อานิสงส์ของบุญกฐินไม่มีประมาณ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 กันยายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,687
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,554
    ค่าพลัง:
    +26,395
    118121232_3632460906804564_4745768394203371287_o.jpg

    ช่วงนี้เป็นช่วงของกาลกฐิน คำว่ากาลนั้น กาละ แปลว่า เวลา เวลาของกฐิน กฐินจริง ๆ ความหมายก็คือ ผ้าสะดึง ผ้าที่ขึง เครื่องขึงที่ยึดผ้าให้ตึง จะได้ประกอบให้เป็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเย็บปักถักร้อยอะไรก็ทำได้ง่าย

    กาลกฐินเป็นเรื่องกำหนดตามระเบียบพิธีของสงฆ์ โดยเฉพาะพระภิกษุที่จำพรรษาแล้วเป็นเวลาครบถ้วน ๓ เดือน สมัยก่อนนั้นพระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้เปลี่ยนจีวรได้ คราวนี้ว่าการเปลี่ยนจีวรนี้ต้องสมเหตุสมผล คือว่าเป็นผู้ที่จีวรเก่าจริง ๆ ชนิดที่เรียกว่าหมดสภาพแล้ว ก็อนุญาตให้เปลี่ยนได้ ท่านให้เสาะหาผ้าที่จะมาทำจีวร

    ภายหลังการเสาะหาผ้าเต็มไปด้วยความยากลำบาก นางวิสาขาก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี จึงทูลขอให้รับคหปติจีวร คือจีวรที่มีผู้น้อมมาถวายได้ คราวนี้พอจำพรรษาแล้วครบสามเดือนแล้วมีสิทธิรับกฐินได้ กาลกฐิน คือ เวลาของการรับกฐิน เริ่มตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปสิ้นสุดเอากลางเดือนสิบสอง เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม

    ช่วงระยะนี้วัดไหนก็ตามที่มีเจ้าภาพ ตั้งใจว่าจะถวายกฐิน ก็จะจัดให้ถวายกฐินขึ้นมา คราวนี้กฐินเป็นงานบุญพิเศษ ความจริงกฐินเป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่ว่าจำกัดด้วยเวลา คือ ทำได้แค่เดือนเดียวเท่านั้นในหนึ่งปี ก็เลยจะมีอานิสงส์พิเศษ

    หลวงพ่อวัดท่าซุงเคยบอกเอาไว้ว่า ถ้าเรารู้จักสังเกตตัวเอง ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพทำบุญกฐิน คำว่าเจ้าภาพไม่ได้หมายความว่า จะต้องเจาะจงว่าตัวเองเป็นประธาน หรือว่าหาสิ่งของทั้งหมดมา เราร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย จะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเจ้าภาพเหมือนกัน ท่านบอกว่า บุคคลที่ตั้งใจเป็นเจ้าภาพกฐิน ติดต่อกันได้ถึงสามปี ให้สังเกตความเป็นอยู่ของตัวเอง ความเป็นอยู่จะคล่องตัวกว่าคนอื่นเขา จะมีความสะดวกกว่า เพราะฉะนั้น..ขอให้พวกเราตั้งใจลักษณะนี้

    ตัวอาตมาเองตั้งใจตั้งแต่ก่อนบวช จนกระทั่งถึงบวชแล้ว แต่ละปีจะทำบุญกฐินปีละมาก ๆ หลาย ๆ วัด สมัยที่ก่อนบวช ถึงเวลาหน้ากฐินก็เตรียมซองไว้เลย ซองละพัน ๆ เจอเขาทำที่ไหนก็ถวายร่วมกับเขาที่นั่น พอเป็นพระมาก็ใช้วิธีจัดแบบนี้ คือว่านิมนต์พระที่ท่านไม่มีกฐิน หรือว่าพระที่เป็นมิตรสหายคุ้นเคยกันมา มารับกฐินที่วัดของอาตมา หรือว่าอย่างระยะหลัง ๆ ไปเป็นประธานทอดให้เขาด้วย หรือว่าทางวัดอื่นเขาเรียกร้องมา เห็นว่าสมควรก็ต้องไปให้เขา

    อานิสงส์ที่ชัดที่สุด ก็คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา สมัยที่ท่านเกิดเป็นมหาทุคตะ คือ คนที่จนมาก ท่านเป็นคนรับใช้คนอื่นเขา ในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเป็นคนใช้เขา เจ้านายจะทอดกฐิน ก็สั่งให้มหาทุคตะจัดการให้ทุกอย่าง มหาทุคตะก็บอกว่า "ข้าแต่นาย..ข้าพเจ้าขอร่วมมีส่วนในกฐินนี้ได้หรือไม่ ?" นายก็บอกว่าได้ แล้วท่านมีอะไรจะมาร่วมกองกฐินบ้าง ? มหาทุคตะบอกว่า ขอไปเสาะหาก่อน

    คราวนี้เขามีแต่ผ้านุ่งอยู่ผืนเดียว แขกเขาจะมีผ้านุ่งอยู่ผืนหนึ่ง แล้วก็ผ้าห่มผืนหนึ่ง แต่มหาทุคตะจนมาก มีผ้านุ่งผืนเดียว ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี ก็เลยเข้าไปในป่า เอาใบไม้มาเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่มแทน แล้วเอาผ้าผืนนั้นไปที่ตลาด ไปถามกับพ่อค้าว่า ผ้าผืนนี้สามารถแลกของอะไรได้บ้าง เขาถามว่า "เธอจะเอาไปทำอะไร ผ้าก็เก่าเต็มที จะแลกของอะไรได้นักหนาเชียว ?" เขาก็บอกว่า นายของเราจัดกฐินขึ้นมา เพื่อทอดถวายพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เราก็อยากทำบุญด้วย พ่อค้าบอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะให้เข็มไปเล่มหนึ่ง แล้วก็ด้ายอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะว่าผ้าเนื้อหยาบ เก่ามากและมีค่าน้อยมาก ท่านก็เอาเข็มกับด้ายนั้น เข้าไปร่วมในกองกฐิน แล้วตั้งใจอธิษฐานว่า ผลบุญที่ได้ทำบุญกฐินครั้งนี้ ขอให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาลดังที่ปรารถนาด้วยเถิด เมื่อมาถึงชาติปัจจุบันนี้ พระองค์ท่านก็บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณจริง ๆ
    หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเคยเทศน์ถึงอานิสงส์กฐิน ท่านบอกว่า บุคคลที่ตั้งใจทำบุญกฐิน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แม้แต่ทิพจักษุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเลิศที่สุดแล้ว ยังมองไม่เห็นเลยว่า อานิสงส์นั้นจะไปสิ้นสุดตรงไหน

    ส่วนใหญ่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เกิดแล้วเกิดอีกอยู่ในระดับของความดีนี้ตลอด ยังไม่ทันสิ้นสุดของอานิสงส์กฐินก็จะเข้าพระนิพพานเสียก่อน ฟังดูแล้วน่าทำไหม ? ร่วมทำกับเขาบ่อย ๆ ก็ดีนะ
    ..................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...