏเรื่องราวต่าง ๆ มากมายหลายพระสูตรกระจัดกระจายในพระไตรปิฎกและที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ก็มีในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เป็นวรรคที่รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่าง ๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่มีทั้งหมด ๑๑ สังยุต โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทวดาจำนวน ๖ สังยุต

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลกรรณกัตถลมิคทายวัน ใกล้อุทัญญานคร พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับถวายปุจฉาเกี่ยวกับความมีอยู่ของพรหม
    พระเจ้าปเสนทิ : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมมีจริงหรือ ?
    พระพุทธเจ้า : ดูกรมหาบพิตร ก็เพราะเหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็พรหมมีจริงหรือ ?
    พระเจ้าปเสนทิ : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพรหมมีจริง พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่โลกนี้พระเจ้าข้า
    พระพุทธเจ้า : ดูกรมหาบพิตร พรหมใดมีทุกข์ พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีทุกข์พรหมนั้นก็ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร

    จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบคำถามทันทีแต่ทรงทวนคำถามก่อน เพื่อหยั่งดูแนวคิดของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่ามีแนวคิดอย่างไรต่อพรหม ซึ่งก็ได้ผล คือทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อว่าพรหมมีจริง พระพุทธองค์จึงตรัสรับรองว่าพรหมนั้นมีอยู่แต่มิได้อยู่ในฐานะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ผู้สร้างสรรค์โลกหรืออภิบาลโลก เพียงแต่มีอยู่ตามเหตุปัจจัย และเหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบคำถามนี้ตรง ๆ ก็เพราะ

    ๑) เรื่องเทวดาและพรหมเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากแก่บุคคลทั่วไป การมองเห็น สื่อสารและทราบรายละเอียดต่าง ๆ ของพรหมได้อย่างลึกซึ้งนั้นจำเป็นต้องมีอธิเทวญาณทัสสนะครบ ๘ ปริวัฏฏ์ อธิเทวญาณทัสสนะคือญาณทัสสนะของพระผู้เหนือกว่าเทพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิพยจักษุ เป็นคุณสมบัติจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับความเป็นสัมมาสัมพุทธะแต่ไม่จำเป็นสำหรับการบรรลุอรหัตตผล มี ๘ ด้านคือ ๑.จำโอภาสได้ ๒. เห็นรูปทั้งหลาย ๓. สนทนากันได้กับเทวดาเหล่านั้น ๔. รู้ว่าเทวดาเหล่านั้นมาจากเทพนิกายไหน ๖. รู้ว่าเทวดาเหล่านั้นมีอาหารอย่างไร ๗. รู้ว่าเทวดาเหล่านั้นมีอายุยืนยาวเท่าใด และ ๘. รู้ว่าพระองค์เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าผู้ถามไม่เชื่อว่าพรหมมีจริง แล้วทรงตอบว่ามีก็จะเสียเวลาทุ่มเถียงกันไม่จบ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถาม จึงไม่ทรงตอบตรง ๆ แต่ทรงทวนคำถามก่อน เพื่อให้ทราบแนวคิดของผู้ถามก่อนที่จะทรงตอบ ถ้าผู้ถามเชื่อว่ามีจริง แล้วพระองค์ทรงตอบตรง ๆ ว่ามีจริง ก็จะทำให้ผู้ถามเข้าใจผิดได้ว่ามีพรหมอยู่จริงเป็นอัตตาตัวตนเที่ยงแท้ถาวร อันนำไปสู่สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงได้ พระพุทธองค์จึงไม่ทรงตอบตรง ๆ ทันที แต่ทรงทวนคำถามก่อนแล้วค่อยตอบ และการตอบก็ตอบเป็นเงื่อนไขของเหตุปัจจัย เพื่อมิให้ผู้ถามเกิดสัสสตทิฏฐิ

