เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 20 ธันวาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๔


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ต้องบอกว่ายังโชคดีที่กระผม/อาตมภาพกลับมาทันเวลา เพราะว่าต้องไปประชุมคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะในส่วนของการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดงานด้านวัฒนธรรม ๓ แห่ง ซึ่งมีวัดท่าขนุนอยู่ใน ๓ แห่งนั้นด้วย

    คราวนี้ปัญหาหนึ่งที่นำขึ้นมากล่าวกันในการประชุมครั้งนี้ก็คือ ตั้งแต่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ แล้วก็แช่แข็งการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถที่จะเลือกคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมชุดใหม่ได้ แล้วในปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับอนุญาตให้มีการเลือกตั้งได้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ก็ทำให้การเลือกตั้งนั้นต้องสะดุดหยุดยั้งลงไปอีก

    จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ๑๓ อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี มีสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิแห่งเดียว ที่มีการเลือกตั้งและได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่เหลือทั้งหมดยังเป็นรักษาการอยู่

    เมื่อนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ประชุม กระผม/อาตมภาพก็ขออนุญาตประธานในที่ประชุม พูดถึงการทำงานของสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ก็คือโดยปกติแล้วการทำงานต่าง ๆ นั้นจะมีกรอบเวลาของงานอยู่แล้ว ว่าในแต่ละเดือน แต่ละช่วง ต้องทำอะไรบ้าง แม้แต่การเลือกตั้งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบล การเลือกตั้งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอ ก็มีกรอบที่ชัดเจนอยู่ แต่ว่าอำเภออื่น ๆ ทำไม่ได้ ทำไม่ทัน

    เหตุที่เป็นเช่นนี้ ต้องบอกว่าขาดหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ในมงคล ๓๘ ประการว่า อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การทำงานต้องไม่ให้คั่งค้าง ถึงจะเป็นอุดมมงคล

    ตรงจุดนี้แล้ว ส่วนใหญ่การทำงานนั้นมักอยู่ในลักษณะ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" หรือที่บางคนใช้คำว่า "เช้าชามเย็นชาม" ไม่มีการทำไปตามกรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ พอถึงเวลาต้องส่งงาน ก็เกิดการ "เผางาน" กันขึ้นมาบ้าง ทำไม่ทันแล้วปล่อยคาราคาซัง ก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กรบ้าง

    ตรงจุดนี้พวกเราต้องตระหนักว่า การทำงานของหน่วยราชการส่วนใหญ่จะออกไปในรูปแบบนี้ อีกแบบหนึ่งก็คือไม่มีงบประมาณมาก็ไม่ขยับ

    ต้องบอกว่าในเรื่องของสภาวัฒนธรรม ไม่ว่าจะระดับตำบล ระดับอำเภอ หรือว่าในระดับจังหวัด ผู้ที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่ก็คือ บุคคลที่เสียสละเพื่อที่จะเข้ามาทำงานให้กับส่วนรวม แต่ปรากฏว่าน้อยคนที่จะเสียสละอย่างแท้จริง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    เนื่องจากว่าระยะประมาณ ๒ ปีเศษที่ผ่านมา เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นมา ทำให้ไม่มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมใหม่ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณในการทำงานมาให้ เกือบทุกแห่งจึง "เข้าเกียร์ว่าง" กันหมด

    แต่ว่าของสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมินั้น กระผม/อาตมภาพไม่เคยรองบประมาณหลวง งานการทุกอย่างทำไปเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อญาติโยมในพื้นที่ ทำไปเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสียสละ ทำไปโดยไม่ต้องรองบประมาณ ไม่เช่นนั้นแล้วงานไปไม่ได้ ญาติโยมทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งของต่าง ๆ ได้ เงินหมุนเวียนไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจก็ไม่ดี


    แต่ว่าปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นระดับสภาวัฒนธรรมตำบล หรือว่าสภาวัฒนธรรมอำเภอ มักจะกลายเป็นที่รวมของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งต้องการเอาไว้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งของตน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าคณะกรรมการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้ามา เป็นคู่แข่งกันในท้องถิ่นสภานั้น ๆ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะว่าสิ่งหนึ่งประการใดที่จะทำ ถ้าเกิดผลดี ส่งผลต่อคะแนนเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะโดนเตะสกัด โดนเตะถ่วงเป็นปกติ

    ในเมื่อปราศจากความเสียสละ ก็คือไม่มีจาคะ งานการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปได้ โดยเฉพาะที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ตรัสเอาไว้ว่า ต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์สุขส่วนใหญ่ของบ้านเมือง


    แต่ก็ยังดีว่าในวันนี้ที่ไปนั่งร่วมประชุม นอกจากมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในหลายส่วนแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือ เป็นตัวอย่างที่เขายกให้แก่ในที่ประชุมว่า การทำงานในด้านนี้ เราต้องเสียสละอย่างไรบ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วในปัจจุบันนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่สภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิทำไป ต้องบอกว่า "ล้ำหน้า" สภาวัฒนธรรมอำเภออื่นทั้งประเทศ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    วันมะรืนนี้กระผม/อาตมภาพก็จะไปรับรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานที่ว่าก็คือสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ที่กระผม/อาตมภาพเป็นพระรูปเดียวที่เป็นประธานสภาวัฒนธรรมในระดับอำเภอ อีก ๘๗๗ อำเภอ มีแต่ฆราวาสเป็นประธานสภาทั้งนั้น..!

