เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 27 กรกฎาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ พรุ่งนี้พวกเราต้องหยุดบิณฑบาต ๑ วัน เนื่องจากว่ามีงานบิณฑบาตเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ

    หลังจากที่กลับมา เราก็จะได้ทำการบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมรุ่นที่ ๕/๒๕๖๖ ซึ่งครั้งนี้จะปฏิบัติธรรมไปจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ แล้วท่านใดจะอยู่ต่อเพื่อที่จะร่วมงานวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ก็สามารถที่จะอยู่ต่อได้

    ในเรื่องของการปฏิบัติงานต่าง ๆ บางอย่างเราก็ต้องคิดงานล่วงหน้า โดยเฉพาะการทยอยทำงานไป ไม่ปล่อยให้เป็น "ดินพอกหางหมู" อย่างเช่นว่าการส่งบัญชีต่าง ๆ ของทางคณะสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา ไม่ว่าจะเป็นบัญชีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา บัญชีพระนวกะปฏิบัติธรรม บัญชีการส่งสอบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตลอดจนกระทั่งสรุปยอดพระจำพรรษา วัดท่าขนุนส่งครบถ้วนแล้ว

    ทั้ง ๆ ที่เขาให้ส่งหลังเข้าพรรษาไปแล้ว ๓ วัน ถ้าหากว่าใครยึดหลักการทำงานแบบนี้ไว้ ก็คือทยอยทำไปทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย เราก็จะงานไม่หนัก แต่ถ้าใครมาระดมทำทีเดียวในช่วงเส้นตายที่เขากำหนดไว้ ก็เท่ากับว่าหาเรื่องเหนื่อยและเครียด..!

    เนื่องเพราะว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้มีอะไรมากมาย อย่างเช่นว่าบัญชีสัทธิวิหาริก ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร เมื่อบวชเสร็จแต่ละครั้ง กระผม/อาตมภาพก็จะทยอยลงบัญชีไปเลย ดังนั้น..บัญชีนี้จึงสามารถที่จะส่งได้ ตั้งแต่การอุปสมบทหมู่เพื่อจำพรรษาในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ แต่กระผม/อาตมภาพก็เอามาส่งพร้อมกันในวันนี้ เพราะว่าไม่อยากกดดันเพื่อนฝูงมากจนเกินไป

    ลักษณะของบุคคลที่เรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็เช่นเดียวกัน ท่านทั้งหลายจะต้องทำวิทยานิพนธ์หรือว่าสารนิพนธ์ ถ้าเราทยอยทำไปก็จะไม่หนักหนาอะไร ประมาณว่าเฉลี่ยเขียนวันละหน้า ๓ เดือนก็ได้ไปแล้ว ๙๐ หน้า ถ้าจะเอาหรู ๆ หน่อย ก็ ๔ เดือนไปเลย ๑๒๐ หน้า ยิ่งเราเปิดเข้าเปิดออกทุกวัน ต้องอ่านทวนอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาก็จะจำข้อมูลได้แม่นยำมาก และสามารถตอบสิ่งที่อาจารย์ซักถามได้ทุกอย่าง

    อย่างที่กระผม/อาตมภาพสอบปริญญาโท ใช้เวลาแค่ ๑๐ กว่านาที สอบปริญญาเอกใช้เวลา ๒๒ นาที ขณะที่เพื่อนฝูงโดนกันคนละ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เมื่ออาจารย์ผู้คุมสอบท่านปิดเล่ม บอกว่า "ผมให้ผ่านโดยไม่มีข้อแม้" ทางประธานคณะกรรมการถามว่า "ทำไมให้ผ่านโดยไม่มีข้อแม้ ?" อาจารย์ท่านให้เหตุผลว่า "วิทยานิพนธ์ ๔๐๐ กว่าหน้า ท่านสามารถบอกผมได้ว่าข้อมูลที่ผมถามอยู่หน้าไหน ผมยอมเลยครับ" นี่คือสิ่งที่เราคลำอยู่ทุกวัน ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ทวนแล้วทวนอีก