    ๒) ในพระพุทธศาสนาเถรวาท พรหมนั้นมีอยู่ แต่เป็นเพียง “สัตว์” ชนิดหนึ่งเท่านั้น ซึ่ง “สัตว์” ในที่นี้หมายถึง สิ่งมีชีวิตทุกประเภท (ยกเว้นพืช) ที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอันยาวนาน การเกิดขึ้นของสัตว์นั้นล้วนแต่เป็นการเกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งสิ้น การเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็คือการเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ไม่ได้เป็นการเกิดขึ้นด้วยการดลบันดาลหรือตามเจตจำนงของพระเป็นเจ้าองค์ใด หากเกิดและดำรงไปตามกฎอิทัปปัจจยตาคือกฎแห่งความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวโยงต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ จากมนุษย์ตายแล้วเกิดในเทวโลก พรหมโลก หรือลงสู่อบายภูมิ หมุนเวียนสลับผลัดเปลี่ยนกันตามเหตุปัจจัยไม่มีที่สิ้นสุด

    พระพรหมผู้สร้างโลกและอภิบาลโลกของศาสนาพราหมณ์ในครั้งพุทธกาลก็คือท้าวมหาพรหมนี้นั่นเอง รายละเอียดในเรื่องนี้สามารถพบได้จากบทสนทนาของพระสารีบุตรและนางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดา ก่อนที่พระธรรมเสนาบดีจะปรินิพพาน ในสารัตถปกาสินี อรรถกถาจุนทสูตร เล่าถึงตอนพระสารีบุตรใกล้ปรินิพพานจึงกลับไปโปรดมารดาพราหมณีของตนที่ยังนับถือพระพรหมอยู่ ณ บ้านเกิดของตน

    ...พอพวกภิกษุไปแล้วเท่านั้น อาพาธอย่างกล้าก็เกิดขึ้นแก่พระเถระเวทนาปางตายเพราะถ่ายเป็นโลหิต ต้องเอาภาชนะหนึ่งเข้าไป (รองรับ) เอาภาชนะหนึ่งออกมา นางพราหมณีคิดว่า เราไม่ชอบใจความเป็นไปแห่งบุตรของเราเลย ได้ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน

    ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูอยู่ว่าพระธรรมเสนาบดีอยู่ที่ไหน เห็นแล้วว่า นอนบนเตียงเป็นที่ปรินิพพานในห้องที่ตนคลอดในบ้านนาฬกะ พวกเราจักไปเยี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย มาแล้วได้ยืนไหว้อยู่แล้ว
    สารีบุตร : พวกท่านเป็นใคร
    มหาราช : เป็นท้าวมหาราชขอรับ
    สารีบุตร : มาเพราะเหตุไร
    มหาราช : จักบำรุงท่านผู้เป็นไข้
    สารีบุตร : ช่างเถิด ผู้บำรุงเราผู้เป็นไข้มีอยู่ พวกท่านจงไปเถิด แล้วได้ส่งไป คล้อยหลังท้าวมหาราชทั้ง ๔ ไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพก็มาแล้วโดยนัยนั้นนั่นแหละ ก็เมื่อท้าวสักกะไปแล้ว ท้าวมหาพรหมก็มา พระเถระก็ได้ส่งท่านเหล่านั้นไป เหมือนอย่างนั้นนั่นแล เมื่อนางพราหมณีเห็นพวกเทวดาพากันมาจึงคิดว่า เทวดาเหล่านี้ ไหว้บุตรของเราแล้วก็ไป เพราะเหตุอะไรหนอแล จึงไปยังประตูห้องพระเถระแล้วถามว่า พ่อจุนทะมีความเป็นไปอย่างไรพระจุนทะบอกความเป็นไปนั้นแล้วจึงเรียนพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ มหาอุบาสิกามา พระเถระจึงถามว่า เพราะเหตุไรจึงมาในเวลาไม่เหมาะ นางจึงกล่าวว่า พ่อ แม่มาเพื่อเยี่ยมลูก แล้วจึงถามว่า พ่อ พวกใครมาก่อน
    สารีบุตร : ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มหาอุบาสิกา
    มารดา : เจ้าใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือพ่อ
    สารีบุตร : อุบาสิกา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เหมือนเด็กวัด ตั้งแต่พระศาสดาของพวกเราถือปฏิสนธิ ก็ถือพระขรรค์รักษาแล้ว
    มารดา : พ่อ คล้อยหลังท้าวมหาราชไปแล้วใครมาเล่า
    สารีบุตร : ท้าวสักกะจอมเทพ
    มารดา : เจ้าใหญ่กว่าจอมเทพหรือ พ่อ
    สารีบุตร : อุบาสิกา ท้าวสักกะก็เช่นเดียวกับสามเณรผู้ถือสิ่งของเวลาที่พระศาสดาของพวกเรา เสด็จลงจากดาวดึงสพิภพ ก็ได้ถือบาตรจีวรตามลงมา
    มารดา: พ่อ หลังจากที่ ท้าวสักกะนั้นไปแล้ว ดูเหมือนสว่างไสว ใครมา
    สารีบุตร : อุบาสิกา นั่นก็คือมหาพรหม ผู้เป็นพระเจ้าและศาสดาของโยม
    มารดา : พ่อยังใหญ่กว่ามหาพรหมพระเจ้าของโยมหรือ
    สารีบุตร : ใช่ อุบาสิกา เล่ากันมาว่า ชื่อว่ามหาพรหม ๔ เหล่านั้น วันที่พระศาสดาของพวกเราประสูติ เอาข่ายทองรองรับพระมหาบุรุษ