    ที่นำเอามาบอกกล่าวนี้ อยากจะเน้นย้ำตรงจุดที่ว่า การงานทุกอย่างที่เราทำ อย่าปล่อยให้คั่งค้าง เด็กนักเรียน ถ้าหากว่าทิ้งการบ้านให้ค้าง พอของใหม่เข้ามาทับถมกันมาก ๆ เข้าก็จะท้อหมดกำลังใจ ผู้ใหญ่ถ้าหากว่าทิ้งงานในหน้าที่ให้ค้าง เมื่อถึงเวลากลายเป็น "ดินพอกหางหมู" หน่วยงานนั้น ๆ ก็หาความเจริญไม่ได้


    ตรงนี้มีเรื่องขำที่หัวเราะไม่ออก ก็คือลูกอ้อย (ศัลยา จันทร์อุ่ย) เมื่อได้รับการบรรจุเป็นเจ้าพนักงานขององค์กรสวนยางแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำการวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับยาง เข้าไปถึงเมื่อเห็นงานที่กองอยู่บนโต๊ะของตน ก็กวาดวันเดียวเรียบวุธ..! เมื่อเอางานไปส่งก็ต้องยืนตาปริบ ๆ เพราะเจ้านายด่าเอาว่า "แกทำวันนี้จนหมด แล้วอีก ๘ เดือนข้างหน้า แกจะทำอะไร !?"

    ที่บอกว่าหัวเราะไม่ออก ก็เพราะว่าเขาคิดจะทำเฉพาะหน้าที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบเท่านั้น เวลาว่างที่เหลือจะทำการทำงานเชิงรุกอย่างไรก็ทำไป จะได้ไม่ต้องมีภาระงานมาเตะถ่วงอยู่ แต่ก็อย่างว่า...ทุกคนอยู่กับแบบ "เช้าชามเย็นชาม" เอางานกองไว้บนโต๊ะเพื่อให้คนอื่นเขารู้ว่ามีงาน ทั้ง ๆ ที่งานทั้งหลายเหล่านี้สามารถทำเสร็จภายในวันเดียว แต่เขาตีกรอบเอาไว้ว่า ต้องทำถึง ๘ เดือน..!

    ตรงจุดนี้กระผม/อาตมภาพสมัยรับราชการทหารอยู่ เคยโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาแล้ว เนื่องจากว่ามีทหารผลัด ๒ ปี ๒๕๒๑ ท่านหนึ่ง เมื่อปลดประจำการแล้ว ก็ต้องเดินเรื่องเพื่อย้ายชื่อกลับเข้าสู่ทะเบียนบ้านตามเดิม ปรากฏว่ามาจนถึงปี ๒๕๒๓ ที่กระผม/อาตมภาพไปทำหน้าที่เสมียนกองร้อยอยู่ เขายังเดินเรื่องไม่เสร็จ..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพเห็นว่าการที่เดินทางจากโคราชมากาญจนบุรี ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งสมัยนั้นรถราก็หายาก ถนนหนทางก็ไม่สะดวก จึงดำเนินการให้เขาเสร็จภายในครึ่งวัน ก็คือพอทำเอกสารต่าง ๆ เสร็จ ก็ไปเดินไล่ให้ผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบตามระดับชั้นเซ็นอนุมัติ ปรากฏว่าเสร็จงานนั้น กระผม/อาตมภาพโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวน..! เข้าใจว่าไปรับ "เงินใต้โต๊ะ" ถึงได้กระตือรือร้นที่ช่วยเขาขนาดนั้น

    นี่คือการทำงานของข้าราชการส่วนหนึ่ง ก็คือเตะถ่วงดึงเรื่องเอาไว้ เพื่อรอการ "หยอดน้ำมัน" หรือรอการยัด "เงินใต้โต๊ะ" เป็นการหากินได้ทุกรูปแบบ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นความเดือดร้อนของผู้อื่นหรือเปล่า
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    สมัยที่อยู่ชายแดน กระผม/อาตมภาพต้องทะเลาะกับทางองค์การทหารผ่านศึก ถึงขนาดไปลุยกับผู้บัญชาการองค์การทหารผ่านศึกซึ่งมียศพลตรี เนื่องเพราะว่ามีทหารตายในหน้าที่ ทันทีที่มีการตายจากการรบเกิดขึ้น ในอันดับแรกทหารทุกนายในกองพล จะโดนหักเบี้ยเลี้ยงคนละ ๒ บาทเพื่อช่วยงานศพ อย่าไปคิดว่าน้อย

