ละฮอร์เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นปัญจาบเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว การก่อสร้างและสถาปัตยกรรมโบราณที่ยังมีให้เห็นรวมทั้งพิพิธภัณฑ์ละฮอร์มีอิทธิพลมาจากจักรวรรดิโมกุลทั้งสิ้น... การเดินทางเยือนพุทธสถานในปากีสถานกับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ร่วมคณะเกือบทุกคนหูตาสว่าง เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าแหล่งพุทธสถานที่ยิ่งใหญ่และโบราณอายุนับพันปียังมีให้กราบไหว้บูชาในประเทศนี้ที่เป็นประเทศที่นับถืออิสลามเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้นับถือศาสนาอื่นรวมทั้งศาสนาพุทธด้วยกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ปากีสถานแม้ว่าประชาชนจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่รัฐบาลและนักวิชาการได้ทุ่มเทดูแลรักษาพุทธสถานให้อยู่ในสภาพดีเท่าที่จะทำได้ นอกจากที่ตั้งพุทธสถานในตำบลและเมืองต่างๆ ไม่ว่าตักสิลา เปชวาร์ ตั๊ก-อิ-ไบ ที่เมดาน สวัตวัลเลย์ และละฮอร์ ที่อยู่ใกล้ชายแดนอินเดียแล้ว ยังนำปูชนียวัตถุของชาวพุทธ โดยเฉพาะพระพุทธรูปศิลปะคันธาระที่สวยเลิศหาพุทธศิลป์ที่ไหนเทียบไม่ได้มาเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ดังที่ผมเคยเขียนและนำภาพมาเสนอไปในตอนก่อนๆ แล้ว คือที่ตักสิลาและเปชวาร์ ฉบับนี้ผมจะนำภาพพุทธศิลป์ที่เก็บรักษาและตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ละฮอร์ ที่เขาอนุญาตให้ถ่ายภาพได้มาเสนอ เสียดายที่ผมถ่ายภาพได้ไม่ดีนัก ประกอบกับกล้องถ่ายภาพเป็นของสมัครเล่น ภาพจึงไม่สวยงามดังของจริงที่ตั้งแสดงไว้ ก่อนอื่นขอฉายภาพละฮอร์ให้เห็นคร่าวๆ ว่า ละฮอร์อยู่ห่างจากอิสลามาบัด เมืองหลวงปากีสถานไปทิศเหนือ ที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย ระยะทางประมาณ 288 กิโลเมตร เดินทางตามถนนมอเตอร์เวย์ที่ใหญ่มาก แต่มีรถยนต์สัญจรไม่มาก ละฮอร์เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นปัญจาบเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว การก่อสร้างและสถาปัตยกรรมโบราณที่ยังมีให้เห็นรวมทั้งพิพิธภัณฑ์ละฮอร์มีอิทธิพลมาจากจักรวรรดิโมกุลทั้งสิ้น เพราะโมกุลปกครองมานาน โดยเฉพาะสมัยจักรพรรดิอักบาร์ได้สร้างความอลังการทางด้าน สถาปัตยกรรมไว้หลายแห่งทั้งปราสาทราชวัง ป้อมปราการ และหลุมฝังศพ รวมทั้งสวนชาลิมาร์สร้างโดยชาห์เจฮาน เมื่อปี ค.ศ. 1642 เป็นต้น ส่วนอิทธิพลสถาปัตยกรรมศาสนาอิสลามที่ติดระดับโลกได้แก่มัสยิดบัดชาฮิ ที่กล่าวกันว่าใหญ่ที่สุดในโลก สร้างโดยจักรพรรดิออรังกาเซ็บ ปี ค.ศ. 1674 เป็นอันว่ามาละฮอร์มีที่น่าดูน่าชมมากมายหลายแห่งขึ้นอยู่กับเวลา และความสนใจของผู้อ่าน สำหรับคณะของผมเขาพาไปดูมัสยิดโบราณบัดซาฮิ พระราชวังและป้อมโบราณ สุดท้ายคือพิพิธภัณฑ์ละฮอร์ เมื่อดูพระพุทธรูปของจริงที่พิพิธภัณฑ์ละฮอร์ ตามสายตาของชาวพุทธจะร้องต้องอุทานด้วยความมหัศจรรย์ใจถึงความยิ่งใหญ่แห่งพุทธศิลป์ ซึ่งเป็นศิลปะคันธาระเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่มีนับร้อยชิ้น ทั้งเล็กและใหญ่ที่ตั้งแสดงที่นี่ แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เจาะจงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะคันธาระและพุทธศาสนา จึงมีศิลปะจากศาสนาเชน ฮินดู พราหมณ์ และซิกซ์มาตั้งแสดงด้วย แต่ไม่มีศิลปะวัตถุอื่นที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นเท่าพุทธศิลปะคันธาระ ไม่มีใครปฏิเสธว่าศิลปะคันธาระหลากหลายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่นั้น พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา จัดเป็นศิลปะชั้นเอกที่นี่ ส่วนการตั้งแสดงนั้นเขาพยายามตั้งโดยลำดับตามพุทธประวัติ เพราะศิลปวัตถุหลายชิ้นเล่าเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ การประสูติ การเสด็จออกบวช การเข้าศึกษาในสำนักต่างๆ การบำเพ็ญทุกรกิริยา การตรัสรู้ แสดงธรรม แสดงยมกปาฏิหาริย์ จนกระทั่งดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อดูพิพิธภัณฑ์จบแล้วหน้าที่พาไปดูละครที่ทหารปากีสถานและอินเดียแสดงที่ชายหาดปากีสถานที่เรียกว่า วาขะ (Wagha) ในพิธีเชิญธงชาติของ 2 ประเทศลงจากเสาพร้อมๆ กันในเวลาค่ำ ก่อนพิธีเชิญธงลง ทหารแต่ละประเทศแสดงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ให้เห็นทั้งเสียง ทั้งการตบเท้า พร้อมกับเสียงเชียร์จากโฆษกและประชาชนคนดูฝ่ายละนับพัน แม้ว่าจะแสดงพลังอำนาจข่มขู่ซึ่งกันและกัน แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็จับมือกันเมื่อเชิญธงลงมาแล้วประตูปิดลง วาขะนี้อยู่ห่างละฮอร์ประมาณ 30 กิโลเมตร ในวันเสาร์อาทิตย์นักท่องเที่ยวแน่น รถมาก จราจรติดขัด เป็นการปิดฉากการเที่ยวปากีสถานอีกอารมณ์หนึ่ง ขอขอบคุณ : รัฐบาลปากีสถาน พ.ส.ล. และ Pakistan Tourism Development Corporation and Pakistan Embassy to Thailand พิพิธภัณฑ์ละฮอร์ แหล่งรวมพุทธศิลป์คันธาระชิ้นเอก