    เรื่องราวในอรรถกถาที่กล่าวมาข้างต้นชี้ชัดได้ว่าพรหมที่พวกพราหมณ์นับถือเป็นพระเจ้าและศาสดานั้นก็คือท้าวมหาพรหมผู้ซึ่งเคยมาเยี่ยมไข้พระสารีบุตรนั่นเอง

    บ่อเกิดของความเชื่อเรื่องพระเจ้า
    บ่อเกิดของความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นรูปธรรม มีตัวตน มีองค์เดียวเป็นผู้สร้างและปกครองโลก มีปรากฏอย่างเห็นได้ชัดเจนจากพรหมชาลสูตร แห่งทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ผู้เขียนขอคัดพุทธวจนะมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้ง บางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้กลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสัน ความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหม เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้น (คือ สัตว์ที่มาภายหลัง) ก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพสิ้นกาลยืดยาวช้านาน

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้นผู้ที่เกิดก่อนมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุที่ว่า เราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้ แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลัง ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้แล เป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอีศวร (อิสระ) เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า พวกเราได้เห็นพระพรหมผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ที่เกิดก่อนมีอายุยืนกว่า มีผิวพรรณดีกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้ที่เกิดภายหลัง มีอายุน้อยกว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แลที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ (เกิดเป็นมนุษย์) เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสอาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยการประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ อันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิตตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอีศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ พระพรหมผู้เจริญใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

    เมื่อศึกษาพุทธวจนะในพรหมชาลสูตร จะพบนัยเกี่ยวกับพระเจ้า ดังนี้
    ๑) มหาพรหม ซึ่งเป็นพระเจ้าในที่นี้ตรงกับความเชื่อของลัทธิเอกเทวนิยม คือมีความเชื่อว่า มีพระเจ้าสร้างโลกเพียงองค์เดียว ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต
    ๒) ประเด็นที่ว่า มนุษย์ในโลกทราบว่า มีมหาพรหม และพระพรหมนั้นเป็นผู้สร้างพวกตนและสรรพสิ่ง ก็ด้วยอาศัยผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับมหาพรหมในพรหมโลกมาก่อน ต่อมาจึงจุติจากพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วบางคนออกบวชเป็นบรรพชิต บำเพ็ญสมาธิ จนกระทั่งได้บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ชาติก่อน เพียงแต่หยั่งรู้ถึงสมัยที่เคยเกิดเป็นพรหมอยู่ร่วมกับมหาพรหมได้เท่านั้น แต่ชาติก่อนแต่นั้นระลึกถึงไม่ได้ จึงนำความรู้เกี่ยวกับมหาพรหม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระเจ้า ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งมาแสดงแก่มนุษยชาติด้วยกัน แสดงถึงว่า บ่อเกิดของความเชื่อพระเจ้าเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของสมาธินั่นเอง
    ๓) แต่ถ้าเขาระลึกชาติได้มากกว่านั้น จะพบว่าทั้งตนเอง ทั้งมหาพรหมซึ่งตนเองถือว่าเป็นพระเจ้า ต้องเวียนว่ายตายเกิดมานับไม่ถ้วน ตามอำนาจของกรรมนั่นเอง

