ศีลเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุมรรคผล เรายอมตัวตายดีกว่าศีลขาด

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    IMG_7034.jpeg

    เรื่องของพระเรา ต้องคำนึงถึงสถานภาพตนเองก่อน สิ่งหนึ่งประการใดที่เกิดขึ้น ต้องระลึกถึงอยู่เสมอว่าเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกริยานั้น ๆ

    ดังที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วว่า สมัยที่มาสร้างสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษีใหม่ ๆ ไม้เถื่อนยกละ ๑,๗๐๐ บาท ถึง ๑,๘๐๐ บาท สามารถหาได้ แต่กระผม/อาตมภาพต้องวิ่งรถลงไป ๑๔๐ กิโลเมตรให้ถึงในตัวเมือง ไปกลับก็ ๒๘๐ กิโลเมตร เพื่อซื้อไม้โรงงานยกละ ๗,๐๐๐ บาท มาใช้ในการก่อสร้าง..! ถ้าหากว่าเรามักง่าย ซื้อไม้เถื่อนมา โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งหนึ่งประการใดเลย เราอาจจะสูญเสียสถานภาพความเป็นพระภิกษุไปโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าไม้เถื่อนแปลว่าไม่ได้ตีตรา ไม่ได้เสียภาษี

    คราวนี้ความเป็นพระภิกษุของเรานั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้ว่า ถ้าหากว่าหยิบฉวยสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ราคา ๕ มาสกขึ้นไป ขาดความเป็นพระทันที ท่านใช้คำว่าต้องอาบัติปาราชิก ราคา ๕ มาสกบ้านเรา กำหนดไว้ที่ ๑ บาทเท่านั้น

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานมหาปเทส ๔ ก็คือข้ออ้างใหญ่ ๔ ประการ ไว้ในการพิจารณาพระธรรมวินัยว่า ในโอกาสนานไปข้างหน้า มีสิ่งหนึ่งประการใดที่เกิดขึ้น แล้วไม่ได้มีบัญญัติไว้ในพระวินัย คือข้อยึดถือปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ ทรงให้หลักการพิจารณาไว้ว่า สิ่งนั้นสามารถที่จะกระทำได้ตามพระธรรมวินัยหรือว่าทำไม่ได้ เรียกว่ามหาปเทส ๔ ประกอบไปด้วย

    ข้อที่ ๑ สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร

    ข้อที่ ๒ สิ่งใดไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร

    ข้อที่ ๓ สิ่งใดสมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร

    และข้อที่ ๔ ข้อสุดท้าย สิ่งใดสมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร

    ในเรื่องของไม้เถื่อนนั้น ถ้าเรามาพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่สมควร เพราะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งยังมีศีลพระที่กำหนดเอาไว้ว่า ภิกษุช่วยซ่อนภาษีจากพ่อค้า ต้องอาบัติ แต่คราวนี้อาบัติที่กำหนดไว้นั้น เป็นแค่อาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าเราพิจารณาดูว่า อาบัตินั้นแม้จะเป็นแค่ปาจิตตีย์ แต่ว่าสิ่งที่เราหนีภาษีแล้วมีมูลค่า ๑ บาทขึ้นไป ก็แปลว่าเราขาดจากความเป็นพระได้เช่นกัน..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงได้ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือพระอุปัชฌาย์ คำว่า อุปัชฌายะ แปลว่า ผู้เพ่งดูโดยตระหนัก ก็คือดูว่าสิ่งใดสมควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดใช่ สิ่งใดไม่ใช่ แล้วก็เลือกเอาสิ่งที่สมควร ละเว้นในสิ่งที่ไม่สมควร เลือกเอาสิ่งที่ใช่ ละเว้นในสิ่งที่ไม่ใช่

    พระอุปัชฌายะมีหน้าที่สั่งสอนสัทธิวิหาริก ก็คือลูกศิษย์ที่ตนเองบวชมา ในสมัยพุทธกาลถึงได้กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌายะได้ต้องมีพรรษาพ้น ๑๐ ต้องรู้พระธรรมวินัยครบถ้วน อาจสั่งสอนสัทธิวิหาริกให้รู้ตามได้ ตรงนี้สำคัญที่สุด ตัวเองรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องสอนลูกศิษย์ให้รู้ตามด้วย จะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาด

    เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ของเราต้องระวังอย่างสุดขีด เพราะว่าเผลอเมื่อไร จะขาดความเป็นพระทันที ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น การต้องอาบัติปาราชิก ในพระวินัยเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนกับตาลยอดด้วน ก็คือไม่สามารถที่จะเจริญงอกงามต่อไปได้ในพระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนกระเบื้องที่แตกอยู่ปากบ่อ ถ้วยชามที่แตกแล้วย่อมไม่สามารถที่จะใช้งานต่อไปได้อีก

    ญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ทำอย่างไรที่เราจะรู้สึกว่าศีลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อยู่ในลักษณะที่ว่าตัวตายดีกว่าศีลขาด ถ้าหากว่ายังเข้าไม่ถึงตรงนี้ ความเป็นพระโสดาบันก็ยังมาถึงเราไม่ได้ การที่เราต้องระมัดระวังศีลเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าศีลเป็นคุณสมบัติหลักของพระโสดาบัน ตลอดถึงพระสกทาคามีด้วย

    สมาธิเป็นคุณสมบัติหลักของพระอนาคามี ไม่ใช่ว่าคุณสมบัติข้ออื่นคือศีลและปัญญาไม่มี มีครบถ้วนสมบูรณ์ แต่แก่นสำคัญเลยก็คือตรงนี้ เพราะว่าถ้าสมาธิไม่ทรงตัว ย่อมไม่สามารถตัดรัก ตัดโกรธ ได้อย่างเด็ดขาด ก็จะเป็นพระอนาคามีไม่ได้ ส่วนพระอรหันต์นั้น แก่นสำคัญที่สุดก็คือปัญญา ศีลพร้อม สมาธิพร้อม ถ้าปัญญาไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถที่จะละวางได้อย่างแท้จริง
    ญาติโยมทั้งหลายที่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม หลักสำคัญของเราก็คือศีลและสมาธิ ถ้าศีลทรงตัว สมาธิก็ตั้งมั่น ถ้าสมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็จะเกิด ดังนั้น..ทุกวันเราต้องทบทวนศีลและทรงสมาธิให้เป็นปกติ เมื่อถึงเวลาปัญญาเกิด เราก็จะรู้เองว่า เราจะสามารถรักษาศีลและสมาธิอย่างไร ให้ทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้น จนกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง คือการล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
    ....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...