    ทหารทั้งกองพล หนึ่งกองร้อย อัตราของกองพลที่ ๙ จังหวัดกาญจนบุรีตอนนั้นอยู่ที่ ๑๔๒ คน ห้ากองร้อยเป็นหนึ่งกองพัน สามกองพันเป็นหนึ่งกรม สองกรมทหารราบ หนึ่งกองพันทหารม้า หนึ่งกองพันเสนารักษ์ หนึ่งตอนยานยนต์ และหนึ่งกองร้อยบินเบา รวมเป็นหนึ่งกองพล ซึ่งเป็นอัตราบรรจุสมัยนั้น สมัยนี้น่าจะมากขึ้นอีก เพราะว่าสมัยนี้ได้ยินว่ามีกรมทหารม้า มีกรมทหารพรานรวมเข้าไปด้วย

    หลังจากที่รายงานขึ้นไปภายใน ๓ วัน จะมีเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทยของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งตรงมาถึงเลย เจ้าหน้าที่จะนำไปมอบให้กับญาติของผู้ตายเลย แต่องค์การทหารผ่านศึกซึ่งเป็นองค์กรที่รับหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตามเรื่องเป็นปีก็ยังไม่จ่าย..!

    กระผม/อาตมภาพเป็นคนที่กลัวใครไม่เป็น แค่เข้าไปเป็นนักเรียนนายสิบก็กล้างัดข้อกับผู้บัญชาการโรงเรียนที่มียศพลตรีแล้ว จนผู้บังคับบัญชาระดับล่างตกใจไปตาม ๆ กัน ถึงขนาดย่องมาถามว่า "มึงไม่กลัวเจ้านายเลยหรือ ?" ก็ตอบกลับไปว่า "ตัวเล็กกว่าผมตั้งเยอะ ต่อยหมัดเดียวก็ร่วง..! ทำไมกูต้องกลัวมันด้วย ?" ก็คือไม่ได้ดูว่าใครยศใหญ่กว่า แต่ดูแค่ว่าตัวใหญ่กว่าไหม ?
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,251
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,605
    ค่าพลัง:
    +26,456
    กระผม/อาตมภาพมาเข้าใจทีหลังว่า เหตุที่ทางด้านองค์การทหารผ่านศึกดึงเรื่องเอาไว้เป็นปี ๆ ก็เพราะว่านำเงินฝากธนาคารไว้ เป็นการฝากประจำ ๓ เดือน ซึ่งถ้าหากว่า ๓ เดือนเบิกทีหนึ่ง ก็จะได้ดอกเบี้ยจำนวนมาก เพราะว่าเงินงบประมาณสำหรับทหารผ่านศึกทั้งประเทศฝากอยู่ตรงนั้น ยิ่งดึงเอาไว้ได้นานเท่าไรก็ได้ดอกเบี้ยมาเท่านั้น แล้วแบ่งสรรปันส่วนกันไป ส่วนครอบครัวของผู้ตายจะมีกินหรือไม่มีกิน จะเดือดร้อนหรือไม่เดือนร้อน กูไม่สนใจ ตรงนี้เป็นรายได้ที่กูต้องได้รับ..! เพียงแต่ว่าตรงส่วนนี้เป็นการกินกันในเกมของหน่วยทหาร ชาวบ้านข้างนอกไม่รู้ ดังนั้น..ทหารจึงยังสามารถรักษาภาพพจน์ของตนเองเอาไว้ได้

    แต่ที่มากล่าวตรงนี้ ก็เพราะว่าในเรื่องของงาน อาตมภาพไม่สามารถที่จะหน้าด้านใจดำ ดึงงานให้ค้างอยู่เป็นเดือนเป็นปีได้ มักจะทำให้เสร็จแล้วส่งตามหน้าที่ทุกครั้ง แต่ว่าบางทีบางคนก็ไม่ชอบใจ เพราะว่าเท่ากับไปเร่งเขาให้วิ่งตาม ซึ่งเหมือนกับสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับผู้อื่น

    ตรงจุดนี้ที่นำมาบอกกล่าว เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนักเอาไว้ว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีให้เราใช้งาน ทุกวัน ทุกเวลา ทุกหน้าที่ เพียงแต่เราเองจะเข้าถึงสักเท่าไร และใช้งานจริงได้สักเท่าไรเท่านั้นเอง

    จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...