    นักวิชาการทางศาสนาบางท่านได้ศึกษาค้นคว้ามหาพรหมในฐานะเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งจากพระไตรปิฎก แล้วจึงสรุปว่า มหาพรหมในพรหมชาลสูตรกับพกพรหมในพรหมนิมันตนิกสูตร เป็นองค์เดียวกัน เพราะมีข้อความที่พรหมปาริสัชชะยกย่องว่า “พกพรหมเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ในหมู่พรหม เป็นผู้ดูแลทั่วไป เป็นผู้มีอำนาจเหนือสรรพสัตว์ เป็นอีศวร (อิสระ) เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้จัดประเภทหมู่สัตว์ เป็นผู้อำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและจะเกิดต่อไป”

    ข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าจากความชั่ว
    ในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องพระเจ้าในฐานะผู้สร้างโลก (อิสฺสรนิมฺมานเหตุวาท) ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ และปฏิเสธอยู่บ่อย ๆ ในที่นี้ เสนอข้อพิสูจน์จากความชั่ว (Argument from Evil) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

    ถ้าพระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจ ก็ย่อมสามารถป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น ถ้าพระเจ้าสร้างความชั่วขึ้น พระเจ้าก็ไม่ใช่ผู้มุ่งประโยชน์ และไม่ใช่ผู้สมบูรณ์ ดังนั้น พระเจ้าต้องเป็นผู้ไร้อำนาจหรือมุ่งร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ความชั่วมีอยู่ ๒ ชนิด คือ
    ๑) ความชั่วตามธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ ทุพภิกขภัย เป็นต้น
    ๒) ความชั่วทางศีลธรรม ได้แก่ บาปที่บุคคลทำ เช่น การลักขโมย การฆ่า การประพฤติผิดในกาม และการทารุณกรรม เป็นต้น

    พระพุทธศาสนาคัดค้านการมีอยู่ของพระเจ้า โดยใช้ข้อพิสูจน์จากความชั่ว ซึ่งสามารถศึกษาได้จากภูริทัตชาดก ในชาดกนี้วิพากษ์พระพรหม (คือพระเจ้า) ของพราหมณ์ไว้อย่างรุนแรง ว่า
    “เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่ทำโลกอันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย ถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวงให้มีความสุข ถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือ (ให้โลกเต็มไปด้วย) มารยา เจรจาคำเท็จและมัวเมา ถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตอยุติธรรม เมื่อธรรมมีอยู่ พระพรหมนั้นก็จัดโลกไม่เที่ยงธรรม

    ในมหาโพธิชาดกแสดงไว้ว่า “ถ้าว่า พระเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความพินาศ สร้างกรรมดีและกรรมชั่วให้แก่โลกทั้งหมดไซร้ บุรุษผู้กระทำตามคำสั่งของพระเจ้า ก็ย่อมทำบาปได้ พระเจ้าย่อมเปื้อนบาปนั้นเอง