    แต่ว่าบางอย่างเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายได้ใหญ่หลวงเช่นกัน ตอนเรียนปริญญาตรี กระผม/อาตมภาพทำรายงาน ๔ เรื่อง แล้วก็ยังต้องสรุปรายงาน ๕ กลุ่มให้เป็นเล่ม เพราะว่าอาจารย์ท่านขอร้อง เนื่องจากว่าจะเอาเล่มไปยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ คิดดูก็แล้วกันว่าอาจารย์ท่านให้ความไว้วางใจขนาดไหน ? ตัวท่านจะขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่ให้ลูกศิษย์ที่เพิ่งเรียนปริญญาตรีเป็นคนเขียนให้ เมื่อเสร็จแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ยังเปิดอ่านทวน เกลาแล้วเกลาอีกอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาส่งและไม่ถึงเวลานำเสนอ

    ปรากฏว่าแฟล็ชไดรฟ์บรรจุข้อมูล อยู่ ๆ ก็เจ๊งหน้าตาเฉย..! คราวนี้ก็หน้ามืดสิครับ..รายงานตั้งหลายเล่ม มีคนแนะนำว่าที่พันทิพย์สามารถกู้ได้ เขาคิดกิ๊กฯ ละ ๕๐๐ บาท กระผม/อาตมภาพบอกเขาว่ารีบไปเลย ให้กิ๊กฯ ละ ๑,๐๐๐ บาท เอาคืนมาให้ได้ก็แล้วกัน สรุปว่าเซียนแค่ไหนก็กู้คืนไม่ได้..! ต้องมาเริ่มต้นทำใหม่ ดังนั้น..เรื่องนี้ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ต้องสำรองข้อมูลไว้หลาย ๆ ที่ อย่างปัจจุบันนี้ กระผม/อาตมภาพก็สำรองข้อมูลไว้สามแที่ ก็คือในแฟล็ชไดรฟ์ ในเครื่อง แล้วก็ในเอ็กซ์เทอนัลฮาร์ดดิสก์

    ที่มากล่าวถึงตรงนี้ก็เพราะว่า ทุกครั้งที่มีการทวงงานหรือว่าตามงานของคณะสงฆ์ จะต้องมีปัญหาส่งล่าช้า หรือว่าไม่ส่งอยู่เสมอ เป็นเพราะว่าทำงานไม่เป็น แทนที่จะทยอยทำไปวันละเล็กวันละน้อย ก็ไปทำทีเดียวตอนคนอื่นเขาทวงมา

    กระผม/อาตมภาพนั้น จะดูอยู่เสมอว่างานต่อไปจะต้องส่งเมื่อไร อย่างเช่นว่าการตรวจการคณะสงฆ์ เขานัดส่งทุกวันที่ ๑๐ เมษายน ๑๐ สิงหาคม และ ๑๐ ธันวาคมของปี กระผม/อาตมภาพทำเสร็จไปตั้งแต่ต้นเดือนนี้แล้ว คราวนี้ก็รอ..รอจนบางทีก็ลืมส่ง เพราะคิดว่าทำเสร็จตั้งนาน น่าจะส่งไปแล้ว พอเขาทวงมาก็สะดุ้ง ลืมส่ง..เพราะว่าเสร็จก่อนนานเกินไป..!

    ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามตารางงาน แล้วเราทยอยทำรอเอาไว้ ถึงเวลาแค่ออกหนังสือนำฉบับเดียว ก็เป็นอันว่าเรื่องจบลงสวย ๆ ผู้บังคับบัญชาชม แต่เพื่อนด่า..! ไอ้ที่เพื่อนด่าเพราะว่า เมื่อเราส่งก็กลายเป็นกดดันให้เขาต้องส่งตามไปด้วย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    นี่คือหลักอิทธิบาท ๔ ปกติธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าเราต้องการความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม ต้องมีอิทธิบาท ๔

    อิทธิ ความสำเร็จ ปาทะ หรือมาเป็นภาษาไทยว่าบาท คือพื้นฐาน พื้นฐานแห่งความสำเร็จ แต่บ้านเราก็เป็นเรื่องแปลก ใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก แต่ตัวหนังสือมักจะใช้สันสกฤต ก็เลยแทนที่จะใช้อิทธิ เราไปใช้อิทธิฤทธิ์ หรือว่าอิทธิฤทธิ

    อิทธิ ภาษาบาลีแปลว่าทำให้สำเร็จ ฤทธิ ภาษาสันสกฤต แปลว่า ทำให้สำเร็จ คนไทยกลัวจะไม่สำเร็จ เล่นอิทธิฤทธิ์ไปเลย..!

    ก็แบบเดียวกับคำว่าวิปุละ หรือว่าวิบูลย์ ภาษาบาลีแปลว่าสมบูรณ์พร้อม มีเหลือเฟือ คนไทยมาใช้สันสกฤตว่าไพบูลย์ เรียนบาลีแต่ใช้สันสกฤต กระผม/อาตมภาพก็รู้สึกว่าเพี้ยน ๆ อยู่เหมือนกัน..!

    คราวนี้เมื่อเราปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ เมื่อมีฉันทะ คือพอใจที่จะทำ ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ พูดง่าย ๆ คือต้องเปลี่ยนทัศนคติของตนเองด้วย ถ้าทัศนคติ หรือ attitude ไม่ได้เรื่อง เราก็จะไม่ได้เรื่องตลอดไป ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเองได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า ถ้าเรายังทำแบบนี้อยู่ เราก็จะโดนผู้บังคับบัญชาบ่นอยู่ตลอดเวลาว่าส่งงานไม่ทัน

    ในเมื่อมีทัศนคติว่าไม่อยากโดนบ่น ไม่อยากโดนด่า ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติ หันมาพอใจที่จะทำอย่างนั้น แล้วก็วิริยะ พากเพียรทำไปให้เต็มที่ อย่างที่เคยบอกอยู่ว่า ถ้าหากว่าเราทุ่มเท ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ บางทีความสำเร็จจะมาช้า แต่ถ้าหากว่าเราทุ่มเทสัก ๑๒๐ หรือ ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จจะมาเร็วขึ้น

    ก็เหลือที่จิตตะ เอาใจจดจ่อปักมั่นอยู่เสมอ คอยเพิ่มเติมข้อมูล คอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ใจคออยู่กับงาน ไม่ได้ไปไหนเลย
    ถ้าปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ใจเราก็อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    ท้ายที่สุดก็คือวิมังสา หมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ทำไปถึงไหน ? ยังขาดอีกมากน้อยเท่าไร? ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ? ระยะเวลากับงานของเราที่จะสำเร็จลง เพียงพอหรือไม่ ? ต้องเร่งรัด หรือว่าสามารถผ่อนคลายได้ ?

    หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านหวังประโยชน์ใน ๓ สถาน คือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เห็นทันตา ถ้าเราใช้หลักนี้ในการทำงาน งานของเราจะดีขึ้นทันตาเห็น

    สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในโลกหน้า ถ้าหากว่าเราทำดีทำถูก ไม่
    ปฏิบัติธรรมแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ความหวังในสุคติหลังจากที่เราตายไปแล้ว ย่อมมีโอกาสมาก

    และท้ายที่สุด ปรมัตถประโยชน์ ถ้าหากว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์พร้อมจริง ๆ เราสามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ได้

    ก็แปลว่า ในเบื้องต้นก็ดี ในเบื้องกลางก็ดี ในเบื้องปลายก็ดี ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกหมวด ยังประโยชน์ให้แก่เราได้ในทุกเมื่อ สำคัญตรงที่ว่าต้องทำจริง ทำดี และทำถูกเท่านั้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...