    เพื่อความชัดเจน จึงขอยกข้อความที่พระพุทธโฆสะ กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคมาเสนอ ณ ที่นี้ “แท้จริง ในสังสารประวัตินี้ ผู้สร้างสงสาร จะเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม หามีไม่ (เป็นแต่) ธรรมล้วน ๆ ย่อมเป็นไปเพราะการรวมกันเข้าแห่งเหตุเป็นปัจจัยแล”

    ความเชื่อในพระเจ้ากับลัทธิชะตากรรม
    ความเชื่อในพระเจ้ามาคู่กับความเชื่อต่อชะตากรรม คือทำให้เห็นว่า สุข ทุกข์ และอทุกขมสุข พร้อมทั้งความเป็นไปต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์นั้น ล้วนแล้วเกิดมาจากการบันดาลหรือการกำหนดของพระเจ้า คือพรหมลิขิต

    ในติตถายตนสูตร พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านทิฏฐิข้างต้นไว้ว่า
    ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาต เพราะการบันดาลของพระเจ้า จักต้องเป็นผู้ทำอทินนาทาน จักต้องเป็นผู้ประพฤติอพรหมจรรย์... จักต้องเป็นผู้กล่าวมุสาวาท... จักต้องเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ... ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระเจ้าเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี

    จึงทำให้เห็นได้ว่า ความเป็นไปทั้งสุข ทุกข์ และอทุกขมสุขนั้น ของมนุษย์เกิดจากความพอใจหรือความพยายามที่จะเสกสรรปั้นแต่งของมนุษย์เอง มิใช่เกิดจากพระเจ้า ถ้าพระเจ้าบันดาลได้จริง ทำไมจึงไม่บันดาลให้สรรพสัตว์ทั้งมวลไม่ทำปาณาติบาต ไม่ทำอทินนาทาน
    พระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาของอังคุตตรนิกาย เสริมความตอนนี้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

    บุคคลที่มีทรรศนะว่า สรรพสิ่งล้วนเกิดแต่การบันดาลหรือการกำหนดของพระเจ้านั้นย่อมปฏิเสธหรือไม่ยอมรับอาพาธ (โรคภัยไข้เจ็บ) ๘ ประการ คือ
    ๑) อาพาธมีน้ำดี (กำเริบ) เป็นสมุฏฐาน
    ๒) อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
    ๓) อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน
    ๔) อาพาธที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ โรคลม มาประชุมกัน
    ๕) อาพาธที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดู
    ๖) อาพาธที่เกิดจาการบริหาร (ร่างกาย) ไม่ถูกต้อง
    ๗) อาพาธที่เกิดจากความพยายาม (ทำให้เกิดขึ้น)
    ๘) อาพาธที่เกิดจากวิบากกรรม
    ผู้มีทรรศนะข้างต้น ย่อมปฏิเสธกรรม ๓ ชนิด คือ
    ๑) กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม)
    ๒) กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (อุปปัชชเวทนียกรรม)
    ๓) กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (อปราปริยายเวทนียกรรม)
    คัมภีร์มโนรถปูรณี กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่มีทรรศนะดังกล่าวย่อมปฏิเสธวิบาก (ผล) ๓ ชนิด ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ
    ๑) วิบากของกรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียวิบาก)
    ๒) วิบากของกรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (อุปปัชชเวทนียวิบาก)
    ๓) วิบากของกรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (อปราปริยายเวทนียวิบาก)
    นอกจากนี้ ผู้มีทรรศนะดังกล่าว ยังปฏิเสธเจตนา ๔ ชนิด ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ
    ๑) กุศลเจตนา (เจตนาดี)
    ๒) อกุศลเจตนา (เจตนาชั่ว)
    ๓) วิบากเจตนา (เจตนาที่เกิดจากผลกรรม)
    ๔) กิริยเจตนา (เจตนาที่เป็นกลาง ๆ หรือเป็นเจตนาของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีดีและไม่มีชั่ว
    โดยหลักการแล้ว พระพุทธศาสนาเป็นศาสนากรรมวาท (คือเชื่อว่า การกระทำมีผล) เป็นวิริยวาท (คือยอมรับในความเพียร) ดังนั้น มนุษย์จึงต้องลิขิตชีวิตของตนเอง ตามพุทธวจนะที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ) และ บุคคลล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร (วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ) พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้แนะแนวทาง (อกฺขาตาโร ตถาคต) ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับทรรศนะเรื่องพรหมลิขิต คือ ชีวิตถูกพระเจ้าลิขิต

    ถ้าชีวิตถูกลิขิตโดยพระเจ้าแล้ว ฉันทะ (ความพอใจ) และวิริยะ (ความเพียร) ที่จะเลือกทำ และไม่เลือกทำ ก็ไม่พึงเกิดขึ้น
    __________________________________________________________________________________________________

    อ้างอิง

    ขุ.จู. ๓๐/๒๑๔/๑๑๒.
    สงฺคห. ๒๕.
    ต.นาคประทีป, อภิธานปฺปทีปีกาและอภิธานปฺปทีปีกาสูจิ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๕.
    A P Cowie, Oxford Advanced Learner’s Dictionary, (England : Oxford University Press, 1994), p. 534.
    Victoria Neufeldt, Webster’s New World Dictionary, (New York : Simon $ Schuster, Inc., 1984), p. 578.
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๘.

    ม.มู.อ. ๑๗/๘๒.
    พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ), “แก่นธรรมในสังยุตตนิกาย”, ในเก็บเพชรจากคัม
    ภีร์พระไตรปิฎก, รวบรวมและจัดพิมพ์โดยกองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕), หน้า ๑๔๕.

    ม.ม. ๑๓/๕๘๒/๓๙๙.
    องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๖๑/๒๓๙.
    พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), เรื่องเหนือสามัญวิสัย : อิทธิปาฏิหาริย์-เทวดา, (กรุง
    เทพมหานคร : ธรรมดา, ๒๕๔๔), หน้า ๘๘.
    ดร.สุนทร ณ รังษี, พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก, (กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๓๐๐.
    สํ.สฬา.อ. ๓๐/๔๓๒.

    ขุ.ชา. ๒๘/๑๙๔๗-๑๙๕๐/๒๕๖.
    ขุ.ชา. ๒๘/๑๔๒/๑๙.
    วิสุทฺธิ. ๓/๓๖.
    องฺ.ติก. ๒๐/๖๒/๒๓๘.
     
  5. LungKO

    LungKO เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    590
    ค่าพลัง:
    +925
    กถาว่าด้วยมหาพรหมเป็นต้น
    {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :27-28 }

    [๑๓] ดูก่อนภัคควะ ก็เราย่อมทราบชัดสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศทั้งรู้ชัดกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่นจงทราบความดับได้เฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์. ดูก่อนภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ตามลัทธิอาจารย์มีแบบอย่างไร. สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้ ก็ตอบไม่ถูก จึงย้อนถามเรา เราถูกถามแล้ว จึงพยากรณ์ว่า เธอทั้งหลายมีบางกาลบางสมัยล่วงมาช้านาน ที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปิติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลช้านาน.
    เธอทั้งหลาย มีบางกาลบางสมัยล่วงมาช้านาน ที่โลกนี้กลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่า ว่างเปล่า ครั้งนั้นสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน เพราะสัตว์นั้นอยู่แต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสัน ความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอแม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง. ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ ว่าง เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลช้านาน.
    เธอทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นมีความคิดเห็นอย่างนี้วา เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น สัตว์เหล่านี้ เราเนรมิตขึ้น. ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าเราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์อื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้ บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ ก็ได้มาเป็นอย่างนี้ แล้ว. แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ นี้แล เป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มี ใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐ. เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว และกำลังเป็น พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้เนรมิตแล้ว. ข้อนั้นเพราะ
    เหตุใด. เพราะว่าพวกเราได้เห็นท่านพรหมผู้นี้เกิดก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง.
    เธอทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น สัตว์ใดเกิดก่อน สัตว์นั้นมีอายุยืนกว่า มีผิวพรรณงามกว่า มีศักดิ์มากกว่า. ส่วนสัตว์ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า. เธอทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็น (มนุษย์)อย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่นอาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้วบรรลุเจโตสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัย อยู่ในกาลนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้. เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน ผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐเป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พระพรหมผู้เจริญใดที่เนรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว. ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นเนรมิตแล้ว เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้. ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่า พระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือมิใช่. สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล.
    ภัคควะ เราย่อมทราบชัดสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับได้เฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์.

    กถาว่าด้วยเทวดาชื่อขิฑฑาปโทสิกะ

    [๑๔] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาปโทสิกะตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกเธอบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบอย่างไร. สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ก็ตอบไม่ถูก จึงย้อนถามเรา เราถูกถามแล้ว จึง พยากรณ์ว่า เธอทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่า ขิฑฑาปโทสิกะ มีอยู่ พวก นั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกเขาพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม จึงพากันจุติจากชั้นนั้น. เธอทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัย
    ความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาทอาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้. เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่าท่านพวกเทวดาผู้มีใช่เหล่า ขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติย่อมไม่หลงลืม เพราะสติไม่หลงลืม พวกเหล่านั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จึงตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นแล. ส่วนพวกเราเหล่า ขิฑฑาปโทสิกะ หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้. ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่า ขิฑฑาปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือมิใช่. สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมา ดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล.ภัคควะ เราย่อมทราบชัดสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้น ด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับเฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 พฤศจิกายน 2012
  6. tuanong

    tuanong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    134
    ค่าพลัง:
    +559
    ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๒ ซึ่งถือลัทธิพระอิศวรสร้างว่า ถ้าพระเจ้าสร้างชีวิตแก่โลกทั้งหมด เที่ยวจัดแจงใคนนี้ทำสิกรรม ให้คนนั้นเลี้ยงโคเป็นต้น เป็นผู้สร้างความเจริญความเสื่อม ความดีความชั่วทั้งปวงเป็นผู้บันดาลสิ่งทั้งหมด เมื่อเนเช่นนี้ใครทำบาปก็ทำเพราะพระเจ้าเป็นคนสั่งให้ทำ พระเจ้าจะต้องรับบาปนั้นไปเอง ถึงอาตมาจะฆ่าลิงหรือใครจะทำบาปอะไรๆก็ไม่ต้องรับบาป พราะทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้าต่างหาก อำมาตย์คนที่ ๒ ถูกโต้ดังนั้นก็นิ่งไป


    อยู่ในชาดกเรื่องลัทธิสี่อย่างครับ ไปตามกระทู้นี้ได้ครับhttp://palungjit.org/threads/ลัทธิ-...ช-สมเด็จพระญาณสังวร-สกลมหาสังฆปรินายก.383484/
     
  7. J47

    J47 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2010
    โพสต์:
    500
    ค่าพลัง:
    +3,405
    พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการคือ

    พุทธกิจประการที่ ๑ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
    พุทธกิจประการที่ ๒ ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
    พุทธกิจประการที่ ๓ ในเวลาค่ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
    พุทธกิจประการที่ ๔ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
    พุทธกิจประการที่ ๕ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น
    ตัวอย่าง ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดคือ ชฎิล ๓ พี่น้อง, ท้าวผกาพรหม
     
  8. rwoot

    rwoot เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    336
    ค่าพลัง:
    +191

    กราบอนุโมทนาสาธุครับผม

    ขอนำไปเผยแพร่ในเฟสฯนะครับ :cool:
     
  9. rubian

    rubian เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    303
    ค่าพลัง:
    +483
    ดอกบัว มี สี่เหล่า
     

แชร์หน้านี้

